วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551

มุมมืดใน (ใจ) กลางกรุงปารีส


นี่คือคำตอบของการผสมผสานการ์ตูนและนิยายราคาถูก (แบบเล่มละ 5 บาท) กับหนังแนว "ฟิล์มนัวร์" เข้าไว้ด้วยกัน Renaissance จึงออกมาเป็นรูปแบบของแอนิเมชันสีขาว/ดำ ที่เล่นเทคนิคไฮ-เดฟินิชันแบบสุดโต่ง ขาวเป็นขาว ดำเป็นดำ แทบไม่มีกึ่งกลางอย่างสีเทา ทำให้หลายๆ คนชมแล้วอาจจะบ่นอุบว่า เป็นแอนิเมชันที่ทำร้ายสายตาจริงๆ (ไม่แน่อาจทำร้ายจิตใจให้ขุ่นมัวยิ่งขึ้นด้วยสิ)
หากยูโทเปียคือโลกในความฝันอันสวยงามและจินตนาการแสนบรรเจิด ที่ใครๆ ก็ต้องการไปใช้ชีวิต ใน Renaissance ก็จะเป็นความสุดโต่งที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว เป็นฝันร้ายที่ใครๆ ก็ไม่อยากเจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของขบวนการใต้ดิน อาชญากรรม ความยากจน ความรุนแรง ทุกๆ ความไม่ดีงามล้วนรวมกันอยู่ที่นี่
กรุงปารีส ปี 2054 ที่ยังมีหอไอเฟลและแม่น้ำแซนอยู่คงเดิม ทว่าเมืองในฝันมากสีสันของใครๆ หลายคน พลิกกลับไปเป็นความหม่นหมอง ถนนเลียบแม่น้ำแซนที่เคยเต็มไปด้วยธรรมชาติแสนร่มรื่นน่าเดินเล่น กลับกลายเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยท่อเหล็ก ทางเดินกรุกระจกเพื่อป้องกันมลพิษ เมืองในฝันอยู่ห่างไกลจากความงดงาม ณ สุดขอบ
ตำรวจตัวกลั่น การาส (เสียงโดย ดาเนียล เคร็ก) เข้ามาสืบคดี อิโลนา (โรโมลา กาไร) พนักงานสาวของบริษัทยักษ์ใหญ่ อวาลง ที่ควบคุมทั้งกิจการอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจด้านสุขภาพ และสื่อต่างๆ ของกรุงปารีสเอาไว้หมด เธอหายตัวไปอย่างปริศนา หลังจากที่สืบสาวราวเรื่องไปกลับพบว่า อิโลนา ไปขุดคุ้ยความลับที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการวิจัยด้านยีนมนุษย์ของบริษัท อวาลง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้เธอหายตัวไปนั่นเอง
ระหว่างสืบคดี การาสมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ บิสลาเน (แคเทอรีน แม็คคอร์แม็ค) พี่สาวของอิโลนา สิ่งที่ทั้งคู่ได้รับรู้ก็คือ อิโลนาได้ไปรู้ความลับซึ่งเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการเป็นอมตะของมนุษย์ การาสรับปากจะช่วยชีวิตของน้องสาวบิสลาเน แต่เขาจะทำได้อย่างที่เธอขอร้องหรือไม่...
"สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น" คือวลีเด็ดของใครสักคนที่คริสติยองนำมาเป็นวิธีคิดในแอนิเมนัวร์ของเขา นอกจากบุคลิกภาพของตัวเอกอย่าง การาส ที่เป็นแบบ "บี-มูวีส์" หรือ พระเอกหนังทุนต่ำในยุคทศวรรษ 1950 แล้ว แอนิเมชันเรื่องนี้ยังเห็นอิทธิพลของหนังยุคอาวองต์-การด์ฝรั่งเศสแบบเต็มๆ
นอกจากนี้ก็ยังไม่ทิ้งกลิ่นอายแบบหนังฟิล์มนัวร์รุ่นใหม่ๆ อารมณ์คล้ายๆ Sin City ของ โรเบิร์ต รอดดริเกซ หรือ Waking Life ของ ริชาร์ด ลิงก์เลเทอร์ อยู่เยอะพอสมควร
อารมณ์ของตัวเอกแบบศิลปิน มุทะลุ บู๊แต่ไม่ถึงขนาดเป็นฮีโร่ที่ชนะเสมอ การาสเป็นตัวละครที่มากด้วยอารมณ์แห่งความหลังอันรวดร้าว ซุกซ่อนอยู่ในจิตใจของเขา และส่งผลกระทบถึงชีวิตในปัจจุบัน ฝันร้ายในอดีตยังตามหลอกหลอนเขาไม่เลิกลา และยากที่จะลบเลือนไป แน่นอนว่านั่นคือเสน่ห์ของฟิล์มนัวร์ ซึ่งเด่นพอๆ กับเทคนิคไฮ-เดฟินิชันที่คริสติยองเลือกใช้ ทั้งเขายังฉลาดพอที่จะอาศัยภาพสะท้อนจากกระจกในหลายๆ ตอน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้ดูเบาลงกว่าภาพสีขาวสีดำล้วนๆ ที่ตัดกันอย่างรุนแรง (กระนั้นก็ช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่นักหรอก)
นอกเหนือจากการตัดกันหนักๆ ของสีขาว/ดำ ที่สร้างความเคร่งเครียดให้กับแอนิเมชันเรื่องนี้แล้ว บทของหนังก็ยัง ไร้อารมณ์ขันอีกต่างหาก เป็นเรื่องราวต่อสู้ แนวสืบสวนสอบสวนที่ซุกซ่อนเงื่อนงำให้ต้องขบคิดติดตามอยู่ตลอดเวลา หนังแสดงให้เห็นแต่ด้านมืด ขณะที่สีขาวในเรื่องก็ไม่ได้หมายถึงด้านสว่าง หากเป็นเพียงความจ้าที่แสบตา ทั้งเน้นให้ความดำ (มืด) ยิ่งดำขึ้นกว่าเดิม
จึงเตือนไว้สำหรับใครที่อยากจะหยิบแอนิเมชันเรื่องนี้ขึ้นมาชมเพื่อคลายเครียด เพราะผลที่จะได้คือสิ่งตรงกันข้าม เช่นเดียวกับเนื้อหา "ความลับดำมืดของชีวิต" ที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องนี้ กลับไม่ได้คมคายเท่ากับสไตล์ในการสร้างสรรค์ด้านกราฟฟิกสักนิดเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: