วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

หน่วยกล้าตายหมายเลข 1






เรื่องราวจากหนังสือชื่อเดียวกัน (The Big Red One) ของ ซามูเอล ฟุลเลอร์ ซึ่งเล่าเรื่องราวของเขาเองสมัยเมื่อครั้งต้องเข้าร่วมรบในสมรภูมิยุโรป ของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยฉบับ The Big Red One: The Reconstruction (2004) เป็นการนำภาพยนตร์จากปี 1980 มาสร้างใหม่คล้ายๆ กับรูปแบบของ ไดเร็กเตอร์’ส คัท ทว่า ซามูเอล ผู้กำกับชิงเสียชีวิตไปเสียก่อน ก็เลยได้แต่อาศัยเทคโนโลยีในการนำมาสร้างใหม่ ด้วยแรงบันดาลใจจากหนังสืออัตชีวประวัติของ ซามูเอล ชื่อ A Third Face ซึ่งกลายเป็นเวอร์ชั่นที่แทบไม่ต่างจาก ไดเร็กเตอร์’ส คัท เพราะว่า ได้นำมาตัดต่อใหม่ตามสคริปต์ในการถ่ายทำของ ซามูเอล เมื่อปี 1980

เปิดฉากมาด้วยวาทะเด็ดจากหนังสือที่ว่า “This is fictional life, based on factual death” เรื่องราวชีวิตที่สร้างขึ้นจากความเป็นความตายจริงๆ... ของ กองพันแดงหมายเลข 1 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 กองพันที่ติดหมายเลข 1 สีแดงไว้ที่แขน หมายถึง หน่วยกล้าตายที่จะต้องนำหน้าหน่วยอื่นๆ ก่อนเสมอในการทำสงคราม

ลี มาร์วิน แสดงเป็นนายสิบโท ผู้คุมหน่วยกองพันแดงหมายเลข 1 ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเคยประจำกองพันเดียวกันในสงครามโลกครั้งที่ 1 มาก่อน และเคยรบในสนามรบที่ยุโรปมาแล้วด้วยเช่นกัน เขาต้องเป็นผู้นำหน่วยกล้าตายเข้าไปในสมรภูมิยุโรป เริ่มจากการเป็นหน่วยแรกที่ยกพลขึ้นบก ณ ชายหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะตะลุยไปยังประเทศอิตาลี เบลเยียม และเยอรมนี

ไฮไลต์ของเรื่องราวไม่ได้อยู่ที่ยุทธวิธีการรบ ทว่า เป็นเรื่องราวของชีวิตของหน่วยกล้าตาย อย่าง กองพันแดงหมายเลข 1 อันเป็นปกติธรรมดาที่ไม่มีใครต้องการมารบ ไม่มีใครอยากฆ่าคน หรือเป็นคนที่ถูกฆ่า แต่ละคนต่างมีหวังที่จะมีชีวิตรอดกลับไป เพื่อทำให้ความฝันของตัวเองเป็นจริง

พลทหารกริฟต์ (มาร์ค แฮมิลล์ - สมัยเดียวกับกำลังแสดงในมหากาพย์สงครามอวกาศ Star Wars) ฝันอยากเป็นจิตรกร เขาฝึกฝนวาดภาพตลอดเส้นทาง แม้จะหวาดผวาเมื่อเห็นคนตายเป็นจำนวนมาก ในช่วงแรกๆ เขารายงานกับนายสิบโทผู้คุมหน่วยว่า เขาไม่สามารถจะฆาตกรรมใครได้อีกแล้ว ขณะที่ผู้คุมกล่าวตอบคล้ายคนเลือดเย็นว่า ...เราไม่ได้ฆาตกรรมศัตรู แต่เราฆ่า เหมือนเราฆ่าสัตว์นั่นแหละ เราไม่ได้ ฆาตกรรมพวกมัน... แต่นั่นก็คือ ปรัชญาในการเอาชีวิตรอดในสนามรบ

พลทหารแซป (โรเบิร์ต คาร์ราดิเน) นักเขียน รุ่นเยาว์ (เป็นตัวแทนของ ซามูเอล ฟุลเลอร์ เอง) ตั้งใจว่าจะรอดจากสงครามครั้งนี้กลับไปเขียนหนังสือบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับสงคราม (แล้วเขาก็ทำได้สำเร็จ แถมยังมากำกับภาพยนตร์เองด้วย)

นอกจากความผูกพันในหมู่ทหารหน่วยกล้าตายแล้ว มิตรภาพกับชาวบ้านตามรายทางในประเทศต่างๆ ก็เป็นเรื่องราวในความทรงจำอันสุดประทับใจที่ซามูเอล ถ่ายทอดเอาไว้ด้วย มิตรภาพเกิดขึ้นได้ทุกที่ แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดในสนามรบ หรือระหว่างคนที่พูดกันคนละภาษาก็ตาม

สนามรบในอิตาลีและฝรั่งเศส ดูเหมือนจะเป็นสถานที่ประทับใจเป็นพิเศษที่นักเขียน/ผู้กำกับ เล่าถึงตัวละครเอกในเรื่องของเขา อย่าง นายสิบโท เอาไว้ได้อย่างน่ารัก ไม่ว่าจะเป็นน้ำใจของผู้คุมหน่วยคนนี้ที่มีต่อเด็กน้อยชาวอิตาเลียนที่สูญเสียแม่ เด็กหญิงในหมู่บ้านที่ประดับหมวกเหล็กของเขาด้วยดอกไม้หลากสีสัน หรือกับคนสติไม่ดีในโรงพยาบาลบ้า แม้กระทั่ง การ ให้กำเนิดเด็กชายของหญิงท้องแก่ในรถถังของฝ่ายเยอรมนี รวมทั้ง เด็กชายชาวยิวผู้น่าสงสาร ที่เขาพบในค่ายกักกันช่วงใกล้การยุติแห่งสงคราม นอกจากนี้ ยังมีนายทหารชาวเยอรมันที่เป็นคู่กัดกับเขาทั้งในสนามรบ ที่อิตาลีและฝรั่งเศส ท้ายที่สุด นายสิบก็พยายามช่วยชีวิตเขา หลังจากรับรู้ว่าสงครามยุติ เพราะ ซามูเอลว่าเอาไว้... “ทุกคนที่มีชีวิตรอดจากสงครามล้วนแต่ งดงาม”....

ภาพยนตร์ปูพื้นชีวิตของนายสิบและพลทหารแต่ละคนเอาไว้อย่างง่ายๆ ประสบการณ์เลวร้ายในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของนายสิบโท คือ สิ่งที่เขาต้องการจะแก้ไขใหม่ในการมาสงครามครั้งนี้ แต่เขาก็เกือบจะพลาดอีกจนได้ เมื่อไปเสียบพุงของทหารเยอรมันเข้า หลังสงครามสิ้นสุดลงไปแล้วถึง 24 ชั่วโมง

ในเวอร์ชั่น Reconstruction ดูเหมือนจะเน้นบทบาทของ นายสิบโทหัวหน้าหมู่ให้เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องมากขึ้นจากเวอร์ชั่นเก่า ในเรื่องถ่ายทอดให้เห็นความนิ่งและความเข้าใจโลกของเขาท่ามกลางความวุ่นวายของพลทหารคู่หูทั้ง 4 (อีก 2 คนคือ พลทหาร วินชี่ (บ็อบบี ดิ คิชโช) กับพลทหารจอห์นสัน (เคลลี วาร์ด) ซึ่งอ่อนประสบการณ์ และเต็มไปด้วยความหวาดกลัว และมากด้วยความหวังที่ต้องการ มีชีวิตอยู่

โดยปกติแล้ว ภาพยนตร์ที่นำมาตัดต่อ หรือทำเป็นเวอร์ชั่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการขยายเรื่องให้ยาวออกไปอีกนั้น มักจะออกมาแย่กว่าเวอร์ชั่นดั้งเดิม ทว่า The Big Red One: The Reconstruction (2004) กลับเป็นข้อยกเว้น ด้วย 45 นาทีที่เพิ่มเข้ามายิ่งขับเน้นจุดเด่นของเรื่อง ก็คือ ความงดงามของการมีชีวิตอยู่ และมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างความเป็นความตายในสงครามได้ชัดเจน และสะเทือนอารมณ์มากยิ่งขึ้น

The Big Red One: The Reconstruction (2004) เป็นภาพยนตร์สงครามเชิงดรามาที่เล่าเรื่องราวงดงามที่เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์ที่อาจชี้ความเป็นความตาย ถ้าใครชื่นชอบภาพยนตร์แอคชั่นสงครามประมาณ Black Hawk Down หรือ Saving Private Ryan ก็คงจะผิดหวังเมื่อคว้าเรื่องราวที่ออกจะดูน่าเบื่อเรื่องนี้มาชม

ในขณะที่คนที่ชอบภาพยนตร์สงครามแนวดรามา ทำนองเดียวกับ All Quiet on the Western Front (ลิวอิส ไมล์สโตน-กำกับ), A Bridge Too Far (ริชาร์ด แอตเทนเบอโรห์ - กำกับ) และ Das Boot หรือ The Boat ภาพยนตร์สงครามคลาสสิกของเยอรมัน (วูล์ฟกัง พีเทอร์เซน - กำกับ) น่าจะชอบเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ที่สำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมฉากตอนสุดสยอง อารมณ์ขัน และเรื่องราวหนักๆ กับความงดงามสุดมหัศจรรย์ของชีวิตมนุษย์ อันเป็นจุดเด่นในผลงานของ ซามูเอล ฟุลเลอร์ เอาไว้อย่างครบถ้วน

เส้นยาแดงของ 'นักบุญ' กับ 'คนบาป'




เรื่องราวสร้างจากเรื่องจริงในช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2 Saints and Soldiers เล่าชีวิตความผูกพันของ ทหาร ฝ่ายพันธมิตรกลุ่มเล็กๆ ที่หลงเข้าไปอยู่ในวงล้อมของศัตรู ทว่าเขากุมข้อมูลสำคัญที่อาจช่วยชีวิต ทหารอเมริกัน ได้นับพันคน เพียงแต่พวกเขาจะต้องเดินทางฝ่าวงล้อม

ของศัตรู ท่ามกลางพายุหิมะที่หนาวเหน็บออกป่าอาร์แดนส์ของเบลเยียมไปให้ได้

การต่อสู้ที่นองเลือดและยืดเยื้อในสมรภูมินี้ ได้รับขนานนามว่า การต่อสู้แห่งบัลจ์ เกิดในปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1944 กองทัพเยอรมันสามารถรุกคืบเข้ามาจับกุมหทารอเมริกันจำนวนมากไปเป็นเชลย ณ ทุ่งกว้างอันเต็มไปด้วยน้ำแข็งใกล้ๆ กับ มัลเมอดี ประเทศเบลเยียม

ภาพยนตร์เปิดฉากขึ้นที่ทุ่งกว้างแห่งนี้ เมื่อทหารอเมริกันจำนวนหนึ่งพยายามจะหลบหนี ฝ่ายเยอรมันจึงเปิดฉากระดมยิงเขาใส่ทหารอเมริกันที่ถูก ปลดอาวุธ ซึ่งรู้จักกันดีว่าเป็นการ ฆาตกรรมหมู่ที่มัลเมอดี

พลทหารนาทาน "ดีคอน" เกรียร์ และเพื่อนร่วมเมือง อย่าง จ่ากอร์ดอน กันเดอร์สัน และทหารอเมริกันอีก 2 นาย รอดจากการฆาตกรรมหมู่ด้วยการทำเป็นแกล้งตาย ก่อนที่จะพากันหลบหนีเข้าป่า และวางแผนเดินทางไปสมทบกับกองทหารอเมริกัน กระทั่งพบกับ โอเบอรอน วินลีย์ สายลับชาวอังกฤษ ซึ่งกำลังจะนำข้อมูลลับไปส่งให้กองทัพอเมริกัน ทว่า เครื่องบินของเขาถูกฝ่ายเยอรมันสอยตกมาในป่า

การเดินทางฝ่าวงล้อมออกไปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว แต่พวกเขายังต้องเผชิญหน้ากับความหนาวเหน็บ ทั้งยังไม่มีอาหาร น้ำ และอาวุธ การเอาตัวรอด อาจสร้างได้ทั้งความสามัคคี ความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง รวมทั้ง ความเห็นแก่ตัวในเวลาเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสถานการณ์อันไม่ปกติ อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องเป็นไปเยี่ยงที่ควรจะเป็นของมนุษย์ปุถุชน

Saints and Soldiers ภาพยนตร์ทุนต่ำ ผลงานของ ไรอัน ลิตเติล ยังสอดแทรกเรื่องราวของศาสนา ความเชื่อ ศรัทธา และปาฏิหาริย์...

พลทหารดีคอน อดีตหมอสอนศาสนา ซึ่งเคยเดินทางมาเผยแผ่ลัทธิมอร์มอน ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อมาฝึกเป็นทหารเพื่อรับใช้ชาติ เขาเป็นพลแม่นปืนที่ไม่เคยยิงพลาดเป้ามาก่อน แต่เมื่อเขายิงใส่ทหารเยอรมันคนหนึ่งที่กำลังหลบหนี เห็นชัดๆ ว่า ยิงถูกเป้าแน่ๆ หากกระสุนกลับไม่ระคายทหารคนนั้นแม้เล็กน้อย ภายหลังจึงพบว่า ทหารเยอรมันคนนั้น คือหมอสอนศาสนาเพื่อนเก่าที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกันขณะที่ดีคอนอยู่ในกรุงเบอร์ลิน

แม้ภาพยนตร์จะดึงเอาเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ที่มัลเมอดีมาเป็นเหตุการณ์หลัก ทว่า การเล่าเรื่องของ ไรอัน ลิตเติล ทำได้อย่างสละสลวยงดงามราวกับบทกวี และงานศิลปะ ฉากความเป็นความตาย และฉากสู้รบอันน่าหวาดเสียวมิใช่ประเด็นสำคัญไปกว่าการเน้นไปที่อารมณ์ ความรู้สึก ความรัก ความผูกพัน มนุษยธรรม รวมทั้งความหวังที่ต้องการจะมีชีวิตอยู่ภายหลังสงคราม

คาแรคเตอร์ของตัวละครหลักๆ ทั้ง 5 คน ที่สร้างเอกลักษณ์ประจำตัวออกมาได้อย่างโดดเด่น และสร้างความรักความอาลัยให้เกิดกับผู้ชม เช่นเดียวกับความผูกพันกันเองของตัวละครในเรื่อง รวมถึงความชาญฉลาดในการเล่าเรื่องก็เป็นเสน่ห์ให้คนติดตาม Saints and Soldiers ตั้งแต่ฉากแรกจนถึงฉากสุดท้าย ที่บรรจุไว้ทั้งอารมณ์ลุ้นระทึก อารมณ์ดรามา และความมีศิลปะในการนำเสนอ ขนาดที่แทบจะลืมความเป็นภาพยนตร์ทุนต่ำไปเสียสนิทใจ ถ้าใครชอบ Saving Private Ryan กับ The Thin Red Line หรือภาพยนตร์คลาสสิก อย่าง The Big Red One ก็น่าจะลองชมภาพยนตร์เรื่องที่ไม่มีดารา "บิ๊กเนม" สักคนเดียว แต่สามารถเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจเรื่องนี้

ว่ากันว่า ไม่มีใครผิดใครถูกใน สงคราม และความรัก เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่พยายามนำเสนอว่า อะไรกันหนอคือเครื่องบ่งชี้ระหว่าง ดี-ชั่ว และเส้นแบ่งระหว่าง "นักบุญ" กับ "คนบาป" จะอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ ที่แท้แล้วคำตอบจะมีอยู่จริงหรือ...

Saints and Soldiers กวาดรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จาก เทศกาลภาพยนตร์ ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น แบร์เฟสต์ หรือเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ บิ๊ก แบร์ เลค / เทศกาลภาพยนตร์กลอเรีย / เทศกาลภาพยนตร์ฮาร์ตแลนด์ / อินดิเพนเดนต์ สปีริต อวอร์ดส์ / เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติลองบีช / เทศกาลภาพยนตร์มาร์โค / เทศกาลภาพยนตร์โอไจ / เทศกาลภาพยนตร์ซาคราเมนโต / เทศกาลภาพยนตร์ซานดิเอโก / เทศกาลภาพยนตร์เซนต์จอร์จ เอคลิปส์ / เทศกาลภาพยนตร์สโตนี บรุค / เทลลูไรด์ อินดีเฟสต์ และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เทเมคูลา วัลลีย์

วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สีสันยุคปฏิวัติฝรั่งเศส กับการจดบันทึกของผู้หญิงสูงศักดิ์


ภาพยนตร์สวยๆ เรื่องนี้มิได้สร้างสรรค์บนแผ่นฟิล์มเท่านั้น หากทว่าเอริค โรห์แมร์ ผู้กำกับนั้น สร้างภาพยนตร์ของเขาเรื่องนี้ส่วนหนึ่งบนผืนผ้าใบด้วย

จากการทำงานร่วมกันของศิลปินวาดภาพ ฌอง-แบปติสต์ มาโรต์ และผู้กำกับศิลป์ อย่าง อองตวน ฟงแตน ทำให้ได้ฉากหลังของกรุงปารีสสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสอันงดงาม และเป็นความแตกต่างอันโดดเด่น ของภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เรื่อง L'Anglaise et le Duc

ภาพยนตร์สร้างจาก Journal of My Life During the French Revolution บันทึกของ เกรซ เอลเลียต (ลูซี รัสเซล) หญิงสาวสูงศักดิ์ชาวอังกฤษ อดีตคู่รักและเพื่อนของ ดุ๊ก แห่ง ออร์เลอองส์ (ฌอง-โคล้ด ดรีย์ฟุส) พระญาติของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งชีวิตของเธอมีความเสี่ยง เมื่อเธอมีแนวคิดขวาจัด และมักจะพูดยกย่องฐานันดรศักดิ์ รวมทั้งแสดงความเห็นต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างชัดเจน

ความสัมพันธ์อันงดงามของอดีตคู่รักที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิท เลดี้เกรซ แอบช่วยเหลือนักโทษการเมืองคนสำคัญเอาไว้คนหนึ่ง กระทั่ง ดุ๊ก ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยให้เขาหลบหนีไป การแตกหักของทั้งคู่ อยู่ตรงที่ ดุ๊ก แห่ง ออร์เลอองส์ ร่วมลงคะแนนเสียงสนับสนุนการประหารพระเจ้าหลุยส์ด้วยกีล์โยติน เลดี้เกรซซึ่งคุ้นเคย คลุกคลี และจงรักภักดีต่อระบบกษัตริย์จึงรับไม่ได้

ภาพแห่งประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสอันโด่งดัง ผ่านมุมมองของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงปารีส เธอต้องประจักษ์กับความโหดร้ายแห่งการเข่นฆ่า ต้องเอาตัวรอดจากการเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ ภาพต่างๆ ที่เธอเห็นและบันทึกเอาไว้ในไดอารีได้รับการถ่ายทอด เป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ อย่างเช่น ตอนที่เธอกลับมาในกรุงปารีส รถม้าของเธอแล่นอยู่ท่ามกลางกลุ่มประชาชน ที่รวมตัวกันแห่เอาศีรษะของเจ้าหญิงแห่งลอมบัลล์ ประจานไปรอบๆ เมือง ตัวเลดี้เกรซเองก็เกือบจะถูกลากลงไปสังหารเช่นเดียวกัน ขณะที่เธอมองภาพของการปฏิวัติว่าช่างโหดร้าย เหตุใดผู้คนจึงเข่นฆ่ากันได้เพียงนี้ ดุ๊ก กลับกล่าวกับเธอว่า การปฏิวัติใดๆ ก็ย่อมโหดร้ายต่อประจักษ์พยานร่วมสมัยทั้งนั้น แต่สิ่งนี้จะดีต่อลูกหลานในอนาคต

ท้ายที่สุดตัวดุ๊กเองก็ยังต้องตกเป็นนักโทษทางการเมือง ในยุคที่สับสนวุ่นวายหลังการปฏิวัติรัฐประหารครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789

ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องด้วย 2 คาแรคเตอร์หลัก คือ เลดี้เกรซ และ ดุ๊ก แห่ง ออร์เลอองส์ ซึ่งแสดงได้อย่างโดดเด่น แม้ว่าในความเป็นจริงนั้นจะต้องเล่นอยู่เบื้องหน้าฉากสีฟ้า หรือ บลูสกรีน เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม นอกเหนือจากการสร้างสรรค์ฉากให้สวยงามอย่างแปลกด้วยภาพวาด ซึ่งทำให้นึกถึงศิลปินที่ชอบวาดภาพอาคารสถาปัตยกรรมของฝรั่งเศส อย่าง โทมัส ปราดซินสกี แล้ว เทคนิคมหัศจรรย์พันลึกอื่นๆ นั้น ไม่ปรากฏให้เห็นเลย

เทคนิคการวาดฉากที่ผู้กำกับนำมาใช้ นับเป็นการย้อนกลับมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ และให้อารมณ์เหมือนกับการได้นั่งชมศิลปะเฟรสโก ที่มิใช่เป็นเพียงภาพนิ่งบนกำแพงเท่านั้น หากว่า มีชีวิตชีวาที่โลดแล่น ต่อเนื่องกันหลายๆ ภาพ เทคนิคที่เอริคเลือกใช้ ช่วยให้เรื่องราวหนักๆ อย่าง ประวัติศาสตร์ทางการเมืองอันตึงเครียดนั้น เพิ่มความโรแมนติกขึ้นมาได้อีกอักโข

ทว่า เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ “พูด” แสดงความคิดเห็นกันตลอดทั้งเรื่อง ถ้าใครไม่ชอบภาพยนตร์ที่มี บทสนทนามากๆ โดยเฉพาะภาษาที่ไม่คุ้นเคย อย่าง ฝรั่งเศส ก็อาจจะต้องเมิน ขณะที่คนที่ชอบเรื่องราว ในประวัติศาสตร์ อาจจะต้องการทราบเรื่องราวในอีกมุมมองหนึ่งของผู้หญิงชาวอังกฤษ

L'Anglaise et le Duc เสียตรงที่บางครั้งมีฉากตอนที่เยิ่นเย้ออยู่บ้าง และอาจจะทำให้คนดูเบื่อ เช่นเดียวกับบทสนทนามากมายในเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ฉากภาพวาด ของ ปลาส เดอ ลา กงกอร์กด์ ถนนแซงต์ออนอเร บูเลอวารด์ แซงต์ มาร์ติน และแมนชั่นที่เกรซอาศัยอยู่ ที่ เมอดง ก็สวยงามเสียจนไม่อาจจะแอบหลับ หรือเบื่อหน่าย L'Anglaise et le Duc ไปได้

นับเป็นผลงานที่น่าสนใจอีกเรื่องของ เอริค โรห์แมร์ ผู้กำกับจากยุคนิวเวฟ วัย 82 คนนี้

บันทึกชีวิตไม่ปะติดปะต่อ ของ เอดิต เพียฟ


La Mome หรือ La Vie En Rose ในเวอร์ชันนอกประเทศฝรั่งเศส เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ฝรั่งเศส อันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส หรือ ลา แฟต ครั้งที่ 4 เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่บทบาทของ มาริยง โกติลยารด์ ในฐานะนักร้องผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองน้ำหอม เอดิต เพียฟ ยังคงอยู่ในความทรงจำของใครอีกหลายๆ คน

เมื่อแรกชมตอนเปิดเรื่องด้วยภาพมาริยงในบท เอดิต เพียฟ ช่วงปลายของชีวิต ร้องเพลง Heaven Have A Mercy บนเวทีก่อนจะล้มพับไป แล้วภาพก็ตัดกลับไปเมื่อครั้งที่เอดิตอายุได้ 5 ขวบ (มานง เชอวาลลิเยร์) ในใจคิดว่า เอาแล้ว... จะเป็นหนังอัตชีวประวัติแบบสูตรสำเร็จ (ซึ่งอาจจะน่าเบื่อ) หรือเปล่านี่?

หลายคนที่พลาดไปชมในโรงหนัง ต้องมาอาศัยดูดีวีดีอย่าเพิ่งท้อใจเสียตั้งแต่เมื่อเริ่มเรื่อง เพราะในหนังชีวิตคนดังที่คล้ายๆ สูตรสำเร็จเรื่องนี้ ยังได้สอดแทรกสูตรพิเศษเฉพาะลงไป ระหว่างเส้นทางชีวิตซึ่งมากด้วยคุณค่าและความหมาย ของศิลปินนักร้องหญิงผู้เป็นขวัญใจ ทั้งกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งฝรั่งเศสในกาลต่อมาเอาไว้มากมาย จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนังประวัติบุคคลที่นำเสนอได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งทีเดียว

จากท้องถนนในย่านแบลล์วิลล์ในกรุงปารีส เมื่อแม่ที่เป็นนักร้องข้างถนนไม่สนใจเธอแต่อย่างใด พ่อก็ไม่มีปัญญาเลี้ยงจึงพาไปอยู่กับย่าที่ย่าน แบร์กเนย์ เมืองนอร์มังดี ย่าของเธอทำกิจการซ่องโสเภณี ชีวิตวัยเด็กของเธอจึงถูกรายรอบไว้ด้วยหญิงขายบริการ

อยู่ดีๆ เอดิทก็ตาบอด หนังเล่าตามอัตชีวประวัติของเธอว่า ตาบอดอยู่ราวๆ 3 ปี แต่พอได้ไปไหว้แซงต์เตแรส เดอ ลิลสิเยอซ์ (เซนต์เทเรซาแห่งลิสิเยอซ์) ในนอร์มังดี (Sainte-Therese de Lisieux) แล้วก็กลับมามองเห็นได้ราวปาฏิหาริย์

พ่อของเธอได้งานในคณะละครสัตว์ และมา รับเอดิตไปอยู่ด้วย แต่ละครสัตว์ไปได้ไม่สวยนัก ในที่สุดพ่อลูกก็มาเปิดหมวกแสดงกายกรรมอยู่ ข้างถนนในกรุงปารีส แต่รายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการแสดงท่าพิสดารต่างๆ ของพ่อแต่อย่างใด ทว่าเมื่อบิดาบอกให้เธอทำอะไรสักอย่าง เธอจึงเปล่งเสียงร้องเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseilles และเสียงร้องที่สะกดใจของเด็กหญิงเอดิตวัย 8 ขวบ (ปอลีน บูร์เลต์) ต่างหากที่เรียกเสียงปรบมือกึกก้อง และเพิ่มเศษเงินบริจาคในหมวกให้ทั้งคู่

หลังจากที่พ่อไม่อยู่แล้ว แต่เอดิทยังคงหาเงินด้วยการเป็นนักร้องข้างถนน กระทั่ง หลุยส์ เลอเปล (เจรารด์ เดอปาร์ดิเยอ) เจ้าของคลับแห่งหนึ่ง เดินเข้ามาเป็นโอกาสก้าวแรกของเอดิต เขาเปลี่ยนชื่อของเธอจาก เอดิต โจวานนา กัสสิยง เป็นเอดิต เพียฟ โดยให้ใช้ชื่อในการแสดงว่า ลา มอม เพียฟ (La Mome Piaf) ที่หมายถึง นกกระจิบที่ไร้บ้าน จากที่เธอเคยเป็นหญิงสาวตัวเล็กๆ ที่เคยร้องเพลงอยู่ข้างถนน

แต่ยังไม่ทันที่เธอจะดังเป็นพลุ หลุยส์กลับมาถูกลอบยิงเสียชีวิตเสียก่อน ปล่อยให้โปรดิวเซอร์สุดโหดอย่าง หลุยส์ บาร์ริเยร์ (ปาสกาล เกรกอรี) เป็นผู้เจียระไนเธอให้เป็นเพชรเม็ดงาม

หนังตัดสลับไปมาระหว่างเรื่องราวในอดีต กับชีวิตตอนปลายที่เต็มไปด้วยชื่อเสียงแต่ไร้สุขของ เอดิต ก่อนที่เรื่องราวจะมาบรรจบกันที่ฉากสุดท้ายของหนังและชีวิตนักร้องผู้ยิ่งใหญ่...

โอลิวิเยร์ ผู้กำกับ สอดแทรกบทเพลงดังๆ ของเอดิต เพียฟ สอดคล้องไปกับช่วงตอนของชีวิต และเพลงเหล่านั้นคือตัวกำหนดอารมณ์ของหนังอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น Milord, Rien De Rien, La Foule, La Vie En Rose, Mon Dieu, La Mort De Leplee ไปจนถึง Derniere Nuit เมื่อวาระ สุดท้ายของชีวิตมาถึง

จุดแตกหักในชีวิตของเอดิตมีครบถ้วนในหนังทั้ง 2 ครั้ง ได้แก่ การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของบุคคลที่สร้างบทเพลง La Vie En Rose ให้เป็นตำนานร่วมกับเธอ นั่นคือคนที่เธอรักที่สุด มาร์เซล แซร์ด็อง (ฌอง-ปิแอร์ มาร์แตงส์) นักมวยแชมป์โลกฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรียน ที่เสียชีวิตในเหตุเครื่องบินตก ระหว่างกำลังเดินทางจากการชกมวย เพื่อมาเป็นกำลังใจให้เธอในคอนเสิร์ตที่นิวยอร์ก หลังจากนั้นเอดิตกลายเป็นคนติดเหล้า

อีกครั้งหนึ่งคือ อุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่ทำให้เธอต้องใช้มอร์ฟีนเพื่อระงับอาการปวดหลังไปตลอดชีวิต

โอลิวิเยร์ นำเสนอความทรงจำของเอดิต เพียฟ แบบไม่ปะติดปะต่อ คล้ายเลือนรางคล้ายชัดเจน ประหนึ่งฝันที่ระคนกันทั้งร้ายดี เขายังคิดแทน นักร้องผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสผู้นี้ ออกมาเป็นภาพในความทรงจำแบบ "แฟลชแบ็ก" ที่คมชัดในเรื่องราวที่เธอต้องการจดจำ ขณะที่เรื่องราวร้ายๆ นั้นเป็นภาพที่ช่างพร่าเลือน หากก็แจ่มชัดในความรู้สึก (ภาพมัวแต่มีเสียงชัดเจน)

ขณะที่เพลงดังที่สุดของ เอดิต เพียฟ คือ Non, je ne regrette rien (No, I regret nothing) ทว่าการแสดงของมาริยง และมุมมองของโอลิวิเยร์ ทำให้ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตของนักร้องหญิงผู้ยิ่งยงเป็นไปในทางตรงกันข้าม -- น่าเสียดายที่เอดิต เพียฟ มีชีวิตที่แสนเศร้าอยู่บนโลกนี้เพียง 47 ปี เท่านั้น

สำหรับคนที่ได้ดู La Mome (La Vie En Rose) ต่างหากที่สามารถร้องเพลงนี้ได้เต็มปาก...

Non, Rien De Rien, Non, Je Ne Regrette Rien...

ไม่เสียใจที่ได้ชม

อ้อมกอด ของ 'คนแปลกหน้า'



ภาพยนตร์สารคดีที่ชนะรางวัลออสการ์ ประเภทภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมแห่งปี 2000 Into the Arms of Strangers: Stories of the Kindertransport (1999) เปิดเรื่องด้วยเสียงจากบันทึกที่มากไปด้วยความรู้สึกของ เอวา เฮย์มัน ชาวเชกโกสโลวะเกียเชื้อสายยิว เด็กน้อยคนหนึ่งที่เข้าร่วมกับโครงการอพยพเด็กชาวยิวออกจากประเทศที่ถูกครอบครองโดยจักรวรรดินาซี

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรื่องราวบันทึกโลกที่แม้ผู้คนไม่ต้องการจดจำ หากก็มิอาจจะเลือนลืมออกไปจากใจ บทเรียนราคาแพงที่ต้องสังเวยชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปนับล้าน โดยเฉพาะอย่างชาวยิวในเยอรมนี และประเทศยุโรปตะวันออก

สารคดีย้อนยุคเรื่องราวสงครามโลกครั้งนี้ ได้ แรงบันดาลใจจากบันทึกของมารดาโปรดิวเซอร์ของเรื่อง คือ เดบอราห์ ออปเปนไฮเมอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเด็กๆ ที่เข้าร่วมกับโครงการอพยพเด็ก Kindertransport และได้ร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์รำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เอาไว้ที่สหรัฐอเมริกา โดยโครงการนี้สามารถช่วยชีวิตเด็กชาวยิวอายุต่ำกว่า 17 ปีเอาไว้ได้นับหมื่นคน กระนั้นก็ยังมีเด็กจำนวน 1 ล้าน 5 แสนคน ที่ต้องจบชีวิตลงในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เปิดฉากที่สถานีรถไฟเมืองโคโลญที่มีตัวอักษรของเครื่องหอมเลื่องชื่อ 4711 เป็นสัญลักษณ์ รถไฟสีแดงฉานแห่งปัจจุบันค่อยๆ เลือนหายกลายเป็นภาพขาวดำ ซึ่งจะพาคุณย้อนกลับไปในอดีตเมื่อปี 1932 ปีที่นาซีเริ่มเข้ามามีบทบาทในเยอรมนี

เรื่องราวดำเนินไปอย่างเรียบง่าย โดยเนื้อหาที่เป็นไปในส่วนของบรรยากาศ บรรยายด้วยน้ำเสียงของ จูดี้ เดนช์ ตัดสลับกับภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวจากแฟ้มประวัติศาสตร์ รวมทั้งบทสัมภาษณ์ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งได้ร่วมโครงการ Kindertransport ออกจากประเทศเยอรมนีมายังฮอลแลนด์ และลงเรือสู่ประเทศอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น เคิร์ท ฟูเชล จากเวียนนา ที่หลังสงครามได้กลับไปอยู่กับทั้งพ่อและแม่ แต่ก็มีรอยร้าวและช่องว่างที่ขาดหายซึ่งไม่อาจจะประสานได้ง่ายๆ

ลอรี่ เซกัล นักเขียนนิยายสาว ซึ่งพยายามจะวิ่งเต้นขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานให้แม่ของเธอมาที่อังกฤษ (ในเรื่อง ฟรานซี กรอซมานน์ แม่ของเธอให้สัมภาษณ์ด้วย) นอกจากนี้ ยังมี เออร์ซูลา โรเซนเฟลด์ จากประเทศเยอรมนี ที่พ่อของเธอถูกนาซีตีเสียชีวิตต่อหน้ากลุ่มชาวยิวนับแสน เมื่อพยายามเรียกร้องความยุติธรรม ก่อนที่เธอจะเดินทางกับโครงการฯ มายังเมืองผู้ดี ปัจจุบันเธอกลายเป็นคนอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบ

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ นอร์แบร์กต์ วอลล์ไฮม์ หนุ่มยิววัย 25 ซึ่งเป็นคนช่วยจัดการประสานงาน โครงการ Kindertransport ทุกอย่างในเยอรมนี เพื่อให้เด็กแต่ละคนที่ได้รับการคัดเลือกออกจากประเทศในยุโรปตะวันออก ผ่านทางเยอรมนีไปสู่ฮอลแลนด์ได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่ตัวเขาเองต้องถูกจับไปอยู่ในค่ายกักกัน แต่ก็รอดชีวิตมาได้อย่างที่เขาบอกว่า "ไม่มีเหตุผลใดๆ"

เรื่องราวเริ่มเล่าตั้งแต่ช่วง 9 เดือนก่อนที่จะเกิดสงคราม แต่ละคนมาพูดถึงความสุขวัยเด็กที่ยังคงตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวยิวที่มีฐานะดี เติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมแบบยิวที่ครอบครัวค่อนข้างจะแน่นแฟ้น อบอุ่น เด็กคือศูนย์กลางของครอบครัว

กระทั่งเริ่มมีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นมากมายกับเด็กเชื้อสายยิว เช่น การให้ออกจากโรงเรียนปกติ การทำลายธุรกิจของครอบครัวยิว การถูกทำร้ายและด่าทอจากเด็กกลุ่มนิยมนาซี โบสถ์ของชาวยิวถูกเผา การกวาดล้างบ้านเรือน และให้ยิวไปรวมตัวกันอยู่ในที่จำกัด ฯลฯ

เหตุการณ์เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในออสเตรีย และเชกโกสโลวะเกีย รัฐสภาของอังกฤษจึงได้เห็นชอบให้มีการตั้งโครงการ Kindertransport เพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กชาวยิวที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ออกมาจากประเทศ เพื่อมาอยู่ในการดูแลของครอบครัวอังกฤษที่เข้าร่วมโครงการ

ผู้รอดชีวิตแต่ละคน ยังคงจดจำวันที่พวกเขาต้องจากอกพ่อแม่ที่สถานีรถไฟได้อย่างแม่นยำ แต่ละคนย้อนเล่าถึงคราบน้ำตาของพ่อแม่ที่ไม่ต้องการให้ลูกจากไปสักนิด ลอรี คาห์น เล่าถึงบิดาที่ใบหน้าค่อยๆ ซีดเผือดลงเรื่อยๆ เมื่อใกล้เวลาที่เธอจะต้องจากไป ในที่สุดเขาก็ดึงเธอลงมาจากรถไฟ และภายหลัง เธอและพ่อแม่ถูกส่งไปอยู่ในค่ายกักกันยิวที่เอาสชวิตซ์ และเธอก็ถูกย้ายไปอีก 6 แห่ง โดยปราศจากพ่อแม่ หลังจากรอดชีวิตจากค่ายกักกันมาได้ เธอเหลือน้ำหนักตัวเพียง 58 ปอนด์เท่านั้น

ขณะที่เด็กๆ ซึ่งได้เดินทางไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ของประเทศอังกฤษ ผลัดกันมาเล่าถึงประสบการณ์กับครอบครัวที่ไม่รู้จัก บ้างก็ต้องไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ชีวิตที่ต้องพลิกผันมาอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง พ่อแม่อุปถัมภ์ชาวอังกฤษที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งการกอด ต่างจากพื้นฐานของครอบครัวชาวยิวที่เต็มไปด้วยความแน่นแฟ้นและใกล้ชิด

จูดี้ เดนช์ เล่าตั้งแต่ก่อนเริ่มสงคราม ระหว่างสงคราม จดหมายที่เขียนถึงกันระหว่างเด็กและพ่อแม่ที่ยังคงอยู่ในประเทศเก่า บ้างก็เขียนข้อความบอกเล่าเป็นนัยๆ ว่า กำลังเดินทางไปยัง "ตะวันออก" อันแปลความหมายได้ว่า เป็นสถานที่ตั้งของค่ายกักกันชาวยิว เรื่องราวเล่าไปอย่างง่ายๆ จนกระทั่งถึงหลังสงคราม เด็กในโครงการหลายคนได้กลับมาพบพ่อแม่อีกครั้ง ทว่า โดยส่วนใหญ่ไม่ได้พบกับพ่อแม่ของพวกเขาอีกเลย

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกๆ คนล้วนมีบาดแผลที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง

โดยเฉพาะ เอวา เฮย์มัน ซึ่งเป็นเจ้าของประโยคตอนต้นเรื่องนั้น ดูเหมือนว่าบาดแผลในจิตใจที่ถูกกระทำจะยังคงตอกย้ำไปอีกตลอดชีวิต และตามหลอกหลอนเธอไปจนกระทั่งในความฝัน

ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด ล้วนบอกเรื่องราวความทรงจำอันขมขื่นราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ซึ่งเรื่องราวอัน โหดร้ายนี้ไม่น่าจะต้องเกิดขึ้นกับเด็กคนไหน หรือครอบครัวใดๆ เลย

เด็กหลายคนออกมาสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้น พวกเขาไม่ได้ต่อต้านน้ำใจของผู้ก่อตั้งโครงการ Kindertransport แต่อย่างใด ทว่า พวกเขาบอก... หากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก พวกเขาจะไม่ยอมส่งลูกไปอยู่กับคนแปลกหน้า แต่จะขอตายด้วยกัน

กระนั้น หลายคนก็ขอบคุณและซาบซึ้งกับคุณค่าของชีวิตที่ยังเหลืออยู่ และพยายามประคับประคองให้ดำเนินต่อได้อย่างดีที่สุด ด้วยเหตุผลที่ อเล็กซานเดอร์ กอร์ดอน เด็กหนุ่มจากโปแลนด์ว่า... พระเจ้าคงต้องการให้เขามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรสักอย่าง

"อย่างน้อยก็เพื่อให้มีคนรุ่นๆ ต่อๆ ไปจากผมเกิดขึ้นมา เชื้อสายยิวยังคงต้องมีอยู่ต่อไปในโลกนี้"

ฝันเหนือฝันของชาวเช็ก


กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก พวกเขามีนัดกันในวันที่ 31 พฤษภาคม 2004 ที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต (หรือซูเปอร์สโตร์) แห่งใหม่ "เชสกี เซ็น" (เช็ค ดรีม) ที่จะเปิดดำเนินการเป็นครั้งแรก คนจำนวน 3,000 กว่าคน ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดง วัยรุ่น คนหนุ่มสาว ไปจนถึงคนแก่ชราอายุเหยียบ 90 มาพร้อมกันในเช้าวันสดใสหลังสิ้นสุดการเกิดสุริยุปราคา เพื่อจะพบว่า ทุกๆ อย่างเป็นเพียงความฝันเช่นเดียวกับชื่อซูเปอร์สโตร์เท่านั้นเอง

ก่อนหน้านี้ พวกเขาได้รับข่าวสารจากโฆษณาเกี่ยวกับไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ โปสเตอร์ตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่บนท้องถนน ไปจนถึงโฆษณาบนรถราง แผ่นพับ ใบปลิว ฯลฯ ที่บอกเล่าคุณสมบัติความเป็นซูเปอร์สโตร์ในฝัน ที่มีนานาสารพัดสิ่งให้ทุกคนได้เลือกช็อปในราคาซึ่งถูกกว่าที่อื่นๆ ถึงครึ่งต่อครึ่ง นอกจากนี้ ยังมีมุมสันทนาการมากมาย และกิจกรรมหลากหลาย ให้ครอบครัวสามารถมาใช้เวลาร่วมกันได้ตลอดทั้งวัน

ก่อนหน้านี้ขึ้นไปอีก 2 หนุ่ม วิท คลูซ้าค และ ฟิลิป เรมุนดา กำลังจะจบการศึกษา พวกเขาคิดโปรเจ็กต์การโฆษณาสินค้าชิ้นหนึ่ง (ซึ่งไม่มีอยู่จริง) นั่นก็คือ เชสกี้ เซ็น ซูเปอร์สโตร์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า สำหรับภาพยนตร์เพื่อจบการศึกษา

พวกเขาได้ทุนรัฐบาล ทำให้สามารถทำตัวประหนึ่งเจ้าของสินค้า และเริ่มจ้างทีมที่ปรึกษามืออาชีพ ตั้งแต่คนออกแบบโลโก้ ออกแบบเสื้อผ้าให้ทั้ง 2 คนใส่ คิดภาพยนตร์ สปอตโฆษณา เพลงประกอบโฆษณาพร้อมนักร้อง และ วงออเคสตร้า ตลอดจนแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ที่จะประกอบในภาพยนตร์ดังกล่าว และบิลบอร์ด 400 แห่ง กับใบปลิวอีก 200,000 แผ่น รวมทั้งค่าลงโฆษณาในสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร

Cesky Sen นับเป็นภาพยนตร์สารคดี ที่ถ่ายทอดการล่อลวงผู้บริโภคด้วยการโฆษณา ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติการณ์ของสาธารณรัฐเช็ก พร้อมๆ กับทำให้อนาคตในการเป็นนักสร้างภาพยนตร์สารคดี ของ วิท คลูซ้าค และ ฟิลิป เรมุนดา เริ่มจะโดดเด่นและ รุ่งโรจน์ ด้วยความที่โครงการของเขาสามารถที่จะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น รวมทั้งสร้างภาพของสินค้าให้ผู้คนนับพันสนใจและเชื่อว่ามีอยู่จริง

คน 3,000 คน ที่ก่อนหน้านี้วิ่งแข่งกันเพื่อจะไปถึง เชสกี เซ็น ก่อนใคร เดินคอตก หลังจากค้นพบว่า ไฮเปอร์มาร์เก็ตในฝันของพวกเขา เป็นเพียงโครงเหล็ก ที่หุ้มผืนผ้าใบไว้เท่านั้น เสียงก่นด่า อย่างเช่น ...พวก นักการเมืองก็หลอกคน 10 ล้านคนทั้งประเทศไปแล้ว คนพวกนี้ยังมาซ้ำเติม ด้วยการหลอกคนเป็นพันๆ อีก... / ...เรื่องนี้มันก็บ้าพอๆ กับการเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปของเช็กนั่นแหละ... / ...เขาไม่ควรหลอกใครอย่างนี้ เพราะเขาต้องรู้ว่า คนเช็กน่ะชอบกระโจนใส่เรื่องแบบนี้อยู่แล้ว... / ...ถ้าเขาจะหลอกเราก็ไม่น่าจะเป็นวันที่ 30 พฤษภาคมเลย น่าจะเปิดไปตั้งแต่เอพริลฟูลนั่น...

แต่กระนั้น ก็ยังมีชาวเช็กที่มองโลกในแง่ดี อย่าง ...ผมบอกแล้วว่า นี่ต้องเป็นเรื่องหลอกกันแน่ๆ แล้วก็เป็นอย่างที่ผมพูดจริงๆ เห็นมั้ย ผมมีความสุขมากที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เราน่าจะได้ของขวัญอะไรสักอย่างที่อุตส่าห์มานะผมว่า... / ...ผมก็ว่า เป็นเรื่องดีที่สามารถจะทำให้คนมากมายขนาดน ี้ออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์เสียบ้าง ที่นี่อากาศดีนะ ผมว่า ถ้าเราเตรียมตัวมาปิกนิกเสียเลยก็จะดีกว่านี้...

หลังการแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองแบบ คอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต สาธารณรัฐเช็กก็เริ่มที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง ให้เปิดรับแนวคิดแบบทุนนิยมมากขึ้น ในช่วงตอนของการเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดอาการแปลกแยกทางวัฒนธรรม อย่างที่เรียกว่า คัลเจอร์ช็อก เกิดขึ้น ชาวเช็กคลั่งไคล้ในสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะ วัฒนธรรมจากโลกเสรีที่พวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน สารคดีเรื่องนี้ได้ตีแผ่สภาพสังคม รวมทั้งพฤติกรรมของชาวเช็กยุคใหม่ ออกมาอย่างดีเลิศ ถึงขนาดที่เหนือความ คาดหมายของเจ้าของภาพยนตร์ทั้งคู่เสียด้วยซ้ำ

Cesky Sen ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมมากมาย ทั้งรางวัลภาพยนตร์ในประเทศเอง และในหลายเทศกาลภาพยนตร์ ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงในเอเชียด้วย อย่างเช่น เทศกาลภาพยนตร์บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เทศกาลภาพยนตร์โซโลทอฟ วิตยาซ ประเทศรัสเซีย เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติจีออนจู ประเทศเกาหลี ฯลฯ

นับเป็นสารคดีที่ดูสนุกเรื่องหนึ่ง นอกจากอารมณ์ขันแบบ "ไฮเปอร์คอมมิก" ที่ตลกร้ายสำหรับผู้คนแล้ว ยังสนุกในแง่ของการติดตามขั้นตอนในแคมเปญโฆษณา และการถ่ายทำของพวกเขา ท้ายที่สุดแม้ วิท คลูซ้าค และ ฟิลิป เรมุนดา จะถูกยำเละจากกลุ่มคนที่ไม่พอใจ

แต่ทั้งคู่ก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในการล้อเล่นกับพฤติกรรมของประชาชนชาวเช็ก

แด่สันติภาพ และ ' เวนดี้ '


ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องที่ 2 ของ โทมัส วินเทอร์เบิร์ก ผู้กำกับชาวเดนิช และยังเป็นการร่วมงานกันอีกครั้งของคู่หู อย่าง ลารส์ ฟอน เทรียร์ ซึ่งมาเขียนบท Dear Wendy ทำให้ได้บรรยากาศแปลกๆ ของเมืองเล็กที่ไร้ชื่อแห่งหนึ่งในอเมริกา

เจมี เบลล์ หนุ่มน้อยมหัศจรรย์แห่ง Billy Elliot รับบทนำเป็น ดิ๊ก เด็กวัยรุ่นขี้เหงา ไร้เพื่อน เขาสร้างความผิดหวังให้กับบิดา เพราะไม่อาจทำงานเหมือง อันเป็นงานที่ “เหมาะสม” สำหรับชายชาตรีในสังคมเล็กๆ ที่เขาอยู่

บิดาเขาเสียชีวิตในไม่ช้าจากอุบัติเหตุในเหมือง ในความเดียวดาย ดิ๊ก สร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา และเขาเกิดความผูกพันอย่างประหลาด กับ “เวนดี้” ปืนกระบอกเล็กๆ ที่ซื้อมาจากร้านขายของเล่น

เขา รวบรวมกลุ่มเพื่อนวัยรุ่นตั้งคลับ “แดนดีส์” ประกอบด้วย เฟรดดี (ไมเคิล แอนการาโน) ฮูอี้ (คริส โอเวน) ซูซาน (อลิสัน พิลล์) และสตีวี (มาร์ก เวบเบอร์) พวกเขายึดพื้นที่ใต้ดินของเหมืองเก่าเป็นที่รวมตัวกันสร้างสรรค์ ทดลอง และศึกษาการยิงปืนในสไตล์ของตัวเอง พร้อมกับตั้งกฎของกลุ่มขึ้นมา โดยเฉพาะการไม่เที่ยวเพ่นพ่านออกไปยิงคนที่เดินอยู่บนท้องถนน

ดิ๊ก บอกว่า ...พวกเราไม่เคยกังขาในสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยแม้แต่น้อย ทำไมเราจึงสามารถยิงปืนได้เฉพาะในเงามืด ของส่วนลึกสุดของเหมืองเท่านั้น แถมยัง ไม่ควรเปิดไฟให้สว่างด้วย เพราะอะไรน่ะหรือ? ถ้าเรานึกอยากจะยิงที่ไหนก็ได้ สัญชาตญาณในการฆ่าของพวกเราอาจจะถูกปลุกให้ตื่นก็ได้

เพราะฉะนั้นเราควรเรียกสัญชาตญาณของเราว่า “ความรัก” จะดีกว่า หากเรามีแต่ “ความรัก” เรื่องร้ายๆ ย่อมไม่มีทาง ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน...

คลับแดนดีส์ ดำเนินไปอย่างราบรื่น กระทั่งนายอำเภอครักบี (บิล พูลแมน) มาขอให้ ดิ๊ก ช่วยดูแล เซบาสเตียน (แดนโซ กอร์ดอน) วัยรุ่นผิวสีที่มีปัญหายิงคนตาย ทำให้สารบบของคลับ “แดนดีส์” ต้องเสียไป จนถึงกับทำให้การชุมนุม อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาต้องล้มเลิก และต้องเผชิญกับตอนจบที่ไม่คาดคิด...

บรรยากาศของเรื่องราวที่คล้ายกับความฝัน ฝันของเด็กวัยรุ่นที่สร้างโลกเฉพาะของตัวเองขึ้นมา ด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อสิ่งอันตราย ซึ่งเรียกว่า “ปืน” จนกระทั่งต้องตั้งชื่อให้คล้ายเป็นเพื่อนคู่ใจ คล้ายๆ กับคนที่ชอบตั้งชื่อข้าวของเครื่องใช้ให้ราวกับมีชีวิต

ดิ๊ก ปฏิบัติกับ เวนดี้เช่นผู้หญิงสวยที่เขาหลงรัก ความผูกพันที่สวยงาม เป็นเครื่องสะท้อนลักษณะความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ที่ค่อนข้างจะแห้งแล้งในความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์

แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างจากมุมมองของผู้กำกับชาวเดนิช แต่ก็จำลองเมืองเล็กๆ แห่งนี้ให้เป็นเมืองหนึ่งในอเมริกา บรรยากาศแบบสังคมจำลองที่ดูคล้าย ไม่เป็นจริง แต่เหมือนจงใจวิพากษ์อีกด้านหนึ่งของสังคมอเมริกัน ซึ่งซุกซ่อนไปด้วยความรุนแรง

สังคมที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เด็กๆ สามารถหาซื้อปืนได้ง่ายๆ ในร้านขายของเล่น แถมยังจับอาวุธราวกับเป็นปากกาหนึ่งด้าม

ดนตรีมีส่วนมากสำหรับอารมณ์ของเรื่อง Dear Wendy เองก็มีป๊อปร็อกของวง เดอะ ซอมบีส์ เป็นเพลงประกอบหลัก

ภาพยนตร์เล่าเรื่องได้มีท่วงทำนองน่าสนใจ เริ่มด้วยจดหมายของดิ๊ก ที่เขียนรำพึงรำพันถึงเวนดี้ที่เขาเพิ่งสูญเสีย ราวกับเป็นหญิงคนรัก ดิ๊กยังเป็นคนเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยจดหมายที่เขาเขียนถึงเวนดี้ “จากชายหนุ่มผู้หวั่นไหวของคุณอีกแล้ว...”

ท่วงทำนองรำพึงรำพันจึงฟังราวกับเป็นลำนำกวี คล้ายๆ กับภาพยนตร์อีกหลายๆ เรื่องที่นำปัญหาหนักอก หรือความฟอนเฟะในสังคมมาเล่าเป็น ท่วงทำนองที่ดูราวกับเป็นเรื่องสวยงาม ไม่ว่าจะเป็น The Million Dollar Hotel (2000) ของ วิม เวนเดอร์ส หรือ Mysterious Skin (2004) ของ เกร็ก อารากิ

ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดกว่าการพูดถึงด้านมืดอันโหดร้ายในสังคมแบบตรงไปตรงมา... (นะ)

เคาะประตูสู่สวรรค์


ภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันทางเทคนิคว่า “มังงะ” ซึ่งเคยเป็นซีรีส์การ์ตูนทางโทรทัศน์ ชื่อดังที่สุดเรื่องหนึ่ง เล่าเรื่องของกลุ่มนักล่ารางวัลที่เรียกกันว่า “คาวบอย” อันประกอบด้วยสมาชิกหลักๆ 4 คน ได้แก่ สไปก์ เจ็ต เฟย์ และเอ็ด รวมตัวกันอยู่บนยาน “บีบอป” พวกเขาทำหน้าที่คล้ายๆ กับผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของโลก เพียงแต่ว่า ไม่ทำฟรี...เงินค่าหัวของฆาตกร หรือค่าจ้างในการดูแลความเรียบร้อยต่างๆ คือเป้าหมายของพวกเขา

ฉากของเรื่องจินตนาการไปถึงปลายศตวรรษที่ 21 ในปี 2071 อนาคตที่มนุษย์เราได้ทำลายล้างโลกไป เรียบร้อยแล้ว โดยได้ย้ายถิ่นฐานกันไปอยู่ที่ “ดาวอังคาร” และ “กานีมีด” ดวงจันทร์ดวงหนึ่งของดาวพฤหัสฯ บรรดาอาชญากรได้ขยายแวดวงไปสร้างความปั่นป่วน มาจากทั่วสารทิศของสุริยจักรวาล

สไปก์ สปีเกล และเจ็ต แบล็ก คู่หูนักล่ารางวัล ซึ่งน่าจะเป็นคู่ที่เพอร์เฟ็กต์คู่หนึ่ง เว้นแต่เพียงคนหนึ่งสูญสิ้นความกระตือรือร้นสนใจต่อชีวิต ในขณะที่อีกคนหนึ่งก็ช่างไม่มีโชคเอาเสียเลย พวกเขายังต้องพ่วงเพื่อนร่วมแก๊งซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ (เท่าไร) อย่าง เฟย์ วาเลนไทน์ สาวน้อยที่พยายามจะเป็น “คาวบอย” นักล่า แต่ท่าทางจะเป็นตัวถ่วงเสียมากกว่า เช่นเดียวกับแฮกเกอร์ตัวน้อย อย่าง เอ็ด ซึ่งดูจะเป็นเด็กน้อยที่เป็นเครื่องสะท้อน ผลกระทบจากความฟอนเฟะของสังคมในยุคหน้า

ขณะที่ สไปก์ และเจ็ต กำลังกำจัดโจรกระจอกที่เข้าปล้นร้านสะดวกซื้อ เฟย์ก็ได้ไปประสบเหตุก่อการร้ายด้วยสารชีวภาพเข้า รวมทั้งสามารถถ่ายภาพคนร้ายได้ในระยะไกลจากยานอวกาศของเธอ คนกว่า 500 เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ อีกจำนวนมากถูกส่งโรงพยาบาลในอาการโคม่า และแพทย์ไม่อาจหาสาเหตุได้ว่า พวกเขาถูกทำร้ายโดยไวรัสตัวไหนหรืออาวุธชีวภาพชนิดใด

สไปก์กับเจ็ตไม่ใส่ใจในข้อมูลที่เฟย์เก็บมาจากที่ เกิดเหตุ เพราะเห็นว่าใช้เป็นหลักฐานในการติดตาม อะไรไม่ได้เลย กระทั่งโทรทัศน์แจ้งข่าวที่เกิดขึ้น พร้อมประกาศรางวัลการล่าค่าหัวคนร้ายรายนี้ถึง 300 ล้าน จึงต่างคนต่างแยกย้ายกันกระโจนใส่งานรางวัลงาม

สไปก์ไปสืบข่าวคราวยังย่านชุมชนแออัด ขณะที่เจ็ตกลับไปหาเพื่อร่วมงานเก่าที่เป็นตำรวจ ส่วนเฟย์นั่งค้นข้อมูลจากบัตรเครดิต ที่ใช้เช่ารถน้ำมันที่ระเบิดพ่นสารชีวภาพ และเอ็ดพบข้อมูลจากรอยสัก ซึ่งตรงกับรอยบนข้อมือของคนร้าย วินเซนต์ อดีตทหารดาวอังคาร ที่ในข้อมูลของทหารบันทึกว่าเสียชีวิตไปแล้วในสมรภูมิบนดาวไททัน (ดาวบริวารของดาวเสาร์)

ข้อมูลที่ดูเหมือนไม่ได้เรื่องได้ราวของแต่ละคน กลับเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะหลักฐานที่สไปก์บังเอิญได้มาจากสายลึกลับบนถนนโมร็อคคัน อันเป็นแคปซูลเล็กๆ บรรจุสารชีวภาพ ซึ่งนับเป็นอาวุธอันร้ายกาจทางทหาร ในขณะที่ข้อมูลตรวจสอบบัตรเครดิตของเฟย์ นอกจากจะเชื่อมโยงไปถึงคนร้ายแล้ว ยังทำให้สไปก์พบกับสาวสวยอย่าง อีเล็กตรา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวินเซนต์อีกด้วย

ความตื่นเต้นที่แท้จริงเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น...

จินตนาการโลกอนาคตในสายตาของ ชินอิจิโร วาตานาเบะ สร้างสรรค์ออกมาอย่างมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ดูเหมือนผู้คนในเรื่อง จะไม่ค่อยเปลี่ยนพฤติกรรมจากมนุษย์ในโลกปัจจุบันสักเท่าไร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ และอีกหลายๆ สิ่งที่คิดค้นได้ในโลกใหม่ อย่างเช่น บะหมี่สำเร็จรูปที่มีปุ่มกดให้น้ำเดือดในตัวเอง หรือเกมกดเสมือนจริง ฯลฯ ไม่ได้ทำให้พฤติกรรมหรืออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป พวกเขายังคงชอบซดบะหมี่ถ้วย เล่นไพ่ ดื่มสุรา และทำสิ่งไร้สาระอย่างที่เคยทำ

ขณะที่การให้ฉากในโลกอนาคตเต็มไปด้วยวัฒนธรรมอันผสมผสาน คนจีน ญี่ปุ่น ชาวตะวันตก และอาหรับ ต่างก็อาศัยอยู่บนผืนดินเดียว มีป้ายบอกทางสารพัดภาษาบนท้องถนน อาจจะมีการแบ่งเป็นย่านไชน่าทาวน์ หรือย่านโมร็อคคันบ้าง ก็เป็นเพียงถนนสายหนึ่งเท่านั้นเอง

แม่เหล็กดึงดูดของ Cowboy Bebop: The Movie อย่างหนึ่ง ย่อมหนีไม่พ้นดนตรีประกอบที่มีกลิ่นอายแบบ “บีบอป” อันเป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีแจ๊ซและฟังก์ ที่ได้รับการบรรจุเอาไว้เป็นแนวทางหนึ่งของดนตรีสายแจ๊ซ ส่วนใหญ่แล้วบีบอปจะเน้น จังหวะจะโคน โดยมีเครื่องดนตรี เช่น เบส กลอง เปียโน และเครื่องเป่าอีก 2 ชิ้น ศิลปินเด่นๆ อย่าง ชาร์ลี พาร์เกอร์ ดิซซี จิลเลสพี แมกซ์ โรช ฯลฯ

ดนตรีบีบอปมีอิทธิพลมากต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่น ดังจะเห็นได้ในมังงะหลายๆ เรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องราวที่เล่าถึงฮีโร่ต่างๆ รวมทั้งแอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่มีฉากแอคชั่นทั้งหลาย ไม่ต่างจากการมีอิทธิพลของการสร้างสรรค์ดนตรีประกอบของ โยโกะ คันโนะ สำหรับเรื่องนี้

แม้ว่าเมื่อนำ Cowboy Bebop: The Movie ไปเปรียบเทียบกับผลงานของปรมาจารย์ทาง “มังงะ” ของญี่ปุ่นที่ชอบเล่าเรื่องในอนาคตเช่นเดียวกัน เช่น คัทซึฮิโร่ โอโทโม เจ้าของการ์ตูนเรื่อง Akira (1988) และ Metropolis (2001) ฯลฯ อาจจะยังเทียบกันไม่ได้ในแง่ความลึกซึ้ง และความซับซ้อนในวิธีคิดก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้คนทั่วโลกต่างนิยมชมชอบ Cowboy Bebop และยกเป็นเป็นหนึ่งในมังงะชั้นแนวหน้า ก็ด้วยเพราะคาแรคเตอร์หลักๆ ทั้ง 4 ซึ่งนำโดย สไปก์ สปีเกล

โดยเฉพาะใน Cowboy Bebop: The Movie ฉบับภาพยนตร์ ที่นำเสนอในเชิงเปรียบเทียบ ให้ตัวเอกอย่างสไปก์ และตัวร้ายอย่างวินเซนต์ มีบุคลิกลักษณะเป็นคนโดดเดี่ยว แปลกแยกจากสังคมเหมือนๆ กัน และกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดกันเอง เช่นเดียวกับการหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน

นอกจากจะเน้นย้ำความยอดนิยมของคาแรคเตอร์เอกในภาพยนตร์แล้ว ยังแสดงออกถึงวิธีคิดแบบตะวันออก เช่น “หยิน-หยาง” ออกมาอย่างโดดเด่น ท่ามกลางเรื่องราวที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกอย่างเต็มเปี่ยม

แล้วโลกที่แท้จริงของคุณอยู่ที่ตรงไหน?... ทั้งผู้กำกับและคาแรคเตอร์ต่างๆ ในเรื่องต่างกำลังตามหาคำตอบอยู่เช่นเดียวกัน

โลกลวงเฉพาะตัว


ระยะนี้ภาพยนตร์เกย์ยังคงอยู่ในกระแส และนี่ก็เป็นภาพยนตร์ อีกเรื่องที่น่าดู...

ตอนที่เลือกเรื่องนี้ขึ้นมาชมนั้น ไม่ทราบด้วยซ้ำว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย นีล จอร์แดน ผู้กำกับคนโปรดคนหนึ่ง ซึ่งในอดีตเคยมีผลงานที่เข้าตาผู้เขียนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Mona Lisa (1986) We're No Angels (1989) The Crying Game (1992) Michael Collins (1996) The Butcher Boy (1997) ฯลฯ ด้วยชื่อเรื่องที่น่าสนใจ ทำให้ Breakfast on Pluto (2005) กลายเป็นผลงานของ นีล จอร์แดน อีกเรื่องหนึ่งที่ได้ผ่านตา

เรื่องราวของเด็กน้อยชาวไอริช แพตทริก "คิตเท่น" เบรเดน (คีเลียน เมอร์ฟี) ที่เกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดของบิดาผู้เป็นบาทหลวง (เลียม นีสัน) กับแม่บ้านสาวแสนสวย ซึ่งทิ้งเด็กน้อยเอาไว้หน้าโบสถ์แล้วหนีไปลอนดอนตั้งแต่ยังแบเบาะ เด็กน้อยเฝ้าถามไถ่คนรอบข้างเกี่ยวกับมารดา จนกระทั่งเกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบผู้เป็นแม่ กระทั่งทำให้ เพศที่แท้จริงของ แพตทริก "คิตเท่น" เบรเดน บิดเบี้ยวเพี้ยนผิดไป

เขาเริ่มต้องการสวมกระโปรง และใส่รองเท้าส้นสูง หลังจากที่ทราบว่า มารดาแท้ๆ ของเขานั้นเป็นผู้หญิงสาวสวย ผมสีบลอนด์ราวกับนักแสดงชื่อดังคนหนึ่ง จนแม่ที่เลี้ยงดูเขามาต้องออกไม้เด็ดขาด เพื่อที่จะให้เขาคงเพศชายเพศเดิมของตัวเองเอาไว้

ความชัดเจนของเพศที่เพี้ยนผิด เกิดขึ้นเมื่อเขาไปคลุกคลีกับวงดนตรี และพบรักกับ บ๊อบบี้ นักร้องนำประจำวง ที่เปิดโอกาสให้เขาเป็นนักร้อง "ฉิง" ร่วมวงด้วย ยาเสพติดเชื่อมโยงโลกของทั้งสองให้สวยสดงดงาม ราวกับมีโลกเฉพาะส่วนตัวที่ตื่นขึ้นมารับประทานอาหารเช้าบนดาวพลูโต

แต่แล้ว คิตเท่น ก็ค้นพบว่า บ๊อบบี้ นั้นอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวไอริช หรือ ไออาร์เอ จึงนำปืนทุกกระบอก ที่ซ่อนเอาไว้ใต้ช่องเล็กๆ ในรถเคลื่อนที่ซึ่งเป็นรังรักของพวกเขาทิ้งน้ำ แล้วตำนานรักบนดาวพลูโตอันเป็นรักครั้งแรกของคิตเท่นก็ปิดฉากลง

อย่างไรก็ตาม คิตเท่นต้องกลับมาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ของการแบ่งแยกดินแดนที่น่าเกลียดชัง เหตุการณ์ที่ตอกย้ำและกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ก็คือ การที่เพื่อนรักที่เป็นดาวน์ผู้แสนบริสุทธิ์ของคิตเท่น ถูกระเบิดของกลุ่มไออาร์เอเสียชีวิต ทำให้เขาต้องการจะละทิ้งทุกอย่าง เพื่อออกตามหามารดาในกรุงลอนดอน

การผจญภัยของคิตเท่นในโลกกว้างเริ่มต้นขึ้น ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก ที่เป็น "ผู้หญิง" เต็มตัว ก่อนที่เธอจะสืบค้นจนพบว่า มารดาที่แท้นั้นมีครอบครัวอันแสนสุข เธอก็ต้องผ่านประสบการณ์การทำงานหลายหลาก ทั้งนักมายากล หรือแม้แต่โสเภณี และนางทางโทรศัพท์ ชีวิตในลอนดอนเกือบทำให้เธอเอาตัวไม่รอดหลายครั้ง ท้ายที่สุด คำเฉลยในการเดินทางมาเกือบครึ่งชีวิตของคิตเท่น กลับไม่ใช่เพียงการได้พบมารดาเท่านั้น...

นีล จอร์แดน ร่วมกับ แพตทริก แม็คเคบี ผู้เขียนหนังสือชื่อเดียวกัน เขียนบทสำหรับภาพยนตร์ ทำให้เทคนิคในการเล่าเรื่องราวกับนำนวนิยายมาโลดแล่นเป็นภาพได้ สอดประสานกันอย่างลงตัว คล้ายกับกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่จริงๆ โดยมีนีลเป็นผู้จินตนาการภาพในฉบับให้เคลื่อนไหว

นอกจากเทคนิคการเล่าเรื่องของ นีล จอร์แดนแล้ว อีกเรื่องที่น่าชมก็คือ การแสดงของ คีเลียน เมอร์ฟี ที่สามารถทำให้ทุกคนเชื่อว่า เขาเป็นเกย์! ที่อ้อนแอ้น อ่อนแอ ไร้ทางสู้ เป็นผู้ถูกกระทำจากสังคม

หลายคนที่ "ไม่เก็ต" ภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจคิดว่าเป็นเรื่องราว เลื่อนลอยไร้สาระ ด้วยท่วงจังหวะของภาพยนตร์ ที่เล่าชีวิตการเดินทางของคนผิดเพศคนหนึ่งที่ออกตามหาแม่ แต่ Breakfast on Pluto (2005) ก็มีหลายๆ สิ่งที่สอดแทรกอยู่ในนวนิยายบนแผ่นฟิล์ม

ไม่ว่าจะเป็น สังคมของชาวไอริชในสมัยทศวรรษ 70 ด้านมืดของสังคมที่ฟอนเฟะ บาทหลวงทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ ความขัดแย้งทางสังคมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ยาเสพติด

โลกที่ไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นเสมอไป

ถ้อยคำจากปาก ที.อี.ลอว์เรนซ์ กษัตริย์ไร้มงกุฎแห่งอาระเบีย


จากภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ กลายเป็นรูปแบบของวิดีโอ เรื่องราวของที.อี. ลอว์เรนซ์ หรือที่รู้จักกันดีในนามลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย จาก Lawrence of Arabia ของเดวิด ลีน นั่นเอง โดยในเวอร์ชั่นของโทรทัศน์ ประเทศอังกฤษนี้ เขียนบทขึ้นจากหนังสืออัตชีวประวัติ Seven Pillars of Wisdom: A Triumph ที่ ที.อี. ลอว์เรนซ์ประพันธ์ขึ้นเอง โดยทิม โรส ไพรซ์ ซึ่งขณะที่ฉายเป็นตอนๆ ทางโทรทัศน์นั้น ได้รับความนิยมมาก แม้เรล์ฟ ไฟน์ส ผู้รับบทนำขณะนั้น จะยังไม่ได้เข้าสู่ วงการฮอลลีวู้ดด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นการตีแผ่ให้เห็นถึงความจริง และภาพของลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย ที่แตกต่างออกไปจากภาพยนตร์คลาสสิกของเดวิด ลีน

เรื่องราวเล่าเหตุการณ์ที่คล้ายเป็นตอนต่อจากภาพยนตร์ของเดวิด ลีน เมื่อที.อี. ลอว์เรนซ์ (เรล์ฟ ไฟน์ส) กลับมาจากดินแดนแห่งทะเลทรายในตะวันออกกลาง อังกฤษ และฝรั่งเศส กำลังจะเซ็นสนธิสัญญา ไซเคส-ปีโกต์ ในปี 1919 ซึ่งมีสาระเกี่ยวกับการครอบครองดินแดนในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ซีเรีย จอร์แดน อิรัก ปาเลสไตน์ และเลบานอน หรืออาจเรียกว่าเป็นสัญญาสันติภาพแห่งตะวันออกกลาง โดยทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจต่างต้องการครอบครองดินแดนของประเทศซีเรีย ซึ่งเป็นดินแดนที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง (เอเชีย) และต่างก็อ้างว่า ทหารของตัวเองเข้าไปถึงดินแดนดามัสกัสของซีเรียก่อนใคร

ขณะที่ที.อี. ลอว์เรนซ์ ตอบรับภารกิจของอังกฤษ ในการเดินทางไปยังกรุงปารีสในฐานะตัวแทนและล่ามของเอมีร์ ไฟซาล เจ้าชายแห่งซีเรีย โดยบอกกับรัฐบาลว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษ ทว่า จริงๆ แล้ว ที.อี. ลอว์เรนซ์ เกลียดการล่าอาณานิคม และการไปอาศัยอยู่ในทะเลทรายของเขา ทำให้ได้เรียนรู้ความต้องการของชาวอาหรับเป็นอย่างดี โดยเป้าหมายของเขาและเจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ก็คือ การต้องการปกครองตัวเอง และเพื่อเรียกร้องอิสระและเสรีภาพของกลุ่มประเทศอาหรับ

ทว่า ผลประโยชน์อันมหาศาลบนดินแดนตะวันออกกลาง โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงมาถึงผลประโยชน์ใน อุตสาหกรรมน้ำมันที่ยิ่งใหญ่ของโลก รวมทั้งการเมือง อันซับซ้อน ทั้งการเมืองระดับบุคคล การเมืองภายในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้เรื่องราวทางมนุษยธรรม เช่น อิสรภาพของผู้คนในดินแดน ตะวันออกกลางกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคำนึงถึง

ในที่สุดฝรั่งเศส ก็ขับไล่เจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ออกจากซีเรีย โดยอังกฤษได้ตั้งสถาปนาอิรักเป็นประเทศ โดยให้เจ้าชายขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครอง

เราได้เห็นบทบาทที่โดดเด่นมากมายของเรล์ฟ ไฟน์ส อย่างเรื่อง Schindler's List หรือ The English Patient ซึ่งในเรื่องนี้ แม้ว่าจะย้อนไปในวัยหนุ่มของนักแสดงอังกฤษสุดหล่อ แต่เขาก็แสดงให้เราเห็นความลึกและความซับซ้อนทางความคิด รวมทั้งบุคลิกภาพหลากหลายของที.อี. ลอว์เรนซ์ ที่ถูกตีความในเรื่องว่าเป็น "บุคคลอันตราย" ออกมาทางสีหน้าท่าทางได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในเรื่องนี้จะเป็นการแสดงแบบนิ่งๆ ลึกๆ ก็ตาม

ขณะที่นักแสดงแนะนำของเรื่อง (ขณะนั้น) อย่าง อเล็กซานเดอร์ ซิดดิก เอล ฟาดิล ในบทเจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ก็นับว่า เทียบชั้นกับ เรล์ฟ ไฟน์ส ได้พอสูสี เขาแทบจะทำได้ดีพอๆ กับอเล็ก กินเนสส์ ใน Lawrence of Arabia ทีเดียว โดยอเล็กซานเดอร์ มีคะแนนเหนืออเล็ก กินเนสส์ ก้าวหนึ่ง ในแง่การแสดงออกถึงความทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจ ในสภาพที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของมหาอำนาจ ขณะที่อเล็ก กินเนสส์ จะแสดงออกถึงเกียรติภูมิแห่งความเป็นเจ้าทะเลทรายมากกว่า กระนั้น เจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ของอเล็กซานเดอร์ ซิดดิก เอล ฟาดิล ดูเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตชีวาจับต้องได้ และเป็นจริงมากกว่า

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ หลายฉากหลายตอนที่ ตัวเอกทั้ง 2 คนแสดงร่วมกัน นับว่าเข้ากันได้อย่างดีจนเกือบๆ จะดูเหมือนคนที่มี ปฏิกิริยาเคมีเข้ากันได้ อย่าง "คู่รัก" ทีเดียว

นอกจากนี้ ในภาพยนตร์ได้มีการหยิบยกข้อความจากหนังสืออัตชีวประวัติของที.อี. ลอว์เรนซ์ อย่าง Seven Pillars of Wisdom: A Triumph ผ่านทางความคิด รวมทั้งการอ่านของเจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ซึ่งถ่ายทอดอารมณ์และความคิดในอีกแบบ ที่แตกต่างจากหลายคนเคยรับรู้มา

ขณะที่ความยืดเยื้อของภาพยนตร์ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง อาจจะสร้างความเบื่อหน่ายให้หลายๆ คน แต่เมื่อย้อนนึกว่า เคยเป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายทางโทรทัศน์มาก่อน ก็พอจะให้อภัยได้ โดยคนที่สนใจเรื่องทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการเมือง และต้นกำเนิดแห่งการครอบครอง ผลประโยชน์ในน้ำมัน ณ ดินแดนตะวันออกกลาง อาจจะเพลิดเพลินจนลืมเบื่อ

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอที่ไม่ชัดเจน อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้นิดหน่อย ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือที.อี. ลอว์เรนซ์เองกันแน่ ที่ต้องการมีอำนาจเหนือกลุ่มอาหรับ

"After this one. all you'll see of me is a small cloud of dust vanishing over the horizon."

...หลังจากการกระทำครั้งนี้ สิ่งที่พวกคุณจะเห็นก็มีเพียงฝุ่นคลุ้งตลบอบอวลขอบฟ้าเท่านั้น...

ประโยคจากหนังสืออัตชีวประวัติ ที่ที.อี. ลอว์เรนซ์ กล่าวในตอนท้ายของเรื่อง คือสรุปภาพรวมของทั้ง เรื่องราวในภาพยนตร์ และชีวิตของเขาเอง ที่เต็มไปด้วย ม่านหมอกของความคลุมเครือ

วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551

นักฝันวัยเยาว์ กับโลกเหลวไหล และไม่เป็นจริง


ต้องเตือนกันไว้แต่เบื้องแรกเลยว่า หนังเรื่องนี้ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 17 ชม!
ด้วยเนื้อหาสุดอื้อฉาวที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของ พี่น้องฝาแฝดหญิง-ชายชาวฝรั่งเศสกับเด็กหนุ่มอเมริกัน ในยุคดอกไม้บาน ย้อนไปในสังคมของทศวรรษที่ 1970
แม้ผู้กำกับหนังเรื่องนี้จะล่วงเข้าสู่วัย 60 กว่าๆ แล้ว ทว่า แบร์นาโด แบร์โตลุคชี ผู้กำกับเลื่องชื่อ เชื้อสายอิตาเลียน ก็กล้าหาญที่จะออกมาเล่าเรื่องราวในปี 1968 ได้ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อวานในวัย 20 ต้นๆ ของเขาเอง คล้ายๆ กับผลงานในช่วงแรกๆ ของเขาเรื่อง Before the Revolution
The Dreamers ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อว่า The Holy Innocents ของ กิลแบรต์ อดาอีร์ คนเขียนบทเรื่องนี้เอง
หนุ่มสาววัยแสวงหา และภาพบรรยากาศของนักคิด นักปฏิวัติในกรุงปารีส เรื่องราวของ กิลแบรต์ เขียนขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากวลี to be young was very heaven ชีวิตในวัยเยาว์นั้นราวกับชีวิตในสวรรค์...
นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวอเมริกัน แม็ททิว (ไมเคิล พิตต์) ผู้หลงใหลในเสน่ห์ของหนังคลาสสิกยุคเก่าๆ ที่ฉายอยู่ในโรงซีเนมาแต็ก ฟร็องแซส เขาได้พบกับ พี่น้องฝาแฝดหญิง-ชายชาวฝรั่งเศส อิซาแบล (เอวา กรีน) และเตโอ (หลุยส์ การ์เรล) ผู้คลั่งไคล้ในภาพยนตร์คลาสสิกเช่นเดียวกัน
กิลแบรต์ อดาอีร์ ให้ แม็ททิว เป็นคนเล่าเรื่อง เล่าความคิดในหนังเรื่องนี้ เขาบรรยายถึงการนั่งดูหนังแถวหน้าว่า ทำให้ “อิน” ไปกับหนังอย่างไร ...คนนั่งแถวหน้าเท่านั้นที่จะได้รับเรื่องราวที่โลดแล่นอยู่บนหน้าจอเป็นคนแรกๆ ... แน่ละ ประโยคที่เขาให้แม็ททิวพูด เป็นเหตุผลที่เหลวไหลไร้สาระ แต่นั่นคือเหตุผลที่น่าสนใจของวัยรุ่น
พร้อมๆ ไปกับความสัมพันธ์แบบพิเศษพิสดารของทั้งพี่น้องฝาแฝดและแม็ททิว ที่เชื่อมเอาไว้ด้วยฉากตอนต่างๆ ของหนังเก่าๆ ยุคขาว-ดำ หนังเสนอภาพบรรยากาศและสถานการณ์ทางการเมือง และการแสดงออกของคนหนุ่มสาวชาวปารีเซียง ในสมัยที่เป็นต้นกำเนิดของการแสดงออกทางความคิดบนกำแพงและผนังตึก ที่เรียกกันว่า ซิตูอาซิยง กราฟฟิตี (ที่ภายหลังนำมาเรียกการขีดเขียนผนังว่า กราฟฟิตี นั่นเอง)
ฉากตอนทั้งสองส่วนเพิ่มเสน่ห์ให้หนังเรื่องนี้ขึ้นมาอีกอักโขทีเดียว
แม็ททิว ย้ายเข้ามาอาศัยในอพาร์ตเมนต์ของครอบครัวสองพี่น้องตามคำเชิญของแม่ของคู่แฝด และแล้วก็ได้มารับรู้เรื่องความสัมพันธ์อันลึกล้ำพิสดารของทั้งคู่ แม็ททิวหลงรักอิซาแบล ในขณะที่อิซาแบลนั้นเป็นดังเช่นเทพีวีนัส ซึ่งมีความรักกับพี่ชายของตัวเอง แต่เธอก็สนใจในตัวของแม็ททิวอยู่ไม่น้อย
คู่แฝดรับแม็ททิวเข้ามาแทรกเป็นส่วนหนึ่งใน “วิญญาณ” ของคนทั้งคู่ ด้วยเกมหนังที่พวกเขามักจะเล่นและหลุดเข้าไปอยู่ในโลกเฉพาะซึ่งยากแท้จะหยั่งถึง
สาวเปรี้ยวเช่นอิซาแบลไม่เคยไปเดทกับผู้ชายคนไหนนอกจากเตโอพี่ชายฝาแฝดของตัวเอง เกมหนังครั้งหนึ่งที่แม็ททิวพ่าย กติกาของผู้แพ้คือการต้องร่วมรักกับอิซาแบลต่อหน้าเตโอ เขาไม่ยอมในเบื้องแรก แต่ในท้ายที่สุดก็คล้อยตาม และได้ค้นพบว่า อิซาแบล ยังคงเป็นสาวพรหมจรรย์ ที่แท้ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของพี่น้องฝาแฝดนั้นเป็นเรื่องของจิตใจและวิญญาณ หาใช่เรื่องทางกายไม่
เซ็กซ์เกมที่ค่อนข้างพิสดารในหลายๆ ตอนของเรื่อง ทำให้หนังเรื่องนี้เมื่อจะเข้าฉายในอเมริกาได้รับการติดเรต NC-17 หรือเรต เอ็กซ์ (X) เดิมโดยอัตโนมัติ ร่างกายเปลือยเปล่าของวัยรุ่น 3 คนในเรื่องดูแล้วคล้ายกับหนังฝรั่งเศสในอดีต อย่าง Last Tango in Paris ซึ่งติดเรตเอ็กซ์เช่นเดียวกัน รวมทั้งฉากตอนต่างๆ ก็เกิดขึ้นในอพาร์ตเมนต์กลางกรุงปารีส และโลกทั้งโลกก็เหมือนจะมีศูนย์กลางอยู่ ณ อพาร์ตเมนต์แห่งนี้เท่านั้น
ทั้ง 3 คนเหมือนไม่ต้องการตื่นขึ้นมาจากความฝัน ไม่ปรารถนาจะหลุดจากโลกเฉพาะของตัวเอง เพราะจินตนาการในเทพนิยายของอิซาแบลย่อมสวยงามกว่าโลกแห่งความรุนแรงทางการเมืองภายนอกนัก
3 ตัวละครหลักสร้างโลกความฝันออกมาได้อย่างสมจริง ทั้ง 3 คนทำให้ผู้ชมเองก็ไม่ต้องการตื่นจากความฝัน เช่นเดียวกับภาพและการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ แบร์นาโด แบร์โตลุคชี ที่งดงามกว่าภาพของความเป็นจริงอยู่มากมาย

ย้อนรำลึกภาพฝันวันวาน


ถ้าคำว่า "รักแรกพบ" มีจริง ก็คงเหมือนกับแรกที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แค่เปิดฉากมาปุ๊บก็หลงรักปั๊บ ใจเต้นตึ๊กตั๊ก ขนาดนั้นเลย ไม่ได้โม้
นอกจากนี้ Les Amants Reguliers ยังเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่คนศึกษาทางด้านเทคนิคภาพยนตร์ รวมทั้งคนที่ชอบดูภาพยนตร์แนว “ศิลป์” จะต้องชื่นชอบ อย่างน้อยก็ในแง่การถ่ายทำที่ฟิลลิป การ์เรล เลือกฟิล์มขาว-ดำ สำหรับภาพยนตร์ ที่เล่าเรื่องย้อนยุคไปในทศวรรษที่ 1970 ของเขาเรื่องนี้ ด้วยเทคนิคการถ่ายทำแบบเก่าๆ ทั้งเรื่องการตัดภาพ การใช้เสียง ก็ยิ่งเป็นเสน่ห์ส่งเสริมภาพยนตร์แนว “หวนรำลึก” หรือ nostagia ให้ได้อารมณ์ยิ่งขึ้นอีก
ใน Les Amants Reguliers ฟิลลิป เลือกลูกชายสุดหล่อของเขาเอง (นี่คืออีกหนึ่งรักแรกพบของผู้เขียน อิอิ) ที่เคยฝากผลงานในภาพยนตร์ฝรั่งเศสมาแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่อง The Dreamers ของ แบร์นาร์โด แบร์โตลุคชี ซึ่งเป็นการย้อนไปในยุคเดียวกัน นั่นคือ ราวๆ ทศวรรษที่ 1970 ที่บรรดานักศึกษาหัวเอียงซ้าย พยายามจะออกมาปฏิวัติระบอบทุนนิยมในฝรั่งเศส
เรื่องราวเกี่ยวกับ “การปฏิวัติ” เป็นประเด็นฮอตที่พูดถึงกันในกลุ่มนักศึกษา พร้อมกันนั้น พวกเขาก็ชักชวนกันก่อการ
ภาพยนตร์แบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกเล่าความมีส่วนร่วมในเหตุรุนแรง ที่นักศึกษาลุกขึ้นมาก่อความ ไม่สงบครั้งใหญ่ ย้อนไปในเดือนพฤษภาคม ปี 1968 กลางกรุงปารีส ที่เรียกว่า ราตรีแห่งเครื่องกีดขวาง (Night of the Barricades) โดยให้ ฟร็องซัวส์ (หลุยส์ การ์เรล) เป็นผู้เล่าเรื่อง นอกจากเขาจะเป็นกวี เป็นชายหนุ่มรักสันติผู้ต่อต้านการเกณฑ์ทหารแล้ว เขาก็ยังเป็นหนึ่งในนักศึกษาผู้เรียกตัวเองว่าเป็น นักปฏิวัติ เข้าร่วมการวางเพลิง เผารถ ปาระเบิดก่อความวุ่นวาย ... ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว เขาไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจาก เฮไปตามเพื่อน และวิ่งหนีตำรวจ
ฟร็องซัวส์ ยังเป็นตัวเล่าเรื่องในช่วงหลัง ที่ว่าถึงการรวมกลุ่มกันพี้ยาของบรรดาศิลปินทั้งหลาย หลังสงครามระหว่างนักศึกษาและตำรวจปราบจลาจล รวมทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างฟร็องซัวส์ กับ ประติมากรสาว ลิลี (โคลทิลด์ เอสม์)
ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมงของ Les Amants Reguliers ไม่มีพล็อตเรื่องเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นช่วงแรกหรือช่วงหลัง ที่มักจะปล่อยภาพและเหตุการณ์ให้ดำเนินไปเรื่อยๆ ให้เรารู้สึกเหมือนกับว่ากำลังนั่งดูข่าวหรือสารคดีรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง น่าจะเป็นความตั้งใจของฟิลลิป ในฐานะผู้เขียนบทและผู้กำกับที่ต้องการแค่อารมณ์หวนรำลึกถึงคืนวันเก่าๆ (อาจจะเป็นเรื่องราวของเขาเองก็ได้)
ฟิลลิปยังนำกลิ่นอายของภาพยนตร์ยุคนิวเวฟมาใช้ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฉากโทนที่เน้นความหม่นมัวแนวฟิล์มนัวร์ รวมทั้ง บรรยากาศยามค่ำคืนที่มีแสงสลัวๆ ประกอบกับเหตุการณ์วางระเบิด กับภาพ หมอกควันจากการปล่อยแก๊สน้ำตาของตำรวจในช่วงเรก สร้างบรรยากาศคล้ายกับฉากตอนในความฝัน...
กับคนที่ร่วมสมัยนั้นคงจะ “อิน” และหวนนึกถึงวันคืนเก่าๆ ขณะที่คนร่วมยุคสมัยนี้ ก็ไม่ยากจะจินตนาการถึงเสน่ห์แห่งวันเวลาดังกล่าว เพราะจะว่า ไปแล้ว ปารีส ก็ยังคงมีเสน่ห์ยามค่ำคืนที่แทบไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็น ฉากริมแม่น้ำแซน ถนนตรอกซอกซอยต่างๆ รวมถึงตึกรามบ้านเรือนเก่าๆ ที่ยังมีให้ต่อเติมจินตนาการถึงคราครั้งนั้นได้ไม่ยาก
ฉากตอนที่เรื่อยเปื่อยยังคงรักษาเอกลักษณ์ต่อไป ในช่วงที่ 2 ที่ฟร็องซัวส์มาขลุกอยู่ที่บ้านของ อองตวน (ชูเลียง ลูกาส์) ลูกชายเศรษฐีที่เอาแต่สูบฝิ่น บ้านของเขาเป็นแหล่งรวมศิลปิน และฟร็องซัวส์ก็พบรักกับลิลีที่นี่เอง
นอกจากความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปก่อนจะถึงจุดจบของ “คู่รัก” ฟร็องซัวส์-ลิลีแล้ว ภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นถึงแง่มุมชีวิตแบบเหลวไหลไร้สาระ ซึ่งน่าจะเป็นการเล่าภาพที่เคยเกิดขึ้นจริงในกลุ่มศิลปิน/นักศึกษายุคก่อน และที่เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาพยนตร์เล่าเรื่องย่อยๆ ของคาแรกเตอร์ศิลปินที่แต่ละคนก็มีบุคลิกของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นญาติของอองตวนที่เป็นจิตรกร ผู้ทำงานวาดรูปโดยไม่เคยแน่ใจในผลงานของตัว เพราะจะอย่างไร อองตวนก็จะซื้อผลงานของเขาแม้ว่าจะดีหรือเลว หรือตัวลิลีเองที่เป็นประติมากร เธอแม้มีบิดาเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน แต่ความฝันอันสูงสุด ก็คือ ต้องการสร้างชื่อในฐานะประติมากร จึงไม่ลังเล ที่จะทิ้งอดีตที่เอียงซ้ายไว้ข้างหลัง
ยังมีคาแรกเตอร์ โกล์ติเยร์ เกย์หนุ่มดีไซเนอร์ ผู้หลงรักอองตวน ที่มาเป็นสีสันของภาพยนตร์ช่วงหลัง ทำให้เรานึกถึงดีไซเนอร์คนดัง อย่าง ฌอง-ปอล โกล์ติเยร์ ที่อาจจะเป็นตัวตนจริงๆ ของเขา (ภาพยนตร์สร้างให้เชื่ออย่างนั้น)
ภาพยนตร์ตัดฉากตอนบนเตียงไป แม้ตามเรื่องราวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องเพราะไม่เน้นอารมณ์ใคร่ แต่ให้ความสำคัญกับอารมณ์เหงาๆ และหัวใจที่เปราะบาง ที่เป็นภาพรวมบรรยายถึงกลุ่มศิลปินวัยรุ่นกลุ่มนี้ ที่ต่างกำลังไขว่คว้า ค้นหาตัวเอง ค้นหาความหมายแห่งชีวิต ไปพร้อมๆ กับค้นหาคนที่รักและเข้าใจ รวมถึงมิตรสหายผู้ร่วมอุดมการณ์
เช่นเดียวกัน เนื้อหาสาระไม่ใช่จุดขายที่โดดเด่นเท่ากับอารมณ์ของภาพที่ถ่ายทอดผ่านท่วงทำนองที่ค่อยๆ ดำเนินไป การถ่ายภาพยอดเยี่ยมถึงขนาดกวาดรางวัลจากหลายสถาบัน น่าแปลกที่เรื่องราวซึ่งปราศจากสาระ ไร้ปมประเด็นที่แหลมคม แถมยังพูดภาษาที่ไม่คุ้นเคยกันรัวเป็นไฟเรื่องนี้ กลับสามารถตรึงสายตาคนดูเอาไว้ได้ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมง...
แค่ฉากแรกที่ฉายให้เห็นแม่น้ำแซนยามค่ำคืนประกอบเสียงเพลงจากแอคคอร์เดียนก็น่าหลงรัก ตามมาด้วยแสงเงาของฉากต่อมาเป็นภาพบันไดวนในตึกสมัยเก่า เปิดมาคล้ายภาพนิ่งได้ยินเสียงฝีเท้าเดินขึ้นบันได ยังมีเพลงประกอบเป็นเสียงเปียโน ซึ่งจะเปิดเฉพาะฉากโรแมนติกระหว่างฟร็องซัวส์กับลิลีเท่านั้น (ฉากอื่นนอกจากเสียงธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้ว แทบเหมือนหนังเงียบ)
เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์จากเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ สมัยเก่า ที่รวมกันทำให้ Les Amants Reguliers เหมือนกับหนังสือที่อ่านแล้ววางไม่ลง
นี่ยังยังไม่ได้พร่ำเพ้อถึง ฟร็องซัวส์ (หลุยส์ การ์เรล) พระเอกสุดหล่อของเรื่องเลยนะเนี่ย...

สายลมที่เปลี่ยนทิศ


ขณะที่เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการเล่าขานครั้งแล้วครั้งเล่าบนแผ่นฟิล์ม ผู้กำกับ เคน โลช กลับยืมชื่อเพลง The Wind That Shakes the Barley มาสร้างเป็นภาพยนตร์เล็กๆ ที่เอ่ยถึงสงครามกลางเมืองในไอร์แลนด์
เพลงบัลลาดไอริชที่โรเบิร์ต ดอว์เยอร์ จอยซ์ นักเขียน/กวีชาวไอริชแต่งเนื้อร้องเอาไว้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักปฏิวัติหนุ่มกับสาวคนรัก ก่อนที่เขาจะเข้าสู่วังวนเห่งความรุนแรงในสงครามกลางเมือง ปี 1798
บทเพลงมีความเกี่ยวโยงกับเมล็ดข้าวบาร์เลย์ โดยนอกจากจะแสดงให้เห็นบรรยากาศสถานที่ในไอร์แลนด์ซึ่งเต็มไปด้วยธรรมชาติและท้องทุ่งข้าวบาร์เลย์แล้ว นักสู้สมัยนั้นยังมักจะพกเมล็ดข้าวเอาไว้ในกระเป๋ากางเกง เพื่อเอาเคล็ด
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเพณีการขุดหลุมหยอดเมล็ดข้าว ณ บริเวณท้องทุ่งอันเป็นที่ขุดหลุม ฝังศพนักสู้ผู้กล้า 1 ศพต่อ 1 ต้น ให้เจริญงอกงามอร่ามทุ่ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ระหว่างชาวไอริชและผู้รุกรานชาวอังกฤษ

I sat within the valley green, I sat me with my true love
My sad heart strove the two between, the old love and the new love
The old for her, the new that made me think on Ireland dearly
While soft the wind blew down the glen and shook the golden barley

ภาพยนตร์ของเคน โลช เล่าเรื่องราวไม่ต่างจากในบทเพลง... การต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษในทศวรรษ ที่ 1920 กลุ่มคนหนุ่มมากมาย โดยเฉพาะปัญญาชนจากหลายหลากอุดมการณ์ รวมตัวกันต่อสู้เพื่อหนึ่งเดียว คือ ประเทศแม่... ไอร์แลนด์
เรื่องราวเน้นให้เห็นความสัมพันธ์ของ 2 พี่น้องแท้ๆ ดาเมียน (คิลเลียน เมอร์ฟี) และเทดดี (แพดดริก เดลานีย์) เข้าร่วมขบวนการใต้ดินในการต่อสู้กับอังกฤษ
ในเบื้องแรก ดาเมียน นักศึกษาแพทย์ผู้ต่อต้านความรุนแรง ปฏิเสธที่จะจับอาวุธขึ้นต่อต้านผู้รุกราน ต่อเมื่อความรุนแรงรุกล้ำเข้ามาในชีวิตประจำวันมากเข้าเรื่อยๆ เขาตัดสินใจเลิกล้มการเดินทางไปเรียนหมอในกรุงลอนดอน หันมาร่วมกับพี่ชายนายทหารแอคติวิสต์เข้าเป็นหนึ่งในขบวนการใต้ดิน และแล้วเหตุการณ์อันนองเลือดก็เริ่มต้นขึ้น
ฉากสำคัญ เห็นจะเป็นฉากบรรยากาศยามเช้า กลุ่มนักสู้ผู้กล้าเดินทางไป "จัดการ" อังกฤษตามแผน ด้วยการซุกซ่อนตัวตามทุ่งข้าวบาร์เลย์ ก่อนจะเปิดฉากยิงกระหน่ำ ทำการปล้นปืนของอังกฤษ
เรื่องราวจบลงด้วยความเศร้า แม้ว่า ฝ่ายไอร์แลนด์กับอังกฤษจะปิดฉากการสู้รบอย่างเป็นทางการด้วยสัญญาสันติภาพ ทั้งดินแดนไอร์แลนด์ที่เป็นอิสระก็ได้รับการก่อตั้งขึ้น ทว่า ฝ่ายผู้ถืออุดมการณ์เสรีสุดโต่ง ยังคงกังขากับอิสระเสรีที่พวกเขาได้รับว่า อาจจะเป็น เสรีภาพจอมปลอม และพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของไอร์แลนด์อิสระ ก็ทำให้พี่กับน้องต้องแตกคอ และหันปลายกระบอกปืนเข้าหากันเอง

'Twas hard the woeful words to frame to break the ties that bound us
But harder still to bear the shame of foreign chains around us
And so I said, "The mountain glen I'll seek at morning early
And join the bold united men," while soft winds shake the barley

ภาพซ้ำซากของการต่อสู้ที่ไม่รู้จบ ร่างไร้วิญญาณ รายแล้วรายเล่าต้องฝังสังขารอยู่ใต้ทุ่งข้าวบาร์เลย์ ไม่ต่างจากการต่อสู้อันยาวนานของชนชาวไอริชมาตลอดระยะเวลา สัญญาแองโกล-ไอริชเป็นเพียงชัยชนะนัดแรกของขบวนการปลดปล่อยชาวไอริช (ไออาร์เอ) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งอย่างน้อยก็ทำให้ทางตอนใต้ของไอร์แลนด์ได้รับอิสรภาพโดยสมบูรณ์ มีเพียงไอร์แลนด์เหนือที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร (แต่ก็ ไม่แน่ว่า ภาพยนตร์ของเคน โลชเรื่องนี้ จะปลุกวิญญาณแห่งความรักชาติของชาวไอร์แลนด์เหนือขึ้นมาอีกหรือไม่)
เหตุที่ The Wind That Shakes the Barley ได้รับปาล์มทองคำ อาจจะเป็นเพราะเรื่องราวการต่อสู้ของชาวไอริชเป็นสิ่งที่ "น่า" จะพูดถึงกันมากกว่านี้ ทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของปุถุชนคนธรรมดา จึงเข้าถึงได้ง่ายกว่าเรื่องราวมหากาพย์ของนักอุดมการณ์ อย่าง Michael Collins เสียด้วย ก่อนหน้านี้ ภาพลักษณ์ของไออาร์เอ ไม่ว่าจะเป็นในภาพยนตร์ฮอลลีวูดหรือภาพยนตร์อังกฤษ มักจะออกมาในบทบาทของ "ผู้ (ก่อการ) ร้าย" เสียเป็นส่วนใหญ่ ยากยิ่งที่ใคร จะเข้าใจถึงความบีบคั้น แร้นแค้น ทั้งกายและใจ ของคนท้องถิ่น ที่เป็นเหตุผลของการลุกขึ้นมาต่อสู้
The Wind That Shakes the Barley ดูแล้วเครียด เพราะมีเนื้อแท้แห่งความเป็นจริงมากเหลือทนจนบางคนอาจยากจะทำใจให้ยอมรับ แม้ฉากตอนของเรื่องราวจะย้อนไปในทศวรรษที่ 1920 แต่ไม่รู้ว่า บังเอิญหรือตั้งใจ จึงได้มีส่วนของเนื้อหาที่คล้ายๆ กับที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโลกใบนี้หลายแห่ง
ราวกับโลกของเราไม่ได้หมุนไปข้างหน้าอย่างนั้นล่ะ...

เวลาความสุข ไม่ย้อนกลับ


จะตั้งชื่อเรื่องว่า “ชีวิตเศร้าๆ ของคนเหงา 2 คน” ก็ดูจะหน่อมแน้มไป และอาจจะกลายเป็นแนวผิดเพศเกินสักหน่อย สำหรับภาพยนตร์ที่เล่าภาพชีวิตของคนจริงๆ ที่อยู่ในสังคมเรื่องนี้
เคลลี ริชาร์ดต์ บริหารเงินทุนของเธอได้ดี โดยสร้างภาพยนตร์ Old Joy จากนิยายของจอห์น เรย์มอนด์ ชื่อเดียวกัน ให้มีนักแสดงหลักตลอดเรื่องเพียง 2 คน -- เคิร์ต (วิล โอลด์แฮม) และ มาร์ก (แดเนียล ลอนดอน) เพื่อนเก่าที่ไม่ได้ติดต่อกันมานาน อยู่ดีๆ เคิร์ตก็โทร.มาหามาร์ก และชวนไปเที่ยวแคมปิงในป่าใกล้ๆ กับพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน
สำหรับมาร์ก นี่จะเป็นทริปสุดท้ายก่อนที่เขาจะต้องทุ่มเทความรับผิดชอบในฐานะคุณพ่อคนใหม่ ขณะที่เคิร์ตต้องการไปเที่ยวครั้งนี้เพื่อตัวของเขาเอง ที่อยากหวนรำลึกถึงความสุขความทรงจำในอดีตเมื่อครั้งเยาว์วัย รวมทั้ง ปรับอารมณ์ใหม่ให้หายหดหู่
ท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงามของป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งคู่พยายามพูดคุยกันเหมือนวัยเด็ก โดยที่ต่างมีความคับข้องใจไปคนละอย่าง มาร์กรู้สึกผิดกับการหนีภรรยาท้องแก่มาเที่ยว ส่วนเคิร์ตก็โดนชีวิตเคี่ยวกรำจนแทบทำให้เดินต่อไปข้างหน้าไม่ไหว
ภาพยนตร์แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของเพื่อน 2 คนที่ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป การปรับตัวเข้าหากันกลายเป็นเรื่องยาก พวกเขาหลงทางภายใต้การนำของเคิร์ต จึง มิอาจไปถึงน้ำพุร้อนอันเป็นจุดหมายภายในวันเดียวอย่างที่ตั้งใจ มาร์กนั้นแทบอดรนทนไม่ไหว เกือบเดินกลับบ้านไปทันที ในใจเขาคงพร่ำแต่คิดว่า ไม่ควรทิ้งบ้านมา...
มืดค่ำ พอสิ้นหนทางไป พวกเขาขับรถไปเจอสถานที่ตั้งแคมป์

ถึงตอนนี้ ความในใจของเคิร์ตก็เริ่มพรั่งพรูออกมาทีละน้อย ความทรงจำเก่า-ใหม่ เรื่องราวขัดแย้งวัยเยาว์ ฯลฯ มาร์กตกลงไปในบ่อแห่งเรื่องราวความคิดของเคิร์ตอย่างช่วยไม่ได้
มาร์กยืนยันให้สุนัขของเขาเข้านอนในเต็นท์เดียวกันด้วย “เพราะมันจะช่วยให้อุ่นดี” แสดงถึงความเย็นชาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน...

จริงๆ แล้ว บทสนทนาระหว่างคน 2 คนในเรื่องคือหนึ่งในเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ว่า ในความเป็นจริงแล้วเป็นเคิร์ตพูดอยู่แทบจะฝ่ายเดียว แต่ละบทแต่ละตอนดูไร้ที่มาให้สืบสาวราวเรื่อง เหมือนกับจะรู้กันเพียง 2 คน โดยเฉพาะถ้าเผลอหลับหรือลุกไปเข้าห้องน้ำ ก็อาจจะต้องย้อนกลับไปชมกันใหม่
บทพูดเป็นกระจกสะท้อนความเป็นไปในสังคมอเมริกัน ให้อารมณ์รำลึกถึงความหลังอันงดงามและไม่อาจหวนคืนมา ในภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมและส่วนตัวที่ยากจะหาหนทางไป เคิร์ตคือตัวแทนของคนที่ตกเป็นเหยื่อ ทั้งเขายังไม่อาจปรับตัวสอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนไป
คาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันสุดขั้วของเพื่อน 2 คน ก็เป็นภาพขัดแย้งอันเป็นที่นิยมในหมู่นักทำภาพยนตร์อินดีอเมริกันยุคนี้ นับ ตั้งแต่ความสำเร็จของ Sideways เป็นต้นมา ขณะที่มาร์กเป็นหนุ่มที่ดูเนี้ยบๆ เรียบร้อย หน้าตาสะอาดสะอ้านเกลี้ยงเกลา มีชีวิตที่เป็นระเบียบแบบแผน แต่เคิร์ตกลับแต่งกาย ไว้เครา ดูเป็นฮิปปี้ และใช้ชีวิตแบบอิสรเสรี ทั้งคู่ยังเป็นตัวแทนความขัดแย้งทางความคิด ของคนที่นิยมชีวิตโสดกับคนมีครอบครัว
นอกจากความขัดแย้งของ 2 คาแรกเตอร์แล้ว ทั้งคู่ยังมีความขัดแย้งในตัวเอง มาร์กดูเหมือนจะใช้ชีวิตหมุนไปตามกฎเกณฑ์แห่งสังคม ทว่าเขากลับเซตช่องวิทยุแอร์อเมริกา ที่มีแต่พวกแอ็กทิวิสต์หรือพวกหัวรุนแรง เท่านั้นที่ชอบฟัง (ในเรื่องยังเน้นให้เป็นช่วงตอนที่คนโทร.เข้ามาถกเถียงแสดงความคิดเห็นเสียงดังลั่น) ส่วนเคิร์ตนั้นเล่า ดูภายนอกเหมือนเขาจะขบถต่อสังคม ทว่าในใจลึกๆ กลับเต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว
เทคนิคการถ่ายภาพแบบรีเวิร์สช็อต หรืออาศัยกล้องแทนตัวละครการถ่ายแบบ 180 องศา โดดเด่นมากสำหรับภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องราวแบบคนคู่ โดยเฉพาะเรื่องที่พูดจาสนทนากันอยู่เพียง 2 คนตลอดทั้งเรื่องอย่างนี้
ในความขมึงตึงเครียด เคลลีอาศัยทัศนียภาพงดงามของธรรมชาติรายทาง ความเงียบที่เวิ้งว้าง ทำให้ธรรมชาติสวยงามนั้นดูยิ่งเหงา...ยิ่งหลอน เหมือนกับที่เคยเห็นกันในเรื่อง Gerry ของกัส แวน แซนต์ และที่ใกล้ๆ หน่อยก็ Brokeback Mountain ของอั้ง ลี่
ภาพยนตร์เล็กๆ เรื่องราวของคนเล็กๆ แต่กลับสะท้อนให้เห็นถึงสังคมอเมริกันในภาพรวม เผลอๆ จะสะท้อนถึงสังคมเหมือนๆ กันเกือบทั้งโลก จุดเปลี่ยนของยุคสมัยส่ง ผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนที่ยังยึดติดระบบ/ความคิดเก่าๆ ความเชื่อเดิมๆ
การเดินทางท่องเที่ยวแช่น้ำแร่ผ่อนคลายของเคิร์ตและมาร์กครั้งนี้ไม่ได้ผล แถมรัง แต่จะพกพาความอึดอัดกลับไปอีกอักโข
เวลาแห่งความสุขวัยเด็กไม่มีวันหวน คืนจริงๆ ...

สงคราม...ไม่มีวันสุดสิ้น


เยอรมนี ประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปลายๆ ปี 1945 หลังจากที่โดนสหภาพโซเวียตรุกคืบจนไร้ทางถอย และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในหลุมหลบภัย...
ญี่ปุ่น ยกธงขาวเช่นเดียวกัน หลังจากระเบิดปรมาณู 2 ลูกถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ...
อย่างเป็นทางการ -- ถือว่า สงครามได้สิ้นสุดลงไปแล้ว หากทว่าสำหรับผู้ที่ประสบภัยจากสงคราม ดูเหมือนว่าทั้งชาตินี้ไม่มีวันที่จะสิ้นสุด จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ
Zwartboek (Black Book) เปิดเรื่องขึ้นมาเชยๆ ให้นักท่องเที่ยวสาว รอนนี (ฮาลินา รียิน) ที่เดินทางไปเยือนอิสราเอลในปี 1956 ได้พบกับเพื่อนเก่าสมัยสงครามของเธอ จากกรุงเฮก ประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งปัจจุบันเป็นครูอยู่ในโรงเรียนยิว ราเชล สไตน์ หรือเอลลิส เด ฟรีส (คาริซ ฟาน ฮูเตน) -- การพบกันสะกิดอารมณ์ระลึกความหลังของหญิงสาวชาวยิว ผู้รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้...
เรื่องราวตัดกลับไปยังปีสุดท้ายของสงครามโลกใน 1944 เมื่อเยอรมนีรุกคืบเข้ามายึดฮอลแลนด์ได้สำเร็จ ราเชลซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้หลังคาของเพื่อนบ้าน แต่กลับถูกเยอรมันนาซีส่งระเบิดทำลายบ้านดังกล่าวเสียราบคาบ เธอรอดตายหวุดหวิดเพราะไม่อยู่ในบ้าน และได้รับความช่วยเหลือจากชายคนหนึ่ง ซึ่งบอกว่าสามารถจะพาเธอหนีออกจากฮอลแลนด์ได้
ในกลุ่มของชาวยิวอพยพ ราเชลได้พบกับครอบครัวที่พลัดพรากไป ยังไม่ทันดีใจที่ได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง แพผู้ลี้ภัยที่กำลังล่องไปอย่างเงียบเชียบกลางลำน้ำ ก็เผชิญหน้าเข้ากับตำรวจเอสเอสของนาซี ที่ทำการกราดยิงชาวยิวบนแพทั้งหมด ราเชลถูกกระสุนถากหน้าผากและกระโดดน้ำหนีได้ทันเวลา เธอแอบซ่อนในน้ำแล้วได้เห็นตำรวจเอสเอสทำการปล้นเอาของมีค่าจากผู้เสียชีวิต
ราเชลได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มใต้ดินต่อต้านนาซี เปลี่ยนชื่อให้เธอใหม่เป็น เอลลิส เด ฟรีส ทั้งย้อมผมเธอให้เป็นสีบลอนด์ไม่ให้คนสงสัยว่าเธอเป็นยิว เอลลิสได้ทำงานในโรงงาน ก่อนที่จะกลายเป็นหนึ่งในคนสำคัญที่ทำงานให้องค์กรใต้ดิน
เอลลิสต้องรับบทผู้ขน "ของ" ระหว่างการเดินทางครั้งหนึ่ง ร่วมกับเพื่อนหน่วยใต้ดินอย่าง หมอฮันส์ อัคเคมันส์ (ตอม ฮอฟฟ์แมน) เธอหลบหลีกตำรวจเอสเอสจนกระทั่งได้ไปพบกับนายพลลุดวิก มึนต์เซ (เซบาสเตียน โคช) ที่ความงามของเธอนั้นถูกตาต้องใจเขาไม่น้อย และจึงกลายเป็นแผนขั้นต่อไป โดยให้เธอเข้าไปสานสัมพันธ์กับเขา เพื่อเป็นสายสืบเรื่องราวในกองบัญชาการนาซี ถึงแม้ลุดวิกจะระแวงสงสัยในตัวหญิงสาวผมดำที่ย้อมเป็นสีบลอนด์คนนี้ แต่ดูเหมือนทั้งคู่จะตกหลุมรักกันและกันอย่างจริงจัง
ที่กองบัญชาการนาซี เอลลิสได้พบกับกุนเทอร์ ฟรังเคน (วัลเดอร์มาร์ โคบุส) ซึ่งเธอจดจำออกว่าเป็นผู้นำหน่วยเอสเอสที่ทำการสังหารชาวยิวบนแพอพยพ เขางัดข้อกับลุดวิก ทำให้ปฏิบัติการของเอลลิสไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับ "สงคราม" ซึ่งยากที่จะสิ้นสุด
ภาพยนตร์ของ พอล เฟอร์โฮเฟน เจ้าของผลงานดัง อย่าง RoboCop (1987) Total Recall (1990) Basic Instinct (1992) และ Starship Troopers (1997) ซึ่งดูเหมือนว่าจะดำเนินเรื่องอย่างเชยๆ และเน้นไปที่ความเป็นเมโลดรามาอย่างล้นเหลือ กระทั่งหลายคนอาจจะกระอักกระอ่วนจากความเลี่ยน (เตือนไว้ก่อน)
แต่ก็ยังมีดีให้น่าติดตาม โดยเฉพาะบทที่เขียนหลอกคนดูอยู่หลายทอด กว่าจะรู้ว่าที่แท้ใครคือคนทรยศกันแน่ ก็ต้องรอจนเรื่องราวดำเนินไปจนเกือบสุดสิ้น ให้พบสิ่งที่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ก็คือ "สมุดปกดำ" ที่บันทึกเรื่องราวของชาวยิวและหน่วยใต้ดินนอกกฎหมายในฮอลแลนด์เอาไว้ทั้งหมดนั่นเอง
สมุดปกดำ เช่น Zwartboek หรือ Black Book อาจจะเป็นคำตอบสุดท้ายในสงครามที่สิ้นสุด
ทว่า ในใจของเหยื่อสงคราม เช่น ราเชล ผู้เป็นตัวแทนของชาวยิวนับล้านที่เสียชีวิตไปนั้น สงคราม...ในใจนั้นไม่มีวันที่จะสุดสิ้นเลย

สองเรา = หนึ่งคนหนึ่งสุนัข


บองบง (Bombon) เป็นชื่อของสุนัข หนังเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับสุนัขที่มาเปลี่ยนชีวิตและวิธีคิดของคนคนหนึ่ง...
สำหรับคนที่ชอบหนังแอ็กชัน บู๊สะบั้นหั่นแหลก บอกล่วงหน้าเลยว่า อย่าได้พยายามไปซื้อหา Bombon El Perro มาดู เพราะคงจะอดรนทนท่วงทำนองของหนังที่เอื่อยเฉื่อยเรื่องนี้ไม่ไหวเป็นแน่แท้
ตัวละครในเรื่องนำเอาชื่อจริงๆ ของตัวเองมาใช้ในหนังกันเลย ฮวน บิลเยกาส แสดงเป็นหนุ่มวัย 50 ต้นๆ ที่ตกงาน เขาอาศัยบ้านของลูกสาวที่มีลูกและสามีไม่ได้เรื่อง ฮวนพยายามหางานทำไปพร้อมๆ กับขายมีดที่เขาประดิษฐ์ด้ามเองจากไม้ชนิดพิเศษ ไม่เหมือนใคร
ทุกคนชอบมีดของเขา ทว่ามีดสวยๆ เหล่านั้นเป็นของฟุ่มเฟือยในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด ไม่มีใครต้องการเสียเงินไปกับสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกันการงานก็เป็นสิ่งหายาก โดยเฉพาะสำหรับคนในวัยเดียวกับฮวน
ชีวิตของเขาดูเหมือนสิ้นหวังลงทุกที ขนาดที่ไปเติมน้ำมันแล้วชนะรางวัลน้ำมันเครื่อง 1 ขวด ยังกลายเป็นโชคดีที่ยิ่งใหญ่ที่เขาอยากเล่าให้ใคร ต่อใครฟัง
แต่พระเจ้าก็ยังทรงเมตตา ให้เขาเดินทางไปพบผู้หญิงคนหนึ่ง และช่วยเธอนำรถที่เสียบนทางหลวงกลับไปส่งเธอถึงบ้าน แม่ของเธอจึงตอบแทนเขาด้วยสุนัขพันธุ์อาร์เจนติเนียนโดโกแท้ ซึ่งสามีของเธอทิ้งเอาไว้ก่อนตาย
จริงๆ แล้วเจ้าหมาน้อยสีขาวหุ่นดีชื่อว่า บองบง แต่แม่ของหญิงสาวเล่าว่า สามีที่เป็นชาวฝรั่งเศสของเธอเรียกมันว่า เลอเชียง (le chien) ซึ่งภาษาฝรั่งเศสแปลว่าสุนัข ฮวนเลยเข้าใจผิดคิดว่าเจ้าบองบงชื่อ เลอเชียง กระนั้นหลังจากรู้ความจริงแล้ว เขาก็ยังเรียกมันว่าเลอเชียงเหมือนเดิม
เลอเชียงนับว่าถูกโฉลกกับฮวนโดยแท้ แม้เขาจะโดนลูกสาวต่อว่า หากเพียงวันแรกที่มีมันร่วมทาง เขาก็ได้งานเฝ้าโกดังพร้อมที่พักและอาหาร พอจะไปขึ้นเงินที่ธนาคาร ผู้จัดการสาขาพอเห็นเจ้าบองบงเข้า ก็แนะนำให้เขาไปพบคนฝึกสุนัข (วอลเทอร์ โดนาโด) ซึ่งได้พาเขาเข้าสู่โลกของการประกวดสัตว์เลี้ยง โดยวอลเทอร์พยายามหว่านล้อมให้ทั้งคู่แบ่งผลกำไรกันคนละครึ่ง
วอลเทอร์หาช่องทางทำเงินให้ตัวเอง (และฮวน) อีก ด้วยการเสนอตัวเป็นพ่อพันธุ์แสนดีให้แก่ แม่พันธุ์อาร์เจนติเนียนโดโก ความพยายาม 2 ครั้งไม่ได้ผล จนต้องพาเจ้าบองบงไปตรวจร่างกายกันทีเดียว สัตวแพทย์บอกว่า มันมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีทุกอย่าง เพียงแต่ไร้สมรรถภาพทางเพศเท่านั้นเอง !
ฝันที่จะสร้างรายได้อีกทางสูญสลาย วอลเทอร์ เสนอว่าฮวนควรจะกลับไปทำงานเป็นช่างเหมือนเดิม ส่วนเขาจะพาเจ้าบองบงไปประกวดในงานต่างๆ เอง โดยฮวนผู้เป็นคนเรื่อยๆ เฉื่อยๆ อยู่แล้ว ปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ
หรือว่า -- คำทำนายจากกาแฟก้นถ้วยของตุรกี... “ยังมีถนนให้คุณเดินทางอีกมากมาย และเส้นทางยังอีกยาวไกล” โดยนักร้องคาบาเรต์ (โรซา บัลเซคคี) ที่เขาพบระหว่างไปแข่งขันประกวดสุนัขจะไม่เป็นเช่นนั้น
อนาคตยังคงเป็นเรื่องที่มาไม่ถึง แต่ประโยคที่เธอบอกเขาว่า “เราไม่มีทางรู้ว่า เรารักคนคนหนึ่ง หรือสุนัขตัวหนึ่งมากขนาดไหน จนกระทั่งเราต้องสูญเสียมันไป” ช่างตรงใจของฮวนในตอนที่ไม่มีเลอเชียงเสียจริง...
หนังถ่ายทำกันในเมืองชนบทอันห่างไกลของอาร์เจนตินาอย่าง พาตาโกนียา เป็นเรื่องที่อาศัยสไตล์แลนด์สเคปมาเป็นองค์ประกอบของเรื่อง ตามเทรนด์แห่งยุคสมัยอีกเรื่องหนึ่ง ผู้กำกับคาร์ลอสปิ๊งฮวน บิลเยกาส ซึ่งเป็นช่างอยู่แถวๆ กองถ่าย จึงชวนเขามาลองเล่นหนังที่เล่าเรื่องราวความรักความผูกพันของคนและสุนัข และความสัมพันธ์ที่จะค่อยๆ พัฒนาไประหว่างหญิง (โรซา นักร้องคาบาเรต์) กับชาย (ฮวน)
สำหรับตอนจบของเรื่อง คาร์ลอสทิ้งให้คนดูคิดกันเองเป็นเรื่องอนาคต แล้วแต่จินตนาการของแต่ละคนจะวาดให้เป็นไป โดยมีไกด์คร่าวๆ เป็นคำทำนายของโรซา
...ยังมีถนนให้คุณเดินทางอีกมากมาย และเส้นทางยังอีกยาวไกล...
ส่วนในปัจจุบันขณะ โลกยังคงสดใสสวยงาม เพราะฮวนมีเลอเชียง
หนังสิ้นสุดภาพความผูกพันระหว่างคนกับสุนัขลงพร้อมรอยยิ้มน้อยๆ ที่เปี่ยมสุข แต่หลายคนก็อาจจะคิดเหมือนกันว่า น่าจะสุขใจได้รอยยิ้มกว้างและซาบซึ้งกว่านี้ หากคาร์ลอสเลือกนักแสดงมืออาชีพสักคนมาแสดงในบทนำ
เพราะในส่วนของเจ้าสุนัขบองบง เลอเชียงนั้น ตีบทแตกอย่างที่ฮอลลีวูดยังต้องอาย...

เสมือนจริง = ไม่จริง เรื่องขำที่ขำไม่ออก


LOL เป็นศัพท์ของเด็กแชต และนักส่งข้อความทางมือถือที่หมายความว่า "ขำกลิ้ง" หรือ "ขำก๊าก" (laugh out loud) ทว่าหนังของ โจ สวอนเบิร์ก เรื่องนี้จะว่าไปก็ไม่ค่อยจะขำสักเท่าไร โดยเฉพาะเรื่องราวของตัวละครหลัก 2 ตัว อย่าง อเล็กซ์ (เควิน เบเวอร์ดอร์ฟ) และคริส (ซี. เมสัน เวลส์) ที่ใช้ชีวิตแบบหลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริง ไปหลงใหลสาวจากอินเทอร์เน็ต และเซ็กซ์โฟน ทั้งมิอาจแยกแยะออกจากความเป็นจริงส่วนตัว ก็ทำให้โลกของพวกเขาไร้เสียง LOL (หัวเราะดังๆ)
เพื่อนหนุ่มอีกคน ทิม (โจ สวอนเบิร์ก) แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวที่มีตัวตนในชีวิตจริง คือ เอดา (บริจิต เรแกน) และทำท่าไม่เข้าใจว่าเพื่อนทั้ง 2 ทำอะไรกันอยู่ กับคนที่ไม่เคยคบหาอย่างคุ้นเคย ไม่เคยมาใช้ชีวิตร่วมกัน จะรักกันเข้าไปได้อย่างไร ขณะที่ตัวเขาเองก็ติดคอมพิวเตอร์ที่บรรจุไว้ด้วยโปรแกรมแชตและเกมส์น่าสนอีกมากมาย แถมเขายังเป็นโรคติดคุยโทรศัพท์ตลอดเวลา ก็ทำให้ความสัมพันธ์กับแฟนสาวเต็มไปด้วยความเฉยเมย
โลกของคนติดแชตแตกต่างกับคนอื่น หญิงสาวน่ารักคนหนึ่งที่มาหลงเสน่ห์นักสร้างสรรค์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่างอเล็กซ์ สร้างความประหลาดใจให้ชายหนุ่ม เมื่อบอกว่าเธอเช็กอีเมลสัปดาห์ละครั้ง ขณะที่ตัวเขาเช็กเมล (จากสาวที่หลงรักผ่านห้องแชต) แทบทุก 30 วินาที
หนังเปิดเรื่องมาอย่างน่าสนใจ เป็นภาพคลิปหญิงสาวกำลังโชว์เปลื้องผ้าจากอินเทอร์เน็ต พร้อมคำพูดเชิญชวน "ฉันมีคุณคนเดียว" หลังจากนั้นภาพตัดมาเป็นชายหนุ่มกว่าครึ่งค่อนโลกที่กำลังชมอยู่ (LOL)
มีอีกหลายฉากที่ โจ ผู้ทั้งกำกับ แสดง เขียนบท ตัดต่อ และสร้างเอง แสดงให้เห็นถึงมุมเสียดสีสังคมของคนที่บ้าเทคโนโลยี จนไม่สนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ไม่ว่าจะเป็น ภาพคริสกำลังสบตาพูดคุยกับสาวนางหนึ่ง ขณะที่ในหัวของเขาได้ยินแต่เสียงหญิงสาวอีกคนที่ไม่เคยเจอะหน้า แต่เป็นเสียงฝากข้อความทางโทรศัพท์ พร้อมคลิปภาพโป๊เป็นชุดๆ
ภาพอเล็กซ์ที่พยายามจะนัดพบกับสาวในอินเทอร์เน็ตในเซนต์หลุยส์ แต่กลับไปพักบ้านของหญิงสาวอีกคนที่ปิ๊งเขา ห้องของเธอไม่มีคอมพิวเตอร์ อเล็กซ์จึงต้องไปใช้คอมพิวเตอร์ของแม่เธอ ซึ่งไม่เคยใช้งานมานาน จนกระทั่งสายไฟยังมีไม่ครบ
รวมทั้ง ภาพทิมนั่งข้างๆ เพื่อนหนุ่มอีกคน บนตักของทั่งคู่มีโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ แทนที่จะคุยกันตรงๆ กลับคุยกับผ่านการแชต ฯลฯ
การสร้างสรรค์เพลงอิเล็กทรอนิกส์ของอเล็กซ์ในเรื่อง รวมทั้งการเก็บภาพหน้าคนมากมาย กำลังทำเสียงต่างๆ หน้ากล้องวิดีโอ นำมาสรรค์สร้างเป็นเสียงดนตรี ก็สร้างสีสันให้ LOL เพิ่มได้อีกอักโข
หนังเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย ให้พฤติกรรมของแต่ละคนเล่าเรื่องที่เสียดสีสังคมไปเรื่อยๆ เหมือนเช่นเหตุการณ์เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเหล่านั้นจริงๆ
และเรื่องราวในชีวิตคนเรา ณ ปัจจุบันนี้ ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ นั่นแหละ ...
LOL ขำป่ะ?

งานชุมนุมหุ่นยนต์ (ผู้กำกับ)


แม้จะผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่เนื้อหาใน Robotto kanibaru (Robot Carnival) ยังคงมีความร่วมสมัย ไม่ต่างกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ "มนุษย์ 200 ปี" หรือ The Bicentennial Man ของ อิสซาค อาสิมอฟ คนรุ่นใหม่ๆ ที่เคยชื่นชอบ Animatrix ซีรีส์การ์ตูนสั้น ที่ออกมาพร้อมๆ กับภาพยนตร์ไตรภาค Matrix ต้องบอกว่า ซีรีส์เรื่องนี้ "เป็นพ่อเป็นแม่" ของ Animatrix อีกที
9 ผู้กำกับ นำโดย คัตสึฮีโร โอโทโม (เจ้าของผลงาน Akira) มาเล่าเรื่องผ่านมังงะขนาดสั้นในสไตล์เฉพาะตัว เบิกโรงโดย พี่ใหญ่ คัตสึฮีโร ที่พายานบรรทุกหุ่นยนต์ขนาดมหึมา ซึ่งเป็นรูปตัวหนังสือ Robot Carnival มาเบิกโรง "งานชุมนุมหุ่นยนต์" เป็นเรื่องแรก
มังงะสั้นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีบทพูด หากอาศัยเทคนิคการ์ตูนเคลื่อนไหวประกอบดนตรี คล้ายกับแอนิเมชันในยุค "ซิลลี ซิมโฟนี" ของวอลท์ ดิสนีย์
ช่วงแรกเรียก Opening กำกับโดย คัตสึฮีโร โอโทโม และ อัตสึโกะ ฟุกุชิมะ เล่าเรื่องราวของยานหุ่นยนต์ขนาดมหึมา ที่เดินทางมาจัดงานคาร์นิวัล หุ่นใกล้หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางทะเลทราย ปี่แตรเบิกโรงการแสดงแทบไม่ต่างจากการประกาศสงครามของมหาอำนาจต่อประเทศเล็กๆ ในทะเลทราย สายรุ้ง ประทัด และตุ๊กตาเริงระบำที่สวยงาม กลับคล้ายระเบิดเวลาที่ทำลายหมู่บ้านให้ราบเป็นหน้ากลอง
Franken's Gears ผลงานของ โคจิ โมริโมโต ได้แรง บันดาลใจจากวรรณกรรมของ แมรี เชลลี เรื่อง Frankenstein ศาสตราจารย์กำลังสร้างหุ่นยนต์ แต่กลับเกิดเหตุผิดปกติก่อนที่ขั้นตอนทั้งหลายจะเสร็จสมบูรณ์ กระนั้นเจ้าหุ่นที่บรรจงสร้างยังสามารถฟื้นตื่นมีชีวิตขึ้นมาได้ แต่ก็แน่นอน มิใช่อย่างที่ศาสตราจารย์คิดหวังเอาไว้...
ตามด้วยผลงานของ ฮิเดโตชิ โอโมริ Deprive เรื่องราวของหุ่นยนต์ผู้รุกรานจากนอกโลก ที่มีหุ่นยนต์แบบฮิวแมนนอยด์ หรือ หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์เป็นผู้ช่วยกอบกู้โลกเอาไว้
ถัดมาเป็นดรามามังงะ Presence กำกับโดย ยาสึโอมิ อูเมตซึ เล่าเรื่องของชายหนุ่ม ผู้พยายามใช้ชีวิตตามแบบแผน มีภรรยา มีลูก แต่ยังรู้สึกโดดเดี่ยว เขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ต้องการรักษาธรรมชาติ ดูเหมือนผู้คนจะแอนตี้หุ่นยนต์ เห็นพวกมันเป็นสัตว์เลี้ยง หุ่นยนต์ที่เก่าพังถูก ทิ้งในถังขยะ ก่อนจะไปวางกองรวมกันสูงราวตึกระฟ้า 40 ชั้นที่ นอกเมือง
ชายหนุ่มแอบสร้างหุ่นยนต์ ผู้หญิงที่สวยราวตุ๊กตา นับเป็นสิ่งที่ตอบสนองอารมณ์ที่รักความตื่นเต้นของเขา แต่เมื่อหุ่นยนต์สาวสวยกลับสามารถซึมซับความรู้สึกโดดเดี่ยวในจิตใจของเขาได้ แถมกลายเป็นหุ่นแบบมีอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมา ทางออกที่เขาเลือกจึงกลายเป็นความเศร้าใจตลอดชีวิตของตัวเอง
Star Light Angel ผลงาน ฮิโรยูกิ คิตะซูเมะ มังงะสั้นๆ และเต็มไปด้วยจังหวะดนตรีสนุกสนาน เรื่องราวของเด็กสาว 2 คน ที่เข้าไปเที่ยวในสวนสนุก เด็กสาวคนหนึ่งอกหัก จึงวิ่ง เตลิดไป ภาพหลอนทำให้เธอเห็นแฟนเก่ากลายเป็นปีศาจ แล้วบรรยากาศรอบข้างก็กลายเป็นโลกตามจินตนาการที่มืดมนของเธอ หุ่นยนต์ประจำสวนสนุกรับบทอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยเธอให้พ้นจากเภทภัย
Cloud คือมังงะสั้นที่โดดเด่นมากที่สุดในบรรดามังงะสั้นทั้ง 9 เรื่อง (หรืออาจจะเป็นความชอบส่วนตัวของผู้เขียน) ผลงานของ เมา ลัมเดา ถ่ายทอดออกมาเป็นลายเส้นเคลื่อนไหวคล้ายสตอรีบอร์ด เล่าเรื่องของหุ่นยนต์ที่เปรียบประหนึ่งมนุษย์ผู้เดินทางผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านอุปสรรคและกาลเวลา ที่แสดงออกด้านความแปรเปลี่ยนผ่านทางก้อนเมฆ ที่เปลี่ยนรูปร่างไปต่างๆ กัน ตั้งแต่โครงร่างของศิลปะสมัยเรอเนสซองซ์ รูปยูเอฟโอ รูประเบิดปรมาณู ฯลฯ ประกอบดนตรีที่ให้อารมณ์เหมือนฝัน
A Tale of Two Robots -- Chapter 3: Foreigner Invasion เป็นมังงะอีกเรื่องที่มีบทพูด เล่าเรื่องของหุ่นยนต์ 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นผู้รุกรานจากต่างประเทศ อีกตัวเป็นหุ่นยนต์รูปอาคารโบราณญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ปกป้องประเทศและไล่ผู้รุกราน เรื่องนี้เล่าผ่านสไตล์การนำเสนอแบบขำๆ ทว่าเป็นการเสียดสีสุดๆ เฉกเช่นการทำสงครามระหว่าง 2 ประเทศ ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรดี
Nightmare หรือ Chicken Man and Red Neck in Tokyo เล่าฝันร้ายของชายขี้เมาคนหนึ่ง ในยุคที่ยามค่ำคืนของกรุงโตเกียวดำเนินไปโดยการควบคุมของเครื่องยนต์กลไก เป็นแรง บันดาลใจที่ผสมผสานเอาตำนานเก่าแก่เรื่องปีศาจของญี่ปุ่นเอาไว้ โดยบรรจุอยู่ในฝันร้ายของชายขี้เมา กำกับโดย ทาคาชิ นากามูระ
ปิดท้ายเรื่องราวทั้งหลายด้วยผลงานของ คัตสึฮีโร โอโทโม และ อัตสึโกะ ฟุกุชิมะ ยานมหึมาลำเดิมยังคงเดินทางต่อไปในดินแดนทะเลทราย เพื่อเปิด (สงคราม) การแสดงต่อ
จะมีอะไรเหลือสู่รุ่นต่อไปของมนุษยชาติหรือไม่ ซีรีส์มังงะเรื่องนี้ให้คำตอบเอาไว้ที่ตอน สุดท้าย... (อย่าลืมดูจนจบจริงๆ ล่ะ)
เรื่องราวจินตนาการเกี่ยวกับหุ่นยนต์มิใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่เคยเก่า โดยเฉพาะซีรีส์ Robotto kanibaru (Robot Carnival) เต็มไปด้วยมังงะแนวหรรษา สดใสวัยรุ่น มังงะสไตล์ลูกผู้ชาย ดรามา งานเชิงอาร์ตจัดๆ และเรื่องตลก ทั้งมีเนื้อหาครบรสในเรื่องชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม สงคราม ฯลฯ แต่ละเรื่องผูกโยงเอาไว้ด้วยฮินท์จากเรื่องก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นลำแสง การระเบิด นางฟ้า ดวงดาว คอนเซปต์ของซีรีส์เด่นชัดกว่า Animatrix ที่บางคนอาจเคยชื่นชอบเสียอีก
เป็นดีวีดีอีกแผ่นหนึ่งที่คอหนังและนักสะสมหนังดีๆ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

มุมมืดใน (ใจ) กลางกรุงปารีส


นี่คือคำตอบของการผสมผสานการ์ตูนและนิยายราคาถูก (แบบเล่มละ 5 บาท) กับหนังแนว "ฟิล์มนัวร์" เข้าไว้ด้วยกัน Renaissance จึงออกมาเป็นรูปแบบของแอนิเมชันสีขาว/ดำ ที่เล่นเทคนิคไฮ-เดฟินิชันแบบสุดโต่ง ขาวเป็นขาว ดำเป็นดำ แทบไม่มีกึ่งกลางอย่างสีเทา ทำให้หลายๆ คนชมแล้วอาจจะบ่นอุบว่า เป็นแอนิเมชันที่ทำร้ายสายตาจริงๆ (ไม่แน่อาจทำร้ายจิตใจให้ขุ่นมัวยิ่งขึ้นด้วยสิ)
หากยูโทเปียคือโลกในความฝันอันสวยงามและจินตนาการแสนบรรเจิด ที่ใครๆ ก็ต้องการไปใช้ชีวิต ใน Renaissance ก็จะเป็นความสุดโต่งที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว เป็นฝันร้ายที่ใครๆ ก็ไม่อยากเจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของขบวนการใต้ดิน อาชญากรรม ความยากจน ความรุนแรง ทุกๆ ความไม่ดีงามล้วนรวมกันอยู่ที่นี่
กรุงปารีส ปี 2054 ที่ยังมีหอไอเฟลและแม่น้ำแซนอยู่คงเดิม ทว่าเมืองในฝันมากสีสันของใครๆ หลายคน พลิกกลับไปเป็นความหม่นหมอง ถนนเลียบแม่น้ำแซนที่เคยเต็มไปด้วยธรรมชาติแสนร่มรื่นน่าเดินเล่น กลับกลายเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยท่อเหล็ก ทางเดินกรุกระจกเพื่อป้องกันมลพิษ เมืองในฝันอยู่ห่างไกลจากความงดงาม ณ สุดขอบ
ตำรวจตัวกลั่น การาส (เสียงโดย ดาเนียล เคร็ก) เข้ามาสืบคดี อิโลนา (โรโมลา กาไร) พนักงานสาวของบริษัทยักษ์ใหญ่ อวาลง ที่ควบคุมทั้งกิจการอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจด้านสุขภาพ และสื่อต่างๆ ของกรุงปารีสเอาไว้หมด เธอหายตัวไปอย่างปริศนา หลังจากที่สืบสาวราวเรื่องไปกลับพบว่า อิโลนา ไปขุดคุ้ยความลับที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการวิจัยด้านยีนมนุษย์ของบริษัท อวาลง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้เธอหายตัวไปนั่นเอง
ระหว่างสืบคดี การาสมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ บิสลาเน (แคเทอรีน แม็คคอร์แม็ค) พี่สาวของอิโลนา สิ่งที่ทั้งคู่ได้รับรู้ก็คือ อิโลนาได้ไปรู้ความลับซึ่งเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการเป็นอมตะของมนุษย์ การาสรับปากจะช่วยชีวิตของน้องสาวบิสลาเน แต่เขาจะทำได้อย่างที่เธอขอร้องหรือไม่...
"สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น" คือวลีเด็ดของใครสักคนที่คริสติยองนำมาเป็นวิธีคิดในแอนิเมนัวร์ของเขา นอกจากบุคลิกภาพของตัวเอกอย่าง การาส ที่เป็นแบบ "บี-มูวีส์" หรือ พระเอกหนังทุนต่ำในยุคทศวรรษ 1950 แล้ว แอนิเมชันเรื่องนี้ยังเห็นอิทธิพลของหนังยุคอาวองต์-การด์ฝรั่งเศสแบบเต็มๆ
นอกจากนี้ก็ยังไม่ทิ้งกลิ่นอายแบบหนังฟิล์มนัวร์รุ่นใหม่ๆ อารมณ์คล้ายๆ Sin City ของ โรเบิร์ต รอดดริเกซ หรือ Waking Life ของ ริชาร์ด ลิงก์เลเทอร์ อยู่เยอะพอสมควร
อารมณ์ของตัวเอกแบบศิลปิน มุทะลุ บู๊แต่ไม่ถึงขนาดเป็นฮีโร่ที่ชนะเสมอ การาสเป็นตัวละครที่มากด้วยอารมณ์แห่งความหลังอันรวดร้าว ซุกซ่อนอยู่ในจิตใจของเขา และส่งผลกระทบถึงชีวิตในปัจจุบัน ฝันร้ายในอดีตยังตามหลอกหลอนเขาไม่เลิกลา และยากที่จะลบเลือนไป แน่นอนว่านั่นคือเสน่ห์ของฟิล์มนัวร์ ซึ่งเด่นพอๆ กับเทคนิคไฮ-เดฟินิชันที่คริสติยองเลือกใช้ ทั้งเขายังฉลาดพอที่จะอาศัยภาพสะท้อนจากกระจกในหลายๆ ตอน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้ดูเบาลงกว่าภาพสีขาวสีดำล้วนๆ ที่ตัดกันอย่างรุนแรง (กระนั้นก็ช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่นักหรอก)
นอกเหนือจากการตัดกันหนักๆ ของสีขาว/ดำ ที่สร้างความเคร่งเครียดให้กับแอนิเมชันเรื่องนี้แล้ว บทของหนังก็ยัง ไร้อารมณ์ขันอีกต่างหาก เป็นเรื่องราวต่อสู้ แนวสืบสวนสอบสวนที่ซุกซ่อนเงื่อนงำให้ต้องขบคิดติดตามอยู่ตลอดเวลา หนังแสดงให้เห็นแต่ด้านมืด ขณะที่สีขาวในเรื่องก็ไม่ได้หมายถึงด้านสว่าง หากเป็นเพียงความจ้าที่แสบตา ทั้งเน้นให้ความดำ (มืด) ยิ่งดำขึ้นกว่าเดิม
จึงเตือนไว้สำหรับใครที่อยากจะหยิบแอนิเมชันเรื่องนี้ขึ้นมาชมเพื่อคลายเครียด เพราะผลที่จะได้คือสิ่งตรงกันข้าม เช่นเดียวกับเนื้อหา "ความลับดำมืดของชีวิต" ที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องนี้ กลับไม่ได้คมคายเท่ากับสไตล์ในการสร้างสรรค์ด้านกราฟฟิกสักนิดเดียว

(ผม) อาจมิใช่เช่นใครคาดหวัง


คนที่จะหยิบหนังเรื่องนี้มาดู มีอยู่ 3 ประเภท ประเภทแรก คือ แฟนพันธุ์แท้ของ "สแตนลีย์ คิวบริก" (ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากที่สุด) ประเภทที่ 2 คงจะเป็นแฟนของ "จอห์น มัลโควิช" (จำนวนคงลดลงมาสักหน่อย) ส่วนประเภทที่ 3 น่าจะเป็นคนชอบดูหนัง มีอะไรก็ดู (เชื่อว่า-กลุ่มนี้อาจจะมีผิดหวังกันบ้าง)
หลังจากชมแล้ว แฟนๆ ของสแตนลีย์ คิวบริก ยอดผู้กำกับหนังฮอลลีวูด อาจจะงงเป็นไก่ตาแตก ด้วยหลงเชื่อจริงจังไปกับบทบาท "อลัน คอนเวย์" ของจอห์น มัลโควิช ในเรื่อง โอ๊ะ...โอว์ พระเจ้าจอร์จ... สแตนลีย์ คิวบริกเป็น "แต๋ว" หรือนี่ ตกข่าวอะไรกันรึเปล่า...
ที่ไหนได้ Colour Me Kubrick เล่าเรื่องราว (ที่อ้างว่าเป็นเรื่องจริง) ของนายอลัน คอนเวย์ (จอห์น มัลโควิช) หนุ่ม (ใหญ่) ลักเพศชาวอังกฤษ ซึ่งจำแลงแต่งเรื่องราวว่าตัวเขาเป็นยอดผู้กำกับดัง นาม สแตนลีย์ คิวบริก เจ้าของผลงาน Spartacus, 2001: A Space Odyssey, A Clockwork Orange, The Shining และอื่นๆ อีกมากมาย สอดแทรกเข้าใช้ชิวิตในแวดวงไฮโซ ด้วยการเข้าไปพูดคุยตีสนิทกับนักแสดง นักแต่งเพลง นักธุรกิจไนต์คลับมากมาย โดยเฉพาะหนุ่มๆ หน้าตาหล่อเหลานั้นสนใจเป็นพิเศษ จนปั่นป่วนวุ่นวายกันไปทั้งวงการ โดยอาศัยช่องว่างตรงที่สแตนลีย์ตัวจริงไม่ค่อยออกมาเผยโฉมหน้า หรือออกมาให้สัมภาษณ์มากนัก ทั้งที่เขารู้เพียงนิดหน่อยเกี่ยวกับผลงานของผู้กำกับดังและไม่มีส่วนละม้ายคล้ายสแตนลีย์เลยสักนิด
ในที่สุดเรื่องราวทั้งหมดก็ถูกเปิดโปงอย่างเป็นทางการ โดยนักหนังสือพิมพ์รายหนึ่งของนิวยอร์กไทม์ เช่นเดียวกับการถูกเปิดโปงโดยกลุ่มย่อยๆ ที่โดยเขาหลอกไปก่อนหน้านี้
อารมณ์ของอลัน คอนเวย์ในเรื่องสลับกันระหว่างความลวงโลก กับความเชื่อจริงๆ ว่าตัวเขานั้นเป็นสแตนลีย์ คิวบริก หลายๆ ครั้งที่อลันพยายามจะบอกคนอื่นว่า เขาคือ อลัน คอนเวย์ แต่คนอื่นมักจะเรียกเขาว่า สแตนลีย์ ไปๆ มาๆ เขาก็กลายเป็นสแตนลีย์ไปอีกครั้ง ผู้ชมต้องไปค้นหาคำตอบว่า เขาเป็นบ้า เขาชอบหลอกตัวเอง หรือแค่อยากจะเป็น "ซัมบอดี" คนสำคัญในสังคม ไม่ก็อยากจะมีเหล้ากินไปวันๆ กันแน่
หนังกำกับโดย ไบรอัน ดับเบิลยู. คุก ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้สแตนลีย์ คิวบริกมาเป็นเวลากว่า 25 ปี ทีเดียว เริ่มแรกทีเดียวไบรอันต้องการจะสร้างเป็นสารคดีชีวิตอลัน แต่ไปๆ มาๆ ได้พัฒนาเป็นโครงการภาพยนตร์ขนาดยาวแนวตลก/ชีวิตเสียอย่างงั้น
เพลงประกอบหลายตอนที่ไบรอันยืมมาจากหนังของเจ้าตำรับตัวจริง อย่าง สแตนลีย์ ช่วยเพิ่มความเพลิดเพลินให้แฟนพันธุ์แท้ของยอดผู้กำกับได้พอสมควร ขณะที่ไบรอันก็ยังใส่มุกต่างๆ สอดแทรกเอาไว้เป็นรายละเอียดตลอดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างร้านชื่อว่า "บลูดานูป" อันเป็นเพลงโปรดของสแตนลีย์ และเป็นหนึ่งในเพลงประกอบที่เขายืมมาใช้ เอาไว้ใกล้ๆ กับอพาร์ตเมนต์ของอลัน คอนเวย์
Colour Me Kubrick ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในประเภทหนังตลก โดยส่วนมากแล้วจะเป็นอารมณ์ตลกที่คำพูดแบบหนังอังกฤษโดยแท้ (ต้องเอียงหูกระดิกสำเนียงอังกฤษกันหน่อย เพราะเวอร์ชันที่ขายในเมืองไทยมีแต่ซับไตเติลภาษาสเปนเสียฉิบ ตอนนี้อาจมีภาษาอังกฤษหรือไทยแล้ว)
การพลิกบทบาทของจอห์น มัลโควิช จากบทนักฆ่าหรือฆาตกรโรคจิต มาเป็นบทชายลักเพศที่ดัดขนตางอนเป็นนิจ แถมเรียวปากยังประดับด้วยลิปกลอสสีชมพูแวววาวตลอดเวลา ตลอดจนการพูดการจาที่แสน "ดัดจริต" นั้นก็ทำได้น่าสนใจจริงๆ (ถึงขั้นทำให้สับสนเรื่องเพศแท้ๆ ของสแตนลีย์ คิวบริกตัวจริงไปเลย)
แค่การแสดงของจอห์นก็ดูเพลินได้หลายๆ รอบโดยไม่เบื่อ ที่เพลิดเพลินกว่า ก็คือ ตลกเสียดสีแบบอังกฤษก็มีให้ค้นหามาขำมากมายในหนังเรื่องนี้ แม้ข้อมูลที่เคยได้จากอินเทอร์เน็ตรายต่างๆ จะไม่ค่อยปลื้มและไม่ค่อยเก็ต Colour Me Kubrick กันเท่าไรนัก
เอ... หรือนี่จะเป็นรสนิยมส่วนตัวของผู้เขียนกันหนอ?

เมื่อความฝันรวมกันเป็นหนึ่งเดียว


“เธอคือนางในฝัน” ประโยคนี้อาจทำให้มังงะที่สร้างจากนิยายชื่อเดียวกัน เปลี่ยนไปจากแนวไซ-ไฟ/ แอ็กชัน กลายเป็นเรื่องรักโรแมนติกไปเสียได้ จริงๆ แล้วเรื่องราวมันก็ปนๆ กันไปนั่นแหละ ทั้งยังแถมพกด้วย “หนังสืบสวนดีๆ” กับ “หนังตำรวจห่วยๆ” ไว้ในเรื่องเดียวกัน
ความฝันในความฝัน หนังในหนัง จาก Paprika นิยายดังของยาสึทากะ ซัตสึอิ ปี 1993 เรื่องราวในอนาคตอันใกล้ของนักจิตวิทยาสาว ดร.อัตสึโกะ ชิบะ (เมกุมิ ฮายาชิบาระ ให้เสียง) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อุปกรณ์ ดีซี มินิ ที่กำลังพัฒนาเพื่อใช้บำบัด ทางจิต ด้วยการเข้าไปตีความความฝันของคนไข้
ระหว่างการวิจัย ดร.อัตสึโกะ ได้แอบใช้เครื่องมือที่ว่าในการบำบัดจิตคนไข้อย่างผิดกฎหมาย โดย “ปาปริกา” อีกภาพร่างหนึ่งของเธอจะกลายเป็น “นางในฝัน” เข้าไปคุยกับคนไข้ (นักสืบโคนะกาวา โทชิมิ-อาคิโอะ โอตสึกะ ให้เสียง) ในฝันของเขา โชคไม่ดีที่ก่อนรัฐบาลจะอนุมัติให้เครื่องมือที่คิดค้นโดย ดร.โคซากุ โทคิตะ (โทรุ ฟุรุยา) เพื่อนร่วมงานของ ดร.อัตสึโกะ สามารถใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย ในหน่วยงานก็ค้นพบว่า เครื่องมือบางชิ้นได้ถูกขโมยไป และอาจทำให้เกิดการใช้ในทางที่ผิด
ระหว่างการสืบหาว่าใครกันแน่คือ มือดีขโมยเครื่องดักความฝันไป ผู้ช่วยของ ดร.โคซากุ ก็ตกเป็นแพะในเรื่องนี้ กระนั้น ดร.อัตสึโกะ ก็ยังไม่เชื่อว่า เรื่องราวจะง่ายดายขนาดนี้ ทั้งเธอ และ ดร.โคซากุ จึงต่างเดินทางเข้าไปสืบสาวในความฝันของผู้ช่วยคนดังกล่าว ที่ใช้เครื่องดีซีมินิเกินขนาด จนตกอยู่ในอาการโคมา ดร.อัตสึโกะ ในภาพร่าง ปาปริกา ค้นพบว่าความฝันนี้ช่างอันตราย กลายเป็นฝันที่สะสม-ดูดดึงฝันของคนทั้งโลกมาไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งเป็นเพราะมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังคอยควบคุมความฝันของทุกๆ คนเอาไว้นั่นเอง
อาจจะด้วยเพราะเรื่องราวสร้างสรรค์จากนวนิยายเรื่องดัง จึงทำเนื้อหาดูหนักแน่น มีเหตุมีผลแตกต่างจากมังงะเรื่องอื่นๆ ที่อาจถ่ายทอดด้วยเรื่องราวจินตนาการที่สดใสสวยงามเพียง อย่างเดียว เรื่องราวแบบธรรมะ ชนะอธรรมยังคงเป็นอมตะและขายได้ตลอดกาล จุดพลิกผันของเรื่องแบบ น่ารักๆ รวมทั้งมุกขำๆ ต่างๆ ก็สร้าง รอยยิ้มได้บ้าง ท่ามกลางความเครียดและการลุ้นช่วยตัวเอกให้เอาชนะให้ได้ในยามคับขัน
ดนตรีประกอบเร้าใจแนวแจ๊ซ/ บิ๊กแบนด์ ของมือเก๋า อย่าง ฮิราซาวะ ซูซูมุ ซึ่งเคยร่วมงานกับ ซาโตชิ คอน ใน Millennium Actress (2001) มาแล้ว แถมคว้ารางวัลทางดนตรีมาเพียบ ก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง
นอกจากปาปริกานางในฝันแล้ว หนังเรื่อง Paprika ยังเต็มไปด้วยตัว การ์ตูนที่น่าหลงใหล โดยเฉพาะจินตนาการบรรเจิดในความฝัน เปิดโอกาสให้ ซาโตชิ คอน สามารถสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ออกมาได้หลากหลายอย่างไร้กรอบ ซึ่งเขาได้ผสมผสานตัว การ์ตูนจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นโบราณเข้ากับวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่รับมาจากตะวันตกได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ ยังเล่นกับเทคนิคภาพแบบ 2 มิติและ 3 มิติ เบื้องหน้าฉากหลังที่สดใสสวยงาม ถ่ายทอดเรื่องจริงความความฝันที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้
แน่นอนว่า คาแรกเตอร์ที่น่าหลงใหลเหล่านั้น มิได้มีเพียงด้านที่งดงามเสมอไป เฉกเดียวกับความฝันที่สวยงาม ใยจะมิกลายเป็นฝันร้ายได้เพียงชั่วข้ามคืนได้เช่นกัน

ท่องไปในความหลัง


ใครขี้ง่วง รักความตื่นเต้น หวือหวา ไม่นิยมเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่สนเรื่องยิว บอกไว้ก่อนเลยว่า ไม่ต้องไปหาเรื่อง La Petite Prairie Aux Bouleaux (หรือ The Birch-Tree Meadow) นี้มาดู ถึงคนรุ่นดึกๆ หน่อยจะเห็นชื่อของ อนุก แอมเม นักแสดงเซ็กซี่สมัยนู้น แล้วชวนให้หามาชมก็อาจจะผิดหวัง
ส่วนใครมีคุณสมบัติตรงข้ามกับที่ว่ามานี้ เราไม่ห้าม

เรื่องราวของ มีเรียม โรเซนเฟลด์ ชาวยิวผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอเดินทางจากนิวยอร์กมายังกรุงปารีส เพื่อร่วมงานชุมนุมผู้รอดชีวิตจากสงคราม มีเรียมจับสลากได้ตั๋วฟรีไปคราคาว ประเทศโปแลนด์ หลังผ่านการถกเถียงกับตัวเอง เธอก็ตัดสินใจเดินทางไปยังค่ายกักกันเอาสช์วิตซ์-เบอร์เคโน ครั้งแรกหลังจากได้รับอิสระมากว่าครึ่งศตวรรษ

บุคลิกของมีเรียมดูไม่อยู่กับร่องกับรอย เธอเดินกลับไปสู่สถานที่แห่งความอัปยศในอดีตอย่างเดียวดาย ความทรงจำในอดีต คำถามที่ค้างคา ถาโถมเข้ามารบกวนจิตใจของเธออีกครั้ง เป็นคำถามเดิมๆ ที่เธอ เฝ้าถามตัวเองตลอดระยะเวลาของ ชีวิต.... ทำไมเธอถึงรอดชีวิต? เธอมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดหรือ? ทำไมคนอื่นในครอบครัวจึงตายกันหมด? การเป็นยิวที่แท้มีความหมายอย่างไร?

ระหว่างการท่องไปในค่ายกักกันซึ่งรกร้าง เธอพบกับช่างภาพหนุ่มชาวเยอรมัน ซึ่งกำลังสร้างสรรค์ภาพถ่ายชุดค่ายกักกันเอาสช์วิตซ์-เบอร์เคโนอยู่ เขาขอให้มีเรียมเป็นแบบในภาพชุดของเขา ระหว่างที่เธอกำลังตัดสินใจจะตอบตกลง เขากลับเล่าว่า ปู่ของตัวเองเป็นอดีตเอสเอส ทำให้เธอต้องตัดสินใจลำบาก

La Petite Prairie Aux Bouleaux เล่าเรื่องอย่างเนิบนาบ ราวคำรำพึงรำพัน คล้ายเสียงกระซิบจากราวป่า อนุก แอมเม ตีบทแตกอย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะแฟนภาพยนตร์เก่าๆ ของเธอ อาจจะต้องตะลึงที่ผู้หญิงสาวสวยระดับซูเปอร์สตาร์ ที่มักเฉิดฉายในภาพหรูหรา จะมารับบทเป็นหญิงชราผู้มีความแปลกแยก (ติดจะเพี้ยนๆ) จากผลกระทบจากสงครามได้แนบเนียน โดยเฉพาะเมื่อเธอต้องเป็นศูนย์กลางของการเล่าเรื่องอย่างแท้จริง

นอกจากมาร์เซลีน ลอรีดอง-อีฟองส์ ผู้กำกับจะฉลาดในการเลือกตัวแสดงนำแล้ว เธอยังฉลาดในการเล่าประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้แตกต่างไปจากที่หลายๆ คนเคยเล่า โดย La Petite Prairie Aux Bouleaux ไม่มีฉากย้อนอดีตไปเห็นความรุนแรง ที่หน่วยเอสเอสกระทำต่อชาวยิวแม้แต่น้อย

มาร์เซลีน ให้ตัวละครของเธอท่องไปในความทรงจำ เพื่อค้นหาความหมายของชีวิต ค้นหาสิ่งที่ตกหายไปในค่ายกักกัน ค้นหาความหมายของการเป็นยิว ซึ่งแปลกแยกต่อสังคมรอบข้าง ยังมีความรักความหลังที่อยากจำกลับพร่าเลือน ส่วนที่พยายามลืมก็กลับมีบางสิ่งที่คอยตอกย้ำอยู่เสมอ

"ไม่มีอะไรเหลือให้ดูแล้วในค่ายกักกัน..." นักท่องเที่ยวที่เดิมชมค่ายเอาสช์วิตซ์-เบอร์เคโนคุยกัน

เห็นได้ชัดว่า มาร์เซลีน ในภาค มีเรียม ไม่เห็นด้วย...

ดีเทอร์ แค่อยาก (จะ) บิน




มาถ่ายทำที่เมืองไทยเมื่อ 2 ปีก่อน และมีนักแสดงไทยร่วมงานด้วยจำนวนหนึ่ง โดยสวมบทเป็นชาวลาวและชาวไทยในค่ายกักกัน – เรื่องราวได้รับความบันดาลใจจากเรื่องจริงของ ดีเทอร์ เดงเลอร์ (คริสเตียน เบล) นักบินของกองทัพเรือสหรัฐ ที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจในสงครามเวียดนาม ชื่อว่า “เรสคิว ดอว์น” (Rescue Dawn) ทว่าได้ ถูกยิงร่วง และในที่สุดก็ตกเป็นนักโทษในค่ายเชลยสงครามของเวียดกงในประเทศลาว
หนังเปิดเรื่องมาบนเรือรบ ในคลาสอบรมการเอาชีวิตรอดหากต้องหลงทางอยู่ในป่าเขตร้อน ทหารเรือทุกคนขำภาพในวิดีโอสาธิตการเอาตัวรอด หากฉากตอนทั้งหลายกำลังจะเกิดขึ้นจริงในชีวิตของดีเทอร์ ซึ่งหลังจากถูกจับได้ นำไปทรมาน และขังเอาไว้ในค่ายเชลยสงคราม อันเป็นที่ที่เขาได้เจอกับทหารอเมริกันอย่าง ดูแอน มาร์ติน (สตีฟ แซห์น) และ ยูจีน (เจเรอมี เดวิส) รวมทั้งทหารไทยและจีนที่ทำงานให้กองทัพอากาศอเมริกา โดยแต่ละรายนั้นถูกจับเป็นเชลยมาเป็นสิบๆ ปี
แล้วพวกเขาก็เริ่มวางแผนแหกค่ายกัน...
เรื่องราวไม่ได้จบลงตรงการแหกคุกสำเร็จหรือไม่ แต่ยังเล่าต่อถึงการเอาชีวิตรอดในป่าระหว่างเส้นทางหนี เช่นเดียวกับในตำราที่ดีเทอร์เรียนมา กว่าจะได้รับการช่วยเหลือจริงๆ ก็เกือบไม่มีชีวิตรอดมาเล่าประสบการณ์ให้ แวร์เนอร์ แฮร์โซก นำมาสร้างหนังได้ถึง 2 เรื่อง (เรื่องแรกเป็น สารคดีชีวิตดีเทอร์ ชื่อ Little Dieter Needs to Fly)
แม้จะทำงานร่วมกับฮอลลีวูด แต่ แวร์เนอร์ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้พอสมควร เช่นว่าการเลือกใช้ฟุตเทจภาพต่างๆ ที่เห็นได้ตั้งแต่ต้นเรื่อง เป็นภาพมุมสูงถ่ายผืนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ในลักษณะของภาพสโลว์โมชัน ที่ดูพ้องกับ คำพูดของดีเทอร์... “ถ้ามองจากอากาศ เวียดนามเหมือนไม่มีจริงสักนิด” และ “ผมไม่ได้อยากเข้าร่วมสงครามสักหน่อย ผมแค่ต้องการจะบินเท่านั้นเอง”
สำหรับบรรยากาศในค่ายเชลยสงคราม ดูเหมือนว่าแวร์เนอร์จะได้อิทธิพลจากหนังคลาสสิกเรื่อง The Bridge of River Kwai พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของมิตรภาพ ที่เกิดขึ้นระหว่างนักโทษ ท่ามกลางความ ไม่ไว้วางใจกัน รวมทั้งการเอาชีวิตให้รอด ในแต่ละวัน
เช่นเดียวกับหนังเรื่องที่ผ่านๆ มาของแวร์เนอร์ เขาให้มนุษย์ตกอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ และต้องเอาชีวิต ให้รอด
เสียดายก็แต่ตอนจบของ Rescue Dawn ที่เป็นฮอลลีวูดจ๋ามากๆ จากหนังที่คลุมโทนมาตลอดทั้งเรื่อง อาจทำให้งงว่ายังดูเรื่องเดิมอยู่หรือเปล่านี่ หรือหนังเรื่องก่อนจบไปแล้วตั้งแต่ดีเทอร์ได้รับการช่วยเหลือขึ้นเฮลิคอปเตอร์
กับบทบาทของดีเทอร์ ซึ่งเกิดที่เยอรมนีช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะอพยพมาอยู่อเมริกา ทำให้เขาเข็ดขยาดสงคราม แต่กลับต้องถูกเกณฑ์มาเข้าร่วมกองทัพ ไม่ต่างจากทหารอเมริกันรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ต้องการเข้าร่วมสงครามสักหน่อย หากวัตถุประสงค์ในการเป็นทหารของดีเทอร์ คือ เพื่อที่จะได้ “บิน” การแสดงแบบเมธอดของคริสเตียน นับว่าเป็นอีกผลงานมาสเตอร์พีซของเขาทีเดียว
ภาพรวมของหนังดูสนุกและสอบผ่าน แม้ว่าในขณะที่หนังเรื่องนี้ออกฉายที่อเมริกา จะมีญาติและอดีตนักโทษไทยที่เคยอยู่ในค่ายเชลยสงครามเดียวกันนี้ ออกมาโต้ แวร์เนอร์ว่า ข้อมูลหลายอย่างที่ปรากฏในหนังไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะบุคลิกแบบไม่อยู่กับร่องกับรอยของยูจีนในเรื่อง ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น (ไปอ่านได้ที่
www.rescuedawnthetruth.com)
“ความจริง” กับ “ความฮอลลีวูด” คงจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน