วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ย้อนรำลึกภาพฝันวันวาน


ถ้าคำว่า "รักแรกพบ" มีจริง ก็คงเหมือนกับแรกที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แค่เปิดฉากมาปุ๊บก็หลงรักปั๊บ ใจเต้นตึ๊กตั๊ก ขนาดนั้นเลย ไม่ได้โม้
นอกจากนี้ Les Amants Reguliers ยังเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่คนศึกษาทางด้านเทคนิคภาพยนตร์ รวมทั้งคนที่ชอบดูภาพยนตร์แนว “ศิลป์” จะต้องชื่นชอบ อย่างน้อยก็ในแง่การถ่ายทำที่ฟิลลิป การ์เรล เลือกฟิล์มขาว-ดำ สำหรับภาพยนตร์ ที่เล่าเรื่องย้อนยุคไปในทศวรรษที่ 1970 ของเขาเรื่องนี้ ด้วยเทคนิคการถ่ายทำแบบเก่าๆ ทั้งเรื่องการตัดภาพ การใช้เสียง ก็ยิ่งเป็นเสน่ห์ส่งเสริมภาพยนตร์แนว “หวนรำลึก” หรือ nostagia ให้ได้อารมณ์ยิ่งขึ้นอีก
ใน Les Amants Reguliers ฟิลลิป เลือกลูกชายสุดหล่อของเขาเอง (นี่คืออีกหนึ่งรักแรกพบของผู้เขียน อิอิ) ที่เคยฝากผลงานในภาพยนตร์ฝรั่งเศสมาแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่อง The Dreamers ของ แบร์นาร์โด แบร์โตลุคชี ซึ่งเป็นการย้อนไปในยุคเดียวกัน นั่นคือ ราวๆ ทศวรรษที่ 1970 ที่บรรดานักศึกษาหัวเอียงซ้าย พยายามจะออกมาปฏิวัติระบอบทุนนิยมในฝรั่งเศส
เรื่องราวเกี่ยวกับ “การปฏิวัติ” เป็นประเด็นฮอตที่พูดถึงกันในกลุ่มนักศึกษา พร้อมกันนั้น พวกเขาก็ชักชวนกันก่อการ
ภาพยนตร์แบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกเล่าความมีส่วนร่วมในเหตุรุนแรง ที่นักศึกษาลุกขึ้นมาก่อความ ไม่สงบครั้งใหญ่ ย้อนไปในเดือนพฤษภาคม ปี 1968 กลางกรุงปารีส ที่เรียกว่า ราตรีแห่งเครื่องกีดขวาง (Night of the Barricades) โดยให้ ฟร็องซัวส์ (หลุยส์ การ์เรล) เป็นผู้เล่าเรื่อง นอกจากเขาจะเป็นกวี เป็นชายหนุ่มรักสันติผู้ต่อต้านการเกณฑ์ทหารแล้ว เขาก็ยังเป็นหนึ่งในนักศึกษาผู้เรียกตัวเองว่าเป็น นักปฏิวัติ เข้าร่วมการวางเพลิง เผารถ ปาระเบิดก่อความวุ่นวาย ... ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว เขาไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจาก เฮไปตามเพื่อน และวิ่งหนีตำรวจ
ฟร็องซัวส์ ยังเป็นตัวเล่าเรื่องในช่วงหลัง ที่ว่าถึงการรวมกลุ่มกันพี้ยาของบรรดาศิลปินทั้งหลาย หลังสงครามระหว่างนักศึกษาและตำรวจปราบจลาจล รวมทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างฟร็องซัวส์ กับ ประติมากรสาว ลิลี (โคลทิลด์ เอสม์)
ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมงของ Les Amants Reguliers ไม่มีพล็อตเรื่องเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นช่วงแรกหรือช่วงหลัง ที่มักจะปล่อยภาพและเหตุการณ์ให้ดำเนินไปเรื่อยๆ ให้เรารู้สึกเหมือนกับว่ากำลังนั่งดูข่าวหรือสารคดีรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง น่าจะเป็นความตั้งใจของฟิลลิป ในฐานะผู้เขียนบทและผู้กำกับที่ต้องการแค่อารมณ์หวนรำลึกถึงคืนวันเก่าๆ (อาจจะเป็นเรื่องราวของเขาเองก็ได้)
ฟิลลิปยังนำกลิ่นอายของภาพยนตร์ยุคนิวเวฟมาใช้ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฉากโทนที่เน้นความหม่นมัวแนวฟิล์มนัวร์ รวมทั้ง บรรยากาศยามค่ำคืนที่มีแสงสลัวๆ ประกอบกับเหตุการณ์วางระเบิด กับภาพ หมอกควันจากการปล่อยแก๊สน้ำตาของตำรวจในช่วงเรก สร้างบรรยากาศคล้ายกับฉากตอนในความฝัน...
กับคนที่ร่วมสมัยนั้นคงจะ “อิน” และหวนนึกถึงวันคืนเก่าๆ ขณะที่คนร่วมยุคสมัยนี้ ก็ไม่ยากจะจินตนาการถึงเสน่ห์แห่งวันเวลาดังกล่าว เพราะจะว่า ไปแล้ว ปารีส ก็ยังคงมีเสน่ห์ยามค่ำคืนที่แทบไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็น ฉากริมแม่น้ำแซน ถนนตรอกซอกซอยต่างๆ รวมถึงตึกรามบ้านเรือนเก่าๆ ที่ยังมีให้ต่อเติมจินตนาการถึงคราครั้งนั้นได้ไม่ยาก
ฉากตอนที่เรื่อยเปื่อยยังคงรักษาเอกลักษณ์ต่อไป ในช่วงที่ 2 ที่ฟร็องซัวส์มาขลุกอยู่ที่บ้านของ อองตวน (ชูเลียง ลูกาส์) ลูกชายเศรษฐีที่เอาแต่สูบฝิ่น บ้านของเขาเป็นแหล่งรวมศิลปิน และฟร็องซัวส์ก็พบรักกับลิลีที่นี่เอง
นอกจากความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปก่อนจะถึงจุดจบของ “คู่รัก” ฟร็องซัวส์-ลิลีแล้ว ภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นถึงแง่มุมชีวิตแบบเหลวไหลไร้สาระ ซึ่งน่าจะเป็นการเล่าภาพที่เคยเกิดขึ้นจริงในกลุ่มศิลปิน/นักศึกษายุคก่อน และที่เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาพยนตร์เล่าเรื่องย่อยๆ ของคาแรกเตอร์ศิลปินที่แต่ละคนก็มีบุคลิกของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นญาติของอองตวนที่เป็นจิตรกร ผู้ทำงานวาดรูปโดยไม่เคยแน่ใจในผลงานของตัว เพราะจะอย่างไร อองตวนก็จะซื้อผลงานของเขาแม้ว่าจะดีหรือเลว หรือตัวลิลีเองที่เป็นประติมากร เธอแม้มีบิดาเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน แต่ความฝันอันสูงสุด ก็คือ ต้องการสร้างชื่อในฐานะประติมากร จึงไม่ลังเล ที่จะทิ้งอดีตที่เอียงซ้ายไว้ข้างหลัง
ยังมีคาแรกเตอร์ โกล์ติเยร์ เกย์หนุ่มดีไซเนอร์ ผู้หลงรักอองตวน ที่มาเป็นสีสันของภาพยนตร์ช่วงหลัง ทำให้เรานึกถึงดีไซเนอร์คนดัง อย่าง ฌอง-ปอล โกล์ติเยร์ ที่อาจจะเป็นตัวตนจริงๆ ของเขา (ภาพยนตร์สร้างให้เชื่ออย่างนั้น)
ภาพยนตร์ตัดฉากตอนบนเตียงไป แม้ตามเรื่องราวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องเพราะไม่เน้นอารมณ์ใคร่ แต่ให้ความสำคัญกับอารมณ์เหงาๆ และหัวใจที่เปราะบาง ที่เป็นภาพรวมบรรยายถึงกลุ่มศิลปินวัยรุ่นกลุ่มนี้ ที่ต่างกำลังไขว่คว้า ค้นหาตัวเอง ค้นหาความหมายแห่งชีวิต ไปพร้อมๆ กับค้นหาคนที่รักและเข้าใจ รวมถึงมิตรสหายผู้ร่วมอุดมการณ์
เช่นเดียวกัน เนื้อหาสาระไม่ใช่จุดขายที่โดดเด่นเท่ากับอารมณ์ของภาพที่ถ่ายทอดผ่านท่วงทำนองที่ค่อยๆ ดำเนินไป การถ่ายภาพยอดเยี่ยมถึงขนาดกวาดรางวัลจากหลายสถาบัน น่าแปลกที่เรื่องราวซึ่งปราศจากสาระ ไร้ปมประเด็นที่แหลมคม แถมยังพูดภาษาที่ไม่คุ้นเคยกันรัวเป็นไฟเรื่องนี้ กลับสามารถตรึงสายตาคนดูเอาไว้ได้ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมง...
แค่ฉากแรกที่ฉายให้เห็นแม่น้ำแซนยามค่ำคืนประกอบเสียงเพลงจากแอคคอร์เดียนก็น่าหลงรัก ตามมาด้วยแสงเงาของฉากต่อมาเป็นภาพบันไดวนในตึกสมัยเก่า เปิดมาคล้ายภาพนิ่งได้ยินเสียงฝีเท้าเดินขึ้นบันได ยังมีเพลงประกอบเป็นเสียงเปียโน ซึ่งจะเปิดเฉพาะฉากโรแมนติกระหว่างฟร็องซัวส์กับลิลีเท่านั้น (ฉากอื่นนอกจากเสียงธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้ว แทบเหมือนหนังเงียบ)
เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์จากเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ สมัยเก่า ที่รวมกันทำให้ Les Amants Reguliers เหมือนกับหนังสือที่อ่านแล้ววางไม่ลง
นี่ยังยังไม่ได้พร่ำเพ้อถึง ฟร็องซัวส์ (หลุยส์ การ์เรล) พระเอกสุดหล่อของเรื่องเลยนะเนี่ย...

ไม่มีความคิดเห็น: