วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความจริง ความฝัน และ ความสุข

* * * * * * * * * *
Northfork (2003)
ประเภท ดรามา แฟนตาซี
เรต PG-13 สำหรับฉากเซ็กซ์สั้นๆ
ความยาว 103 นาที
ภาษา อังกฤษ
เขียนบท มาร์กและไมเคิล โพลิช
กำกับ ไมเคิล โพลิช
แสดง เจมส์ วูดส์ /นิค โนลตี้/ ดูเอล ฟาร์นส์ /มาร์ก โพลิช /ดารีล ฮันนาห์ /โรบิน ซาชส์ /เบน ฟอสเตอร์ / แอนโธนี เอ็ดเวิร์ดส์
* * * * * * * * * *

Northfork (2003) โดดเด่นในแง่ของความเป็นหนังอาร์ต โดยได้รับเชิญไปเข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ นอกจากนี้ ผู้กำกับ อย่าง ไมเคิล โพลิช ยังได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์โดวิลล์ รวมทั้ง ได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม (เอ็ม. เดวิด มุลเลน) จากเวที อินดีเพนเดนต์ สปิริต อะวอร์ดส์ ที่อเมริกา และชนะรางวัล ผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังนานาชาติ กรุงเอเธนส์

ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 50 ดินแดน นอร์ธฟอร์ก ในรัฐมอนทานา ได้มีการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้า และกำลังจะปล่อยให้พื้นที่ของทั้งเมืองจมลงสู่ใต้น้ำในเวลา 2 วันข้างหน้า ทางการได้จัดให้มีการอพยพผู้คนออกไปจากพื้นที่ แม้แต่ศพในสุสานก็ยังต้องแจ้งญาติมาย้ายออกไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม

เหลือเพียงชาวบ้านไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้นที่ยืนกรานไม่ยอมย้ายไปไหน

หกสุภาพบุรุษในชุดดำ ต้องเข้ามาปฏิบัติภารกิจเคลียร์ผู้คนออกจากพื้นที่ ก่อนที่สายน้ำจะกลืนเมืองและชีวิตของพวกเขา ในจำนวนนี้ มีครอบครัวหนึ่งที่ยึดมั่นในสัญญาณจากพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาสร้างบ้านเป็นรูปเรือ เลียนแบบเรือโนห์อาในพระคัมภีร์ไบเบิล ด้วยเชื่อว่า บ้านเรือจะทำให้เขารอด ส่วนอีกรายนั้น ถึงขั้นตอกขาตัวเองติดเอาไว้กับพื้นบ้าน

เรื่องราวการอพยพผู้คนในความเป็นจริง ดำเนินควบคู่ไปกับความฝันของ เออร์วิน (ดูเอล ฟาร์นส์) เด็กกำพร้าที่กำลังจะตาย บาทหลวงฮาร์ลัน (นิค โนลตี้) ผู้เลี้ยงดูเออร์วิน ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า สอนให้เชื่อว่า เขาคือ ทูตสวรรค์ มิใช่เพียงเด็กป่วยซึ่งไร้ค่า

เด็กน้อยที่ทำได้เพียงยกเท้ากระดิกไปมาบนเตียง ฝันว่า เขาคือ ทูตสวรรค์ที่หายไปจากภาพวาดสมัยโกธิค ที่ ถ้วยชา (โรบิน ซาชส์) ดอกไม้ (ดารีล ฮันนาห์) น้ำมันตับปลา (เบน ฟอสเตอร์) และความสุข (แอนโธนี เอ็ดเวิร์ดส์) กำลังค้นหา

ปีกทูตสววรค์ของเขานั้นได้รับการถอดออกเมื่อเดินทางมายังโลกมนุษย์ แต่เขายังเก็บมันไว้ และพร้อมที่จะเดินทางกลับสวรรค์ได้ทุกเมื่อ

ขณะเดียวกัน ผู้คนก็กำลังเดินทางออกจากดินแดนที่สิ้นหวังแห่งนี้ น่าแปลกที่เรื่องราวของความจริงและความฝัน เดินทางมาพบกัน ณ บ้านหลังสุดท้าย เมื่อ วอลเตอร์ โอเบรียน (เจมส์ วูดส์) ได้เข้าสู่ภาวะระหว่างสวรรค์กับนรก

สองพี่น้องตระกูลโพลิช เคยเป็นที่รู้จักจากผลงานหนังอินดี้ เรื่อง Twin Fall Idaho และ Jackpot ทั้งมาร์กและไมเคิล ทำงานร่วมกันเสมอ เช่นเดียวกับพี่น้องผู้กำกับและเขียนบทอีกหลายคู่ ไม่ว่าจะเป็น พี่น้องตระกูลโคเอ็น หรือพี่น้องตระกูลวาคอว์สกี

สำหรับหนังเรื่องนี้ดูเหมือนว่า มาร์กและไมเคิล จะได้รับอิทธิพลอย่างสูง จากผลงานมากมายของยอดผู้กำกับ อย่าง เดวิน ลินช์ หรือ เฟเดอริโก เฟลลินี ในการสร้างหนังที่ดูแล้วให้ความรู้สึกแปลกประหลาด (ลินช์) รวมทั้งหนังที่มีเนื้อหาคาบเกี่ยวกับเรื่องของความเป็นและความตายในแนวแฟนตาซีเหนือจริง (เฟลลินี) แม้เรื่องราวในหนังจะไม่มีอะไรมากมายไปกว่า ภารกิจการอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนออกจากเมือง และความฝันอันมากด้วยจินตนาการของเด็กน้อย ทว่า บทภาพยนตร์ของสองพี่น้องโพลิชก็สอดแทรกเรื่องราวของความเป็นและความตายเอาไว้อย่างได้จังหวะจะโคน และน่าดูด้วยความไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป

หนังหลายเรื่องอาจบอกเล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา ต่างจาก Northfork ซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศแปลกๆ โทนสีเทาหม่นหลากหลายเฉดในหนัง นอกจากจะช่วยเน้นความเป็นหนังอาร์ตมากยิ่งขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นการถ่ายทอดอารมณ์จากภาวะที่ขาดความชัดเจนของตัวละครในเรื่อง

พี่น้องโพลิชสร้างสัญลักษณ์มากมายในหนังของเขา ไม่ว่าจะเป็น ตัวประหลาดคล้ายสุนัขทำด้วยไม้ นักวิเคราะห์ตาบอด รวมทั้งความสุขที่มีตัวตนในความฝัน แม้ว่า สัญลักษณ์ในหนังอาจจะไม่ได้ลึกซึ้งเท่าหนังที่ขึ้นทำเนียบคลาสสิกของ เฟลลินี และไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนวุ่นวายขนาดหนังของลินช์ แต่ก็ทำให้ Northfork กลายเป็นหนังที่มีเสน่ห์น่าดูมากเรื่องหนึ่ง

อารมณ์ในหนังเรื่องนี้ ให้ทั้งกลิ่นอายแห่งยุคโกธิค ยุคฟิฟตี้ส์ รวมทั้งให้ความรู้สึกร่วมสมัยไปในเวลาเดียวกัน หลายคนที่ได้ดูอาจจะเห็นว่า หนังเรื่องนี้ช่างเนิบนาบน่าเบื่อเสียจริง คงด้วยเพราะเสียงดนตรีประกอบที่คล้ายเพลงกล่อมเด็ก อันตอบรับกันได้ดีกับจังหวะของหนังที่เนิบช้า เช่นการอยู่ในห้วงแห่งความฝัน

Northfork อาจไม่ใช่หนังยอดนิยมในดวงใจของคนหมู่มาก แต่สำหรับคนที่ต้องการเสพอารมณ์ที่แปลกแตกต่าง

การชม Northfork เหมือนเราได้นอนหลับฝันไป และเป็นฝันอันแสนหวาน ฝันที่เราเป็นคนอีกคน และได้ผจญภัยในโลกใหม่ ที่มีทั้ง น้ำชา ดอกไม้ และความสุข

วาดภาพชีวิตจริง การาวาจโจ


* * * * * * * * * *
Caravaggio
ปี 1986
ประเทศ อังกฤษ
ภาษา อังกฤษ/อิตาเลียน/ละติน
ประเภท ชีวิต
เรตติง R (ภาษา/เนื้อหาเรื่องเพศ/ ความรุนแรง)
ความยาว 89 นาที
กำกับ เดอเรค จาร์มาน
แสดงนำ ไนเจล แทร์รี/ฌอน บีน/สเปนเซอร์ ลีห์/ทิลดา สวินตัน/ไมเคิล กูห์
* * * * * * * * * *

ดูเหมือนจะเป็นแบบฉบับของการเล่าเรื่องราวประวัติชีวิตบุคคลสำคัญบนแผ่นฟิล์มเสียแล้ว ที่ต้องเบิกโรงด้วยฉากตอนที่เขาและเธอเหล่านั้นกำลังจะตาย เช่นเดียวกับ Caravaggio ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของจิตรกรคนสำคัญชาวอิตาเลียนมิเคลังเจโล เมริซี ดา การาวาจโจ ของผู้กำกับชาวอังกฤษ ที่เปิดเรื่องที่ฉากห้องเช่าอันทรุดโทรมแห่งหนึ่งใกล้ท่าเรือของเมืองทัสกานี ที่ยอดจิตรกร(แสดงโดย ไนเจล แทร์รี) กำลังจะปิดฉากชีวิตตัวเองลงในสภาพไม่ต่างกับยาจก มีเพียงเยรูซาเลเม (สเปนเซอร์ ลีห์) ชายใบ้ที่เขาชุบเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก คอยเฝ้าไข้อยู่ลำพัง

ระหว่างกำลังนอนซมไม่รู้สึกตัวอยู่บนเตียงคนป่วยในสภาพใกล้ตายเต็มที ทว่าจิตใต้สำนึกของมิเคลังเจโล เมริซี ดา การาวาจโจ ศิลปินเจ้าของฉายา "เจ้าชายแห่งความมืด" ชาวอิตาเลียนยังคงโลดแล่นกลับไปทบทวนเรื่องราวในอดีต แล้วฉากตอนสำคัญๆ ในชีวิตของเขาตั้งแต่วัยเด็กก็ค่อยๆ ผุดขึ้นมาพร้อมกับความทรงจำ นับตั้งแต่ยังเป็นเด็กเร่ขายศิลปะริมถนน จนกระทั่งต้องหนีมาโรมด้วยข้อหาฆาตกรรม โดยมีพระคาร์ดินาล เดล มอนเต (ไมเคิลกูห์) เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ

เดอเรค จาร์มาน ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับ รานุกโช โตมาโซนี (ฌอน บีน)เป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่ในประวัติส่วนตัวมักจะอ้างถึงเอาไว้ว่า เป็นคนที่การาวาจโจฆ่าตายโดยความบังเอิญในการต่อสู้หลังเกมเทนนิสเท่านั้น หากใน Caravaggio เวอร์ชันผู้กำกับอังกฤษเล่าว่า ยอดจิตรกรปิ๊งรานิกโช ชายกุ๊ยข้างถนนผู้มีรูปร่างหน้าตาดีตั้งแต่แรกเห็น และเขาก็กลายเป็นแบบให้การาวาจโจวาดภาพหลายๆ ภาพ เริ่มจากการว่าจ้างจนกระทั่งกลายเป็นขาประจำ

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายแห่งความมืดกับรานุกโช เป็นแบบรักสามเส้า โดยมีเลนา (ทิลดา สวินตัน) แฟนสาวของรานุกโชอยู่ในทุกเหตุการณ์ เธอเองก็เป็นหนึ่งในนางแบบสำคัญของศิลปินอิตาเลียนชื่อดังเช่นกัน ทั้งในหนังเรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในตัวแปรของโศกนาฏกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น

สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักเรื่องราวของ มิเคลังเจโล เมริซี ดา การาวาจโจ มาก่อนหากคิดจะมาศึกษาจากหนังเรื่องนี้คงจะไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร นอกจากคำตอบที่ว่า ทำไมภาพวาดของเขาจึงเต็มด้วยผู้ชายหน้าตางามๆ เต็มไปหมด

แต่หากรู้จักมาในระดับหนึ่งแล้วก็จะได้พบกับมุมมองใหม่ๆ เหตุเบื้องหลังภาพวาดสำคัญๆ ต่างๆ ที่อาจจะแตกต่างออกไปจากเวอร์ชันที่เคยรับรู้มา ไม่ว่าจะเป็นภาพ Bacchus, Boy with Basket of Fruits, The Lute Player, Saint John the Baptist, Maria Magdalene, Amor Vincit Omnia หรือ Death of the Virgin

ในหนังยังปรากฏภาพเขียนชื่อดังของเขาอีกมากมาย ทั้งที่เป็นภาพเขียน และการที่เดอเรคนำเอามาเลียนแบบเป็นฉากต่างๆ ในการเล่าเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็น Medusa, Saint Gerolamo, The Entombment of Christ เป็นอาทิ

เรื่องเล่าของคนกำลังเพ้อใกล้ตาย จะให้ประติดประต่อชัดเคลียร์ ก็คงไม่สมกับเป็นเรื่องจริงของจิตรกรที่วาดแต่ภาพความจริง เช่น มิเคลังเจโล เมริซี ดาการาวาจโจ

วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อิสรภาพจากความกลัว

* * * * * * * * * *
Hunger
ปี 2008
ประเทศ อังกฤษ
ภาษา อังกฤษ
ประเภท ชีวิต
เรตติ้ง R (ความรุนแรง/ภาพเปลือย/ภาษา)
ความยาว 96 นาที
กำกับ สตีฟ แมคควีน
นำแสดง ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์/เลียม คันนิงแฮม/สตวร์ต แกรห์ม/เลียม แมคมาฮอน/ลาลอร์ รอดดี/อารอน โกลด์ริง
* * * * * * * * * *

เหตุการณ์ประท้วงอดอาหารในคุกเมซ ซึ่งผู้ต้องขังเป็นนักโทษการเมืองชาวไอร์แลนด์เหนือ ที่รู้จักกันในชื่อ Hunger Stike ปี 1981 นำโดยสมาชิกไออาร์เอ บ๊อบบี ซานด์ส กลายป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของศิลปินชาวอังกฤษ สตีฟ แมคควีน เขาทั้งเขียนบท (ร่วมกับเอนดา วอลช์) และกำกับเอง จนได้รางวัลปาล์มทองคำ ผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาครอง

นอกจากนั้นยังคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมหลายเวที ตั้งแต่เทศกาลภาพยนตร์ซิดนีย์ อีฟนิง สแตนดาร์ด บริทิช ฟิล์ม อวอร์ด เวทีบาฟตา ฯลฯ

หนังเปิดเรื่องขึ้นมาที่บ้านของคนคุมนักโทษ (สตวร์ต แกรห์ม) เขากำลังอาบน้ำ ล้างหน้า แต่งตัว และกินอาหารเช้าก่อนออกไปทำงาน มือของเขาเต็มไปด้วยรอยแผล

ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใคร บาดแผลของเขาได้มาจากไหน ทำไมเขาจึงต้องระแวดระวังขนาดนั้นก่อนออกจากบ้าน จนกระทั่งตามเขาไปที่ทำงาน ดูการทำงานของเขา

นักโทษคนใหม่เพิ่งถูกส่งตัวมายังเรือนจำเมซ เขาปฏิเสธที่จะสวมชุดนักโทษ เจ้าหน้าที่จึงให้เขาถอดเสื้อผ้าออกหมดและมอบผ้าห่มให้ปกปิดร่างกายเพียงผืนเดียว

ในห้องขังมีนักโทษอีกคนอยู่แล้ว ในสภาพผมยาวหนวดเครารุงรัง ห้องขังที่มีเพียงแสงสว่างจากหน้าต่างบานเล็กๆ ฝาผนังเลอะเทอะไปด้วยงานศิลปะที่สร้างสรรค์จากเศษอาหารและของจากการขับถ่าย

สตีฟ แมคควีน ค่อยๆ ให้เหตุการณ์เล่าเรื่อง ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการประท้วงอดอาหาร โดยเริ่มต้นด้วยการประท้วง "ไม่สวมเสื้อผ้านักโทษ" "ไม่อาบน้ำ" "ทำห้องขังเลอะเทอะ" "ราดฉี่ออกมาบนพื้น" (ฺBlanket & Dirty) เจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามจะทำลายการประท้วงของนักโทษการเมืองเหล่านี้ ด้วยการจับพวกเขาออกไปอาบน้ำตัดผม – แต่ก็เป็นการปฏิบัติระหว่างผู้คุมที่ไร้ความปรานีต่อนักโทษหัวรุนแรงทั้งหลาย ที่แน่นอนว่าไม่ได้เป็นไปอย่างราบเรียบและไม่เกิดการเลือดตกยางออก

หนังเปิดตัวบ๊อบบี ซานด์ส (ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์) ถูกลากออกไปอาบน้ำตัดผมแบบทุลักทุเล -- ตอนนั้นเป็นเวลา 7 เดือน ก่อนที่ผู้นำขบวนการอย่างเขาจะอดอาหารประท้วงจนเสียชีวิต

นักโทษการเมืองที่มาจากขบวนการไออาร์เอเหล่านี้ ดูเหมือนจะรู้จักกันหมด ในการพบปะญาติ พี่น้อง แต่ละคนทักทายกันอย่างสนิทสนม เช่นเดียวกับการเข้าฟังบาทหลวงเทศน์วันอาทิตย์ แต่ละคนต่างจับกลุ่ม จับคู่คุยเสียงเซ็งแซ่ แม้ว่าจะถูกแยกขังในคุกทั้งแคบ ทั้งมืดและสกปรกด้วยจิตรกรรมฝาผนังจากสิ่งปฏิกูล

ไฮไลต์ของหนังให้ความสำคัญไปที่ช็อตการพูดคุยเรื่องอุดมการณ์ระหว่างบ๊อบบี และบาทหลวง (เลียม คันนิงแฮม) ที่พยายามมาเกลี้ยกล่อมให้เขาเลิกอดอาหารประท้วง ยาว 17 นาที ทว่าไม่ประสบผล (และค่อนข้างจะเป็นซีนที่น่าเบื่อไปหน่อย)

ในหนังเราจะได้เห็นพัฒนาการทางร่างกายของไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์ นักแสดงนำ ตั้งแต่รูปร่างบึกบึนล่ำบึก และค่อยๆ ผอมลงในระหว่างการอดอาหารกว่า 3 เดือน กระทั่งระบบร่างกายล้มเหลวทุกอย่าง

ใน The Troubles หรือ "ปัญหา" ระหว่างขบวนการกู้ชาติไออาร์เอกับอังกฤษอันยืดเยื้อยาวนานกว่า 20 ปีก่อนหน้าเหตุการณ์ในหนัง มีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติการอย่างกองโจรไปแล้วหลายพันคน เมื่อรัฐบาลอังกฤษสมัยมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ดำเนินนโยบายแข็งกร้าว เพื่อจัดการกับขบวนการปลดปล่อยไอร์แลนด์เหนือ หรือไออาร์เอ

เช่นเดียวกับสมาชิกขบวนการกู้ชาติฯ ที่ไม่ต้องการให้ผู้คนและประเทศที่ตัวเองถือว่ามีเอกราชเต็มขั้น ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของอีกฝ่าย ทั้งคู่จึงเหมือนน้ำกับน้ำมันที่ไม่สามารถจะผสมผสานกลมเกลียวกันได้

แม้ในมุมมองของสตีฟ แมคควีน จะให้ทางฝ่ายอังกฤษตกเป็นผู้ร้าย แต่เขาก็ไม่ได้ถึงกับป้ายสีดำสนิทไปยังฝ่ายนั้นเสียทีเดียว เขาให้บทบาทเจ้าหน้าที่เรือนจำคนเปิดเรื่องเป็นคนที่ไร้สุข ขณะที่เด็กหนุ่มรุ่นใหม่ในหน่วยปราบจลาจลบางราย ก็ไม่ต้องการทำร้ายนักโทษอย่างรุนแรงเช่นคนอื่นๆ

พวกเขาถึงกับต้องหลั่งน้ำตาเมื่อเห็นการกระทำอันรุนแรงป่าเถื่อนของพวกเดียวกัน...

ในฐานะที่เป็นจิตรกร สตีฟอาศัยสัญลักษณ์จากงานศิลปะมากมายในหนังเรื่องนี้ เช่น ศิลปะบนฝาผนังจากสิ่งปฏิกูลรูปวงกลมซ้อนๆ กัน นอกจากจะสื่อถึงความสับสนวุ่นวายแล้ว เมื่อจ้องมองไปที่รูปภาพก็ช่างคล้ายกับอุโมงค์ที่อาจจะนำไปสู่อิสรภาพ

สำหรับนักดูหนังบ้านเราที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับขบวนการกู้ชาติของอีกฟากโลก อาจจะตั้งคำถามว่า การประท้วงจนเสียชีวิตของบ๊อบบี ซานด์ส และเพื่อนร่วมขบวนการอีก 7 รายใน Hunger Stike ครั้งนั้นได้รับชัยชนะหรือว่าตายฟรี

หนังที่จบลงอย่างสวยงามด้วยอิสรภาพที่ได้รับจากความตายของบ๊อบบี ไม่ได้ให้คำตอบเอาไว้ ต้องไปพลิกหน้าประวัติศาสตร์อ่านต่อกันเอาเอง ถึงนโยบายที่อ่อนลงโดยทันใดของอดีตนางสิงห์แห่งอังกฤษ

เพียงเถ้าธุลี

* * * * * * * * * *
Little Ashes
ปี 2009
ประเทศ อังกฤษ
ภาษา อังกฤษ/สเปน/ฝรั่งเศส
ประเภท ชีวิต/ชีวประวัติ/รัก
เรตติ้ง R (สำหรับภาษาไม่เหมาะ/เนื้อหาเรื่องเพศ)
ความยาว 1 ชั่วโมง 37 นาที
กำกับ พอล มอร์ริสัน
นำแสดง ฆาเบียร์ เบลทรัน/โรเบิร์ต แพตตินสัน/แมทธิว แมคนัลตี/มารินา กาเตลล์
* * * * * * * * * * *

ความลับในความสัมพันธ์แบบพิเศษพิสดารของยอดอัจฉริยะหนุ่มชาวสเปน 3 คน ได้แก่ กวีและนักเขียน เฟเดริโก การ์เซีย ลอร์กา (ฆาเบียร์ เบลทรัน) จิตรกรเซอร์เรียลิสต์ ซัลบาดอร์ ดาลี (โรเบิร์ต แพตทินสัน) และยอดผู้กำกับ หลุยส์ บูยูเอล (แมทธิว แมคนัลตี) ที่อาจไม่เคยมีใครล่วงรู้กระทั่งวาระสุดท้ายในของชีวิตพวกเขา

ย้อนไปในปี 1922 สเปนกำลังตกอยู่ใต้เงาของลัทธิชาตินิยม พร้อมๆ การหลั่งไหลเข้ามาของดนตรีแจ๊ซ ความคิดแบบปรัชญาฟรอยด์ และอาวองต์-การ์ด ซึ่งรัฐบาลขวาจัดเห็นว่าเป็นสิ่งต้องห้ามทั้งสิ้น

ซัลบาดอร์ ดาลี ในวัย 18 ปี เพิ่งถูกส่งเข้ามาอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย ท่าทางประหลาดๆ ภายใต้บุคลิกแสนขี้อาย รวมทั้งผลงานที่โดดเด่นของเขา สร้างความประทับใจให้เฟเดริโก การ์เซีย ลอร์กา และหลุยส์ บูยูเอล ในที่สุดพวกเขาก็กลายเป็น 3 ทหารเสือที่ไปไหนไปด้วยกัน และเป็นกลุ่มคนหนุ่มที่มีความคิดทันสมัยแห่งกรุงมาดริด

เวลาผ่านไป ซัลบาดอร์เริ่มตกหลุมเสน่ห์อันล้นเหลือของเฟเดริโก ซึ่งแม้ว่าเขาจะมีแฟนสาวนักเขียน อย่าง มักดาเลนา (มารินา กาเตลล์) อยู่ข้างกายแล้ว ก็ยังแอบปันใจมาให้ชายหนุ่มผู้กำลังจะกลายเป็นศิลปินสุดเซอร์ในอนาคต

หนังเล่าเรื่องให้เฟเดริโกค่อยๆ สร้างชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆในฐานะกวีและนักเขียน ขณะที่หลุยส์เองก็ทำตามความฝันจะทำหนังอาร์ตของตัวเองด้วยการไปทำงานในกรุงปารีส

ระหว่างปิดเทอมภาคฤดูร้อนเฟเดริโกและซัลบาดอร์ไปใช้วันหยุดร่วมกันที่กาดาเกส เมืองชายทะเลแห่งหนึ่งของสเปน แล้วทั้งคู่ก็ค้นพบกันและกันในความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดา ซึ่งจะทำให้เพื่อน 3 คน กับผู้หญิงอีกหนึ่งรายไม่มีทางจะเหมือนเดิมอีกต่อไป ก่อนที่ซัลบาดอร์จะรู้สึกว่าเฟเดริโกผูกพันกับเขามากจนเกินไป และตัดสินใจย้ายตามหลุยส์ไปยังกรุงปารีส

เวลาผ่านไปชายหนุ่มคนหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางแวดวงไฮโซในกรุงปารีส กับชายอีกคนอยู่ในแวดล้อมของชีวิตที่ขาดเสรีภาพทางการเมืองก็ไม่อาจที่จะปรองดองกันได้ ความสัมพันธ์ของพวกเขาจะถูกฝังไปพร้อมร่างที่ย่อยสลายเป็นผุยผง

Little Ashes มาจากชื่อภาพเขียนของซัลบาดอร์ ดาลีที่เรียกในภาษาสเปนว่า Cenicitas (วาดเมื่อ 1927-1928 ขณะนี้อยู่ในศูนย์ศิลปะสมเด็จพระราชินีโซเฟีย) ในหนังแสดงให้เห็นที่มาของภาพ ที่วาดระหว่างที่ซัลบาดอร์และเฟเดริโกไปพักผ่อนชายทะเลด้วยกัน

ข่าวลือหนาหูในฐานะที่ชายหนุ่มทั้งคู่เป็นคนดังผู้นำความคิดระดับหัวแถวในสายของตัวเอง เฟเดริโกเสียชีวิตโดยกลุ่มคลั่งการเมืองขวาจัดตั้งแต่ยังหนุ่มและอนาคตไกล ขณะที่ซัลบาดอร์ยังคงต้องอยู่ท่ามกลางหมอกควันแห่งความสัมพันธ์ของพวกเขา

หนังสร้างตามบทให้สัมภาษณ์ของศิลปินเซอร์เรียลิสต์ครั้งหนึ่งที่พูดถึงเฟเดริโกว่า เป็นโฮโมเซ็กชวลขณะที่ตัวเขาไม่ใช่ ทั้งคู่รักกัน แต่ซัลบาดอร์กลัวความสัมพันธ์แบบนั้นจึงหนีไป แต่ก็มิอาจหนีความจริงในใจ ได้แต่อยู่ในโลกที่ไม่จริงไปตลอดเช่นเดียวกับศิลปะของเขา

หลายๆ คนเกลียดหนังเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ พอล มอร์ริสัน พยายามอาศัยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบสารคดีมาสนับสนุนมุมมองที่เขามาต่อ 3 ยอดคนในยุคทศวรรษที่1920-1930 ให้ดูเป็นจริงที่สุด ส่วนหนึ่งอาจเพราะการจับโรเบิร์ต แพตทินสัน มาแสดงเป็นชายหนุ่มบุคลิกลอกแลกและเห็นแก่ตัว

หนังเน้นเล่าความสัมพันธ์และความรู้สึกของชายหนุ่ม2 คนมากกว่าจะเล่าเรื่องอื่นๆ รอบข้าง แถมยังน่าแปลกที่นำเสนอฟุตเทจจากหนังหลายเรื่องของหลุยส์ บูยูเอล มากกว่าบทกวีของเฟเดริโก การ์เซีย ลอร์กา และภาพเขียนของซัลบาดอร์ ดาลี เสียอีก

การไม่ได้เล่าอะไรลึกๆ ในอารมณ์ความรู้สึกและความสัมพันธ์ของ 2 หนุ่ม ทำให้หนังเรื่องนี้ยังดูอ่อนไปสักนิด แต่สำหรับคนที่ไม่เคยรู้เบื้องหลังเบื้องลึกในความสัมพันธ์ของเขาทั้งคู่ก็อาจจะได้เปิดมุมมองใหม่ๆ

ใครไม่ชอบดูหนังเกย์หรือรับไม่ได้ ขอจงอยู่ให้ห่างๆ ก็แล้วกันนะ

เรื่องเล่าในเงาจันทร์


* * * * * * * * * *
Moon
ปี 2009
ประเทศ อังกฤษ
ภาษา อังกฤษ
ประเภท ชีวิต/สยองขวัญ/ลึกลับ/วิทยาศาสตร์
เรตติ้ง R (ความรุนแรง/ฉากโป๊/ภาษา)
ความยาว 97 นาที
กำกับ ดันแคน โจนส์
แสดงนำ แซม ร็อกเวลล์/เควิน สเปซีย์
* * * * * * * * * *

จะทำอย่างไร เมื่อตัวคุณไม่ใช่ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำดีๆ หรือว่าอะไรก็ตาม...

เจ้าของรางวัลหนังอินดี้อังกฤษยอดเยี่ยมแห่งปี 2009 -- Moon ผลงานกำกับของลูกชายเดวิด โบวี -- ดันแคน โจนส์ เล่าเรื่องของ แซม เบลล์ (แซม ร็อกเวลล์) นักบินอวกาศอเมริกัน ซึ่งไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์เพียงลำพัง ร่วมกับ เกอร์ตี (เควิน สเปซีย์-ให้เสียง) หุ่นยนต์ผู้ช่วย

สัญญาของแซม เบลล์ ในการขุดหาฮีเลียม-3 กับบริษัทลูนาร์ ยาวนาน 3 ปี ถึงเวลาแล้วที่เขาจะได้กลับบ้านไปหาภรรยาและลูกสาว ซึ่งขณะที่เขาจากมานั้น เทสส์ (โดมีนิก แมกเอลลิกอต) ภรรยาของเขากำลังท้องแก่ใกล้คลอด

ภาพในวิดีโอติดต่อกับระหว่างแซมและเทสส์บอกเล่าว่า อีฟ ลูกสาวของพวกเขาโตจนเริ่มพูดได้ แซมตั้งหน้าตั้งตานั่งนับวันรอคอยการจะได้กลับบ้าน ทว่า ระหว่างนั้นเขากลับขับรถถังอัตโนมัติ "ซาราง" (ภาษาเกาหลีแปลว่า "รัก") ไปชนเข้ากับเครื่องขุดหาแร่ฮีเลียม-3 พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาอีกที แซมก็ตกเป็นคนไข้ในความดูแลของเกอร์ตี

ทุกอย่างแปลกไปหมด เหมือนไปเริ่มต้นใหม่ เมื่อแซมขับรถถังซารางออกไปสำรวจ ก็พบกับรถถังคันที่เกิดอุบัติเหตุจอดเกยรถขุดแร่อยู่ที่เดิม หากเมื่อเขาเข้าไปดูกลับพบร่างของตัวเองอยู่ในนั้น

ทั้ง 2 แซม ต่างกล่าวหากันว่า อีกฝ่ายเป็น "โคลน" หลังการทะเลาะเบาะแว้งต่อยตีกันพอสมควรแซมที่ 2 ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ตัวตนของทั้งคู่อาจจะไม่มีจริง สองแซมจึงหันมาร่วมมือกันเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนั้น

แม้จะอยู่บนดวงจันทร์มาแล้วเป็นเวลา 3 ปี แต่ยังมีอีกหลายมุมของดาวดวงนี้ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นห้องลับๆ ที่ฐานปฏิบัติการ ซึ่งเขาไม่เคยสงสัยว่ามีอยู่ ก่อนหน้าที่จะปรากฏว่า มีแซมถึง 2 คน

แซม 1 เริ่มป่วยและประสาทจากสิ่งที่เขาค้นพบมากขึ้นทุกที เขาต้องค้นหาความจริงด้วยการแอบไปโทร.กลับโลกด้วยแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์นอกฐานปฏิบัติการ

ความจริงที่ค้นพบไม่ใช่สิ่งที่เขาคาดหวังไว้แม้แต่น้อย...

นับตั้งแต่หนังอวกาศคลาสสิกที่สร้างจากนิยายดัง อย่าง 2001 : A Space Odyssey ที่สแตนลีย์ คิวบริก สร้างจากหนังสือของอาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก เรื่อง Journey Beyond the Stars มนุษย์กับอวกาศซึ่งคือความฝันอันสูงสุดของอเมริกาสมัยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ดูเหมือนจะเป็นฝันร้ายเสียมากกว่า

ดันแคน ดูจะได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวเหล่านี้ไม่น้อย ในหนังของเขายังย้ำเตือนความเชื่อในเงาหลอนแห่งอวกาศ ด้วยการให้แซมตัวเอกดูหนัง อย่าง Silent Running (1972) Solaris (1972) Alien (1979) และ Outland (1981) ที่มีเนื้อหาในแนวสยองของอวกาศระหว่างเวลาพักผ่อนของเขา

อวกาศคล้ายเป็นโลกอีกคนละมิติกับโลกมนุษย์ ที่เต็มไปด้วยเงาดำของความลวง ไม่ชัดเจนว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ ในที่สุดแม้แต่ตัวตนของคนที่มีความรู้สึกนึกคิด มีเลือดมีเนื้อ มีเรื่องราวปูมหลัง ก็ยังกลับกลายเป็นเรื่องปลอม

แม้ว่าเนื้อหาจะไม่ได้มีอะไรใหม่มากมายนักในหนังเกี่ยวกับคนและอวกาศ แต่ถ้านับว่า เป็นผลงานชิ้นแรกของผู้กำกับหนุ่มก็ถือว่าไม่เลวทีเดียว

เมื่อคามุย ไม่อยากเป็นนินจา


* * * * * * * * * *
Kamui Gaiden
ปี 2009
ประเทศ ญี่ปุ่น
ภาษา ญี่ปุ่น
ประเภท ชีวิต/บู๊
เรตติ้ง R (ภาพความรุนแรง/การต่อสู้)
ความยาว120 นาที
กำกับโยอิชิ ซาอิ
แสดงนำ เคนอิชิ มัตซึยามา/โคยูกิ/คาโอรุ โคบายาชิ /ฮิเดอากิ อิโต/โคอิชิ ซาโตะ/ซูสุกะ โอโกะ
* * * * * * * * * *

เด็กรุ่น 30 กว่าปีก่อน โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ไม่มีใครไม่รู้จัก "คามุย ยอดนินจา" ซีรีส์หนังการ์ตูนเป็นตอนๆ ที่เล่าเรื่องของนินจาผู้เก่งฉกาจ หาตัวจับยากในสมัยสังคมศักดินาของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุให้คามุยฝึกเป็นนินจา เพราะต้องการจะปลดแอกครอบครัวและคนในหมู่บ้านที่ยากจนให้อยู่ดี กินดีขึ้น

Kamui Gaiden นำคาแรกเตอร์นินจาผู้เป็นตำนานในการ์ตูนมา สร้างเป็นเวอร์ชันคนจริง หนังเริ่มต้นเล่าเรื่องจากภาพเขียนในตำหนักโชกุนที่เล่าเรื่องของนินจาคามุยตั้งแต่เด็ก บนภาพวาดดังกล่าวเล่าเรื่องราวตลอดทั้งชีวิตของเขา...

คามุย (เคนอิชิ มัตซึยามา) เกิดในครอบครัวยากจนในสมัยสังคมศักดินา เขาทนไม่ได้ที่คนในหมู่บ้านต้องตกเป็นทาส จึงเริ่มฝึกฝนวิชานินจา เพื่อที่จะสามารถแข็งข้อต่อการกดขี่ของผู้ปกครอง

ประเด็นๆ หลักของเนื้อหามาถึงตอนที่ คามุย (เคนอิชิ มัตซึยามา) ไม่ต้องการเป็นนินจาอีกต่อไปแล้ว เขาอยากกลับไปใช้ชีวิตธรรมดาๆ เป็นชาวประมงในหมู่บ้านซึ่งเขาเคยอยู่ตั้งแต่ครั้งยังเด็ก แต่โชคชะตาไม่ปล่อยให้เขาทำเช่นนั้น

ศัตรูที่เขาสั่งสมมาตั้งแต่วัยเยาว์ยังคงไม่ลืมอดีตง่ายๆ ไหนจะทางการที่ต้องการกวาดล้างนินจาฝ่ายปรปักษ์ให้สิ้นซาก แล้วยังจะชีวิตแบบนินจาผู้เอกอุ ไม่ว่าใครก็ต้องการจะโค่นเขาผู้เป็นตำนาน เพื่อเก็บเอาไว้เป็นเกียรติประวัติส่วนตัว

การตัดสินใจใช้ชีวิตธรรมดาของคามุย นำมาซึ่งความหายนะ ความตายของคนทั้งหมู่บ้าน รวมทั้งผู้หญิงที่เขารัก-หรือว่า ชีวิตนินจาจะต้องเลือกเพียงทางสายเดียว ถ้าหยุด "ฆ่า" ก็ต้อง "ตาย"

คามุยในแบบของเคนอิชิ มัตซึยามา แม้จะถ่ายทอดอารมณ์โดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา อย่างที่เคยคุ้นกันในฉบับการ์ตูน แต่การสร้างหนังจากคาแรกเตอร์การ์ตูนมาเป็นคนจริงๆ ใช่เรื่องง่าย

โดยเฉพาะฉากแอ็กชันต่อสู้ของนินจาในเรื่องนี้ ต้องบอกว่า ฮาร์ดคอร์สุดๆ (ไม่เหมาะกับการให้เด็กดูเป็นอย่างยิ่ง) อาจจะไม่ค่อยรื่นรมย์นักสำหรับคนที่ต่อต้านความรุนแรง แถมยังดูเหมือน โยอิชิ ซาอิ เน้นการนำเสนอฉากต่อสู้เป็นพิเศษ ในสไตล์เกือบๆ เอาอารมณ์แบบหนัง The Metrix มาใช้ อย่างภาพสโลว์โมชัน เทคนิคการเหาะเหินเดินอากาศ และลักษณะท่าทางที่เหนือจริง เน้นให้เห็นแบบเนื้อๆ จะๆ

การดำเนินเรื่องแต่ละฉากแต่ละตอนในสไตล์ญี่ปุ่น ค่อนข้างจะเนิบนาบ ยืดเยื้อ ไม่ต้องจริตกับน้ำอดน้ำทนของบรรดาสาวกหนังบู๊ฮอลลีวูดสักเท่าไร

สำหรับแฟนพันธุ์แท้ของ "คามุย ยอดนินจา" ในอดีต ก็อย่าไปดูอย่างคาดหวังอะไรให้มากนัก ดูขำๆ ให้หายคิดถึงคาแรกเตอร์สุดโปรดก็พอแล้ว

ประตูผี...ที่ซานตาเฟ



* * * * * * * * * *

Surveillance
ปี 2009
ประเทศ สหรัฐอเมริกา
ภาษา อังกฤษ
ประเภท ชีวิต/สยองขวัญ/ลึกลับ
เรตติ้ง R (ความรุนแรง/ภาษา/ยาเสพติด)
ความยาว 97 นาที
กำกับ เจนนิเฟอร์ ลินช์
แสดงนำ จูเลีย ออร์มอนด์/บิล พูลแมน/ไรอัน ซิมป์คินส์/เพลล์ เจมส์/เคนต์ ฮาร์เปอร์

* * * * * * * * * *

สิ่งที่คุณเห็น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็น แต่สิ่งที่เด็กเห็นล่ะ...

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เจนนิเฟอร์ ลินช์ ลูกสาว เดวิด ลินช์ เจ้าพ่อฟิล์มนัวร์อเมริกัน กับผลงานหนังเรื่องที่ 2 ของเธอที่เล่าเรื่องราวของ เอลิซาเบธ แอนเดอร์สัน (จูเลีย ออร์มอนด์) และแซม ฮัลลาเวย์ (บิล พูลแมน) เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ 2 คนที่เข้ามาสืบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง ณ โรงพักแห่งหนึ่งในซานตาเฟ

งานนี้ มีพยาน 3 รายจากที่เกิดเหตุ ตั้งแต่ ตำรวจทางหลวง แจ็ค เบนเนตต์ (เคนต์ ฮาร์เปอร์) ที่คู่หูโดนฆ่า สาวซิ่งติดยา บ๊อบบี เพรสคอตต์ (เพลล์ เจมส์) ผู้สูญเสียแฟนหนุ่มในเหตุการณ์ รวมทั้ง สเตฟานี (ไรอัน ซิมป์คินส์) เด็กหญิงวัย 8 ขวบ ที่ทั้งแม่ พี่ชาย และพ่อเลี้ยงตกเป็นเหยื่อฆาตกรรม

เจ้าหน้าที่เอฟบีไอจับพยานทั้ง 3 สอบปากคำแบบแยกห้อง แล้วถ้อยคำจากปากพยานที่ต่างบอกเล่าในแบบที่ “สร้างภาพ” ให้ตัวเอง “ดูดี” ก็พร่างพรูออกมาในแต่ละห้อง ผ่านวิดีโอที่แซมเป็นคนควบคุม

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่พยานเล่า เหตุการณ์แบบที่ “ไม่เป็นจริง” ทว่าภาพของเรื่องราวที่ฉายบนจอกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม เรื่องนี้คนดูจึงรับบทเป็น “พระเจ้า” ที่หยั่งรู้ทุกสิ่ง ยกเว้นแต่ก็เพียงตอนจบของเรื่องราว...

ระหว่างการให้ปากคำที่เต็มไปด้วยคำโกหก คนดูได้เห็นภาพจริงของการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของ 2 ตำรวจเลวๆ ที่ใช้อาชีพบังหน้าเป็นอันธพาลรีดไถเงินคนที่ผ่านไปมาบนท้องถนน... เห็นสาวติดยาใจแตกที่ชีวิตได้แต่ไร้สาระไปวันๆ รวมทั้งเห็นเด็กน้อยที่โตเกินวัย เธอรู้ เธอเห็น เธอคิด... แต่ผู้ใหญ่ไม่รับฟัง

เจนนิเฟอร์ ลินช์ ที่เขียนบทเรื่องนี้เอง โดยนำวิธีคิดแบบราโชมอน “ประตูผี” มาใช้ในการเล่าเรื่อง แต่ไม่ได้สร้างความ สับสนเหมือนหนังญี่ปุ่นคลาสสิกว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริงเรื่องปลอม เพราะมีเรื่อง หักมุมอย่างอื่นรออยู่

นอกเหนือจากปมประเด็นลึกลับซับซ้อนต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในหนัง สิ่งที่เจนนิเฟอร์เสนออย่างตรงไปตรงมา และจริงที่สุด คือ “ด้านมืด” ที่มีอยู่ในทุกซอกทุกมุมของสังคม และมีอยู่ในทุกๆ วงการ รวมทั้งแวดวงของผู้รักษากฎหมาย การใช้อำนาจในทางที่ผิดเป็นอันตรายเสมอ สำหรับในเรื่องนี้คนดูที่มองเห็นว่าเป็นเรื่องแบบ “ตลกร้าย” ก็อาจจะสะใจกับการตายแบบล้างโรงพักซานตาเฟ

บทบาทแบบ “บอนนี่ แอนด์ ไคลด์” สไตล์โรคจิตของ จูเลีย ออร์มอนด์ และบิล พูลแมน สร้างสีสันให้เรื่องราวได้เล็กน้อย ที่เหนือไปกว่านั้น คือการแสดงของหนูน้อยไรอัน ซิมป์คินส์ – สายตาที่ช่างสงสัย ช่างสังเกตของเธอ เป็น “กุญแจบู๊ลิ้ม” ในเรื่องนี้ทีเดียว

หนังสร้างในสไตล์แบบหนังเกรดบี สังคมนี้มันช่างเจ็บป่วย เต็มไปด้วยความเหลวไหล ไร้สาระ จริงๆ

และอย่าคิดล่ะว่าเด็กจะไม่รู้