วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เวลาความสุข ไม่ย้อนกลับ


จะตั้งชื่อเรื่องว่า “ชีวิตเศร้าๆ ของคนเหงา 2 คน” ก็ดูจะหน่อมแน้มไป และอาจจะกลายเป็นแนวผิดเพศเกินสักหน่อย สำหรับภาพยนตร์ที่เล่าภาพชีวิตของคนจริงๆ ที่อยู่ในสังคมเรื่องนี้
เคลลี ริชาร์ดต์ บริหารเงินทุนของเธอได้ดี โดยสร้างภาพยนตร์ Old Joy จากนิยายของจอห์น เรย์มอนด์ ชื่อเดียวกัน ให้มีนักแสดงหลักตลอดเรื่องเพียง 2 คน -- เคิร์ต (วิล โอลด์แฮม) และ มาร์ก (แดเนียล ลอนดอน) เพื่อนเก่าที่ไม่ได้ติดต่อกันมานาน อยู่ดีๆ เคิร์ตก็โทร.มาหามาร์ก และชวนไปเที่ยวแคมปิงในป่าใกล้ๆ กับพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน
สำหรับมาร์ก นี่จะเป็นทริปสุดท้ายก่อนที่เขาจะต้องทุ่มเทความรับผิดชอบในฐานะคุณพ่อคนใหม่ ขณะที่เคิร์ตต้องการไปเที่ยวครั้งนี้เพื่อตัวของเขาเอง ที่อยากหวนรำลึกถึงความสุขความทรงจำในอดีตเมื่อครั้งเยาว์วัย รวมทั้ง ปรับอารมณ์ใหม่ให้หายหดหู่
ท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงามของป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งคู่พยายามพูดคุยกันเหมือนวัยเด็ก โดยที่ต่างมีความคับข้องใจไปคนละอย่าง มาร์กรู้สึกผิดกับการหนีภรรยาท้องแก่มาเที่ยว ส่วนเคิร์ตก็โดนชีวิตเคี่ยวกรำจนแทบทำให้เดินต่อไปข้างหน้าไม่ไหว
ภาพยนตร์แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของเพื่อน 2 คนที่ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป การปรับตัวเข้าหากันกลายเป็นเรื่องยาก พวกเขาหลงทางภายใต้การนำของเคิร์ต จึง มิอาจไปถึงน้ำพุร้อนอันเป็นจุดหมายภายในวันเดียวอย่างที่ตั้งใจ มาร์กนั้นแทบอดรนทนไม่ไหว เกือบเดินกลับบ้านไปทันที ในใจเขาคงพร่ำแต่คิดว่า ไม่ควรทิ้งบ้านมา...
มืดค่ำ พอสิ้นหนทางไป พวกเขาขับรถไปเจอสถานที่ตั้งแคมป์

ถึงตอนนี้ ความในใจของเคิร์ตก็เริ่มพรั่งพรูออกมาทีละน้อย ความทรงจำเก่า-ใหม่ เรื่องราวขัดแย้งวัยเยาว์ ฯลฯ มาร์กตกลงไปในบ่อแห่งเรื่องราวความคิดของเคิร์ตอย่างช่วยไม่ได้
มาร์กยืนยันให้สุนัขของเขาเข้านอนในเต็นท์เดียวกันด้วย “เพราะมันจะช่วยให้อุ่นดี” แสดงถึงความเย็นชาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน...

จริงๆ แล้ว บทสนทนาระหว่างคน 2 คนในเรื่องคือหนึ่งในเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ว่า ในความเป็นจริงแล้วเป็นเคิร์ตพูดอยู่แทบจะฝ่ายเดียว แต่ละบทแต่ละตอนดูไร้ที่มาให้สืบสาวราวเรื่อง เหมือนกับจะรู้กันเพียง 2 คน โดยเฉพาะถ้าเผลอหลับหรือลุกไปเข้าห้องน้ำ ก็อาจจะต้องย้อนกลับไปชมกันใหม่
บทพูดเป็นกระจกสะท้อนความเป็นไปในสังคมอเมริกัน ให้อารมณ์รำลึกถึงความหลังอันงดงามและไม่อาจหวนคืนมา ในภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมและส่วนตัวที่ยากจะหาหนทางไป เคิร์ตคือตัวแทนของคนที่ตกเป็นเหยื่อ ทั้งเขายังไม่อาจปรับตัวสอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนไป
คาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันสุดขั้วของเพื่อน 2 คน ก็เป็นภาพขัดแย้งอันเป็นที่นิยมในหมู่นักทำภาพยนตร์อินดีอเมริกันยุคนี้ นับ ตั้งแต่ความสำเร็จของ Sideways เป็นต้นมา ขณะที่มาร์กเป็นหนุ่มที่ดูเนี้ยบๆ เรียบร้อย หน้าตาสะอาดสะอ้านเกลี้ยงเกลา มีชีวิตที่เป็นระเบียบแบบแผน แต่เคิร์ตกลับแต่งกาย ไว้เครา ดูเป็นฮิปปี้ และใช้ชีวิตแบบอิสรเสรี ทั้งคู่ยังเป็นตัวแทนความขัดแย้งทางความคิด ของคนที่นิยมชีวิตโสดกับคนมีครอบครัว
นอกจากความขัดแย้งของ 2 คาแรกเตอร์แล้ว ทั้งคู่ยังมีความขัดแย้งในตัวเอง มาร์กดูเหมือนจะใช้ชีวิตหมุนไปตามกฎเกณฑ์แห่งสังคม ทว่าเขากลับเซตช่องวิทยุแอร์อเมริกา ที่มีแต่พวกแอ็กทิวิสต์หรือพวกหัวรุนแรง เท่านั้นที่ชอบฟัง (ในเรื่องยังเน้นให้เป็นช่วงตอนที่คนโทร.เข้ามาถกเถียงแสดงความคิดเห็นเสียงดังลั่น) ส่วนเคิร์ตนั้นเล่า ดูภายนอกเหมือนเขาจะขบถต่อสังคม ทว่าในใจลึกๆ กลับเต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว
เทคนิคการถ่ายภาพแบบรีเวิร์สช็อต หรืออาศัยกล้องแทนตัวละครการถ่ายแบบ 180 องศา โดดเด่นมากสำหรับภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องราวแบบคนคู่ โดยเฉพาะเรื่องที่พูดจาสนทนากันอยู่เพียง 2 คนตลอดทั้งเรื่องอย่างนี้
ในความขมึงตึงเครียด เคลลีอาศัยทัศนียภาพงดงามของธรรมชาติรายทาง ความเงียบที่เวิ้งว้าง ทำให้ธรรมชาติสวยงามนั้นดูยิ่งเหงา...ยิ่งหลอน เหมือนกับที่เคยเห็นกันในเรื่อง Gerry ของกัส แวน แซนต์ และที่ใกล้ๆ หน่อยก็ Brokeback Mountain ของอั้ง ลี่
ภาพยนตร์เล็กๆ เรื่องราวของคนเล็กๆ แต่กลับสะท้อนให้เห็นถึงสังคมอเมริกันในภาพรวม เผลอๆ จะสะท้อนถึงสังคมเหมือนๆ กันเกือบทั้งโลก จุดเปลี่ยนของยุคสมัยส่ง ผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนที่ยังยึดติดระบบ/ความคิดเก่าๆ ความเชื่อเดิมๆ
การเดินทางท่องเที่ยวแช่น้ำแร่ผ่อนคลายของเคิร์ตและมาร์กครั้งนี้ไม่ได้ผล แถมรัง แต่จะพกพาความอึดอัดกลับไปอีกอักโข
เวลาแห่งความสุขวัยเด็กไม่มีวันหวน คืนจริงๆ ...

ไม่มีความคิดเห็น: