วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สายลมที่เปลี่ยนทิศ


ขณะที่เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการเล่าขานครั้งแล้วครั้งเล่าบนแผ่นฟิล์ม ผู้กำกับ เคน โลช กลับยืมชื่อเพลง The Wind That Shakes the Barley มาสร้างเป็นภาพยนตร์เล็กๆ ที่เอ่ยถึงสงครามกลางเมืองในไอร์แลนด์
เพลงบัลลาดไอริชที่โรเบิร์ต ดอว์เยอร์ จอยซ์ นักเขียน/กวีชาวไอริชแต่งเนื้อร้องเอาไว้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักปฏิวัติหนุ่มกับสาวคนรัก ก่อนที่เขาจะเข้าสู่วังวนเห่งความรุนแรงในสงครามกลางเมือง ปี 1798
บทเพลงมีความเกี่ยวโยงกับเมล็ดข้าวบาร์เลย์ โดยนอกจากจะแสดงให้เห็นบรรยากาศสถานที่ในไอร์แลนด์ซึ่งเต็มไปด้วยธรรมชาติและท้องทุ่งข้าวบาร์เลย์แล้ว นักสู้สมัยนั้นยังมักจะพกเมล็ดข้าวเอาไว้ในกระเป๋ากางเกง เพื่อเอาเคล็ด
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเพณีการขุดหลุมหยอดเมล็ดข้าว ณ บริเวณท้องทุ่งอันเป็นที่ขุดหลุม ฝังศพนักสู้ผู้กล้า 1 ศพต่อ 1 ต้น ให้เจริญงอกงามอร่ามทุ่ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ระหว่างชาวไอริชและผู้รุกรานชาวอังกฤษ

I sat within the valley green, I sat me with my true love
My sad heart strove the two between, the old love and the new love
The old for her, the new that made me think on Ireland dearly
While soft the wind blew down the glen and shook the golden barley

ภาพยนตร์ของเคน โลช เล่าเรื่องราวไม่ต่างจากในบทเพลง... การต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษในทศวรรษ ที่ 1920 กลุ่มคนหนุ่มมากมาย โดยเฉพาะปัญญาชนจากหลายหลากอุดมการณ์ รวมตัวกันต่อสู้เพื่อหนึ่งเดียว คือ ประเทศแม่... ไอร์แลนด์
เรื่องราวเน้นให้เห็นความสัมพันธ์ของ 2 พี่น้องแท้ๆ ดาเมียน (คิลเลียน เมอร์ฟี) และเทดดี (แพดดริก เดลานีย์) เข้าร่วมขบวนการใต้ดินในการต่อสู้กับอังกฤษ
ในเบื้องแรก ดาเมียน นักศึกษาแพทย์ผู้ต่อต้านความรุนแรง ปฏิเสธที่จะจับอาวุธขึ้นต่อต้านผู้รุกราน ต่อเมื่อความรุนแรงรุกล้ำเข้ามาในชีวิตประจำวันมากเข้าเรื่อยๆ เขาตัดสินใจเลิกล้มการเดินทางไปเรียนหมอในกรุงลอนดอน หันมาร่วมกับพี่ชายนายทหารแอคติวิสต์เข้าเป็นหนึ่งในขบวนการใต้ดิน และแล้วเหตุการณ์อันนองเลือดก็เริ่มต้นขึ้น
ฉากสำคัญ เห็นจะเป็นฉากบรรยากาศยามเช้า กลุ่มนักสู้ผู้กล้าเดินทางไป "จัดการ" อังกฤษตามแผน ด้วยการซุกซ่อนตัวตามทุ่งข้าวบาร์เลย์ ก่อนจะเปิดฉากยิงกระหน่ำ ทำการปล้นปืนของอังกฤษ
เรื่องราวจบลงด้วยความเศร้า แม้ว่า ฝ่ายไอร์แลนด์กับอังกฤษจะปิดฉากการสู้รบอย่างเป็นทางการด้วยสัญญาสันติภาพ ทั้งดินแดนไอร์แลนด์ที่เป็นอิสระก็ได้รับการก่อตั้งขึ้น ทว่า ฝ่ายผู้ถืออุดมการณ์เสรีสุดโต่ง ยังคงกังขากับอิสระเสรีที่พวกเขาได้รับว่า อาจจะเป็น เสรีภาพจอมปลอม และพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของไอร์แลนด์อิสระ ก็ทำให้พี่กับน้องต้องแตกคอ และหันปลายกระบอกปืนเข้าหากันเอง

'Twas hard the woeful words to frame to break the ties that bound us
But harder still to bear the shame of foreign chains around us
And so I said, "The mountain glen I'll seek at morning early
And join the bold united men," while soft winds shake the barley

ภาพซ้ำซากของการต่อสู้ที่ไม่รู้จบ ร่างไร้วิญญาณ รายแล้วรายเล่าต้องฝังสังขารอยู่ใต้ทุ่งข้าวบาร์เลย์ ไม่ต่างจากการต่อสู้อันยาวนานของชนชาวไอริชมาตลอดระยะเวลา สัญญาแองโกล-ไอริชเป็นเพียงชัยชนะนัดแรกของขบวนการปลดปล่อยชาวไอริช (ไออาร์เอ) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งอย่างน้อยก็ทำให้ทางตอนใต้ของไอร์แลนด์ได้รับอิสรภาพโดยสมบูรณ์ มีเพียงไอร์แลนด์เหนือที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร (แต่ก็ ไม่แน่ว่า ภาพยนตร์ของเคน โลชเรื่องนี้ จะปลุกวิญญาณแห่งความรักชาติของชาวไอร์แลนด์เหนือขึ้นมาอีกหรือไม่)
เหตุที่ The Wind That Shakes the Barley ได้รับปาล์มทองคำ อาจจะเป็นเพราะเรื่องราวการต่อสู้ของชาวไอริชเป็นสิ่งที่ "น่า" จะพูดถึงกันมากกว่านี้ ทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของปุถุชนคนธรรมดา จึงเข้าถึงได้ง่ายกว่าเรื่องราวมหากาพย์ของนักอุดมการณ์ อย่าง Michael Collins เสียด้วย ก่อนหน้านี้ ภาพลักษณ์ของไออาร์เอ ไม่ว่าจะเป็นในภาพยนตร์ฮอลลีวูดหรือภาพยนตร์อังกฤษ มักจะออกมาในบทบาทของ "ผู้ (ก่อการ) ร้าย" เสียเป็นส่วนใหญ่ ยากยิ่งที่ใคร จะเข้าใจถึงความบีบคั้น แร้นแค้น ทั้งกายและใจ ของคนท้องถิ่น ที่เป็นเหตุผลของการลุกขึ้นมาต่อสู้
The Wind That Shakes the Barley ดูแล้วเครียด เพราะมีเนื้อแท้แห่งความเป็นจริงมากเหลือทนจนบางคนอาจยากจะทำใจให้ยอมรับ แม้ฉากตอนของเรื่องราวจะย้อนไปในทศวรรษที่ 1920 แต่ไม่รู้ว่า บังเอิญหรือตั้งใจ จึงได้มีส่วนของเนื้อหาที่คล้ายๆ กับที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโลกใบนี้หลายแห่ง
ราวกับโลกของเราไม่ได้หมุนไปข้างหน้าอย่างนั้นล่ะ...

ไม่มีความคิดเห็น: