วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรี๊ด-ด-ด-ด-ด ซอมบี้ ผีเดินได้


เหตุการณ์คนกัดกินคน 4 หนในสหรัฐอเมริกา ทำให้คนอเมริกันเกิดอาการตื่น “ซอมบี้” ผีลุกขึ้นเดินขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ จนกระทั่งรัฐบาลต้องรีบออกมาระงับความตื่นตระหนกกันแทบไม่ทัน ว่าอเมริกามิได้ตกอยู่ในสภาวะ “ซอมบี้ อะโพคาลิปส์” หรือ ซอมบี้ยังไม่ได้ยึดครองโลก ไม่ได้ยึดสหรัฐอเมริกาเอาไว้แต่อย่างใด
ก่อนที่จะมาปรากฏกายในนิทานปรัมปราของอเมริกาเหนือและยุโรปบางแห่ง ซอมบี้ เป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาในวัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน หมายถึง ศพที่กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาเดินได้อย่างปริศนา คล้ายว่าถูกมนตร์แม่มดสะกดยังไงอย่างนั้น เพราะศพเดินได้นั้นหาได้มีสติสัมปชัญญะไม่
ซอมบี้ ค่อยๆ รุกคืบเข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมอเมริกัน แต่กลายเป็นที่ฮอตฮิตมากก็ปี 1932 กับนิยายแนวแฟนตาซี The Magic Island โดย วิลเลียม ซีบรู๊ค ตอกย้ำด้วยหนัง White Zombie กำกับโดยวิคเตอร์ ฮัลเพอริน ให้เบลา ลูโกซี นำแสดง (คนเดียวกับที่รับบทเคาท์แดรกคูล่าจนดัง) – หนังสือและหนังสองเรื่องนี้ แนะนำคำว่า “ซอมบี้” ให้อเมริกันชนรู้จักกันอย่างแพร่หลาย
หลังจากนั้น มีหนังที่เล่าเรื่องของซอมบี้ตามออกมามากมาย ไม่ว่าจะ I Walked With a Zombie (1943 ของวาล ลิวตัน หรือ The Serpent and the Rainbow (1988) ที่เวส คราเวน สร้างจากหนังสือของเวด เดวิส ซึ่งเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับหมอผีวูดูในเฮติ
ต่อมา ซอมบี้ ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของความขบถต่อกฎกติกาบ้านเมือง โดยเฉพาะการต่อต้านเผด็จการ ซึ่งแสดงออกในแวดวงดนตรี อย่างอัลบัม Zombie ของ เฟลา คูติ ในปี 1976 หรือเพลง Zombie ของวงแครนเบอร์รีส์ ปี 1994
ภาพลักษณ์ของซอมบี้ เริ่มเปลี่ยนจากศพที่เดินได้จากคำสาปของแม่มดหมอผี มาเป็นซอมบี้ยุคใหม่แบบอเมริกันสร้าง นับจากหนัง The Night of the Living Dead (1968) ของ จอร์จ เอ. โรเมโร ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากนิยายปี 1954 ของริชาร์ด แมเธสัน I Am Legend
ในหนังไม่ได้เรียกศพที่อยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมาเดินเพ่นพ่านเต็มเมืองว่า ซอมบี้ แต่เป็นแฟนๆ หนังมาเรียกเองภายหลังที่จอร์จ ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น “บิดาแห่งซอมบี้” สร้างซีรีส์หนังศพคืนชีพตามมาอีก 2 เรื่อง ได้แก่ Dawn of the Dead (1978) และ Day of the Dead (1985)
ซอมบี้แบบอเมริกันยุคใหม่ หมายถึงศพเดินได้ที่กระหายจะกินเลือดเนื้อของมนุษย์เป็นๆ พวกมันหน้าตาเละเทะ ไม่เป็นผู้เป็นคน เดินคอเอียงไร้ชีวิตชีวา แต่ว่าไม่รู้เอาเรี่ยวแรงมาจากไหนตอนที่กัดและกินคน นอกจากนี้ สาเหตุการตายแล้วฟื้นของพวกเขาไม่แน่ชัด บ้างโทษการทดลองทางวิทยาศาสตร์ บ้างก็โทษนิวเคลียร์ รวมไปถึง การมองซอมบี้ว่าเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายด้วยการถูกซอมบี้กัด
ในวัฒนธรรมป๊อป ซอมบี้รุ่นใหม่ในหนังและหนังสือ ห่างไกลจากมนตร์ดำของแม่มดหมอผีมาไกล กลายเป็นเรื่องเล่าสะท้อนสังคมที่ฟอนเฟะ ความงดงามของความเป็นมนุษย์ถูกทำลายไปด้วยความโลภ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง การทดลองทางวิทยาศาสตร์ โรคระบาด ภัยสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ที่สยองขวัญสั่นประสาทมากๆ ก็เพราะว่า ซอมบี้ยุคใหม่มักจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเชื้อโรคใดๆ จนกลายเป็นสถานการณ์ซอมบี้เต็มบ้านเต็มเมืองแบบที่เรียกว่า ซอมบี้ อะโพคาลิปส์ (Zombie Apocalypse) คือ อยู่ดีๆ สภาพสังคมก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเพียงข้ามคืน ท้องถนนปราศจากผู้คนเป็นๆ หากเต็มไปด้วยซอมบี้ ที่ตกเป็นเหยื่อของกันและกัน
คนที่ยังมีชีวิตถูกโดดเดี่ยวอยู่ในสังคมแคบๆ ถูกตัดขาดจากปัจจัยสี่ กลายเป็นตัวประกันของความโหดร้ายบนท้องถนน ไม่ต่างจากการเกิดโรคระบาดหรือภัยธรรมชาติ

หนังซอมบี้ รักแล้วต้องดู
เรื่องราวเกี่ยวกับซอมบี้ เริ่มต้นที่นิทานปรัมปรา มาจนถึงนิยายประเภทสยองขวัญ หากที่เข้าถึงผู้คนมากที่สุดก็คือ ภาพยนตร์ ใครเลิฟซอมบี้ต้องมีเอาไว้ดู

Night of the Living Dead (1968)
(เทรลเลอร์ http://youtu.be/pElSu_ECJGM)

หนังขาว-ดำที่ขึ้นทำเนียบคลาสสิกไปแล้ว ของ บิดาแห่งซอมบี จอร์จ เอ. โรเมโร เริ่มต้นที่ดาวเทียมปริศนาตกลงมาโหม่งโลก รังสีอะไรสักอย่างทำให้คนตายลุกขึ้นเดินได้อีกครั้ง บรรดามนุษย์ที่ยังเป็นผู้เป็นคนอยู่ต้องขุดสารพัดวิธีขึ้นมาเอาชีวิตให้รอด แม้จะสร้างด้วยทุนต่ำ แต่หนังเรื่องนี้ดูกี่ครั้งก็ยังสยองไม่หาย และเนื้อหาก็ไม่ตกยุคตกสมัย กลิ่นอายแบบหนังอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ปฏิวัติหนังซอมบี้ จากหนังสยองเกรดบีสู่ระดับอาร์ตเฮาส์

28 Days Later… (2002)
(เทรลเลอร์ http://youtu.be/eunaclr-WgU)

ผลงานของผู้กำกับอังกฤษ แดนนี บอยด์ ที่เขียนบทโดย อเล็กซ์ การ์แลนด์ (ผู้เขียน The Beach ที่แดนนี่กำกับก่อนหน้านี้) หนังซอมบี้ร่วมสมัยเลือกจะเชื่อว่า การอุบัติขึ้นของศพเดินได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ระดับ ซอมบี้ อะโพคาลิปส์ นั้นเกิดจากเชื้อร้าย เลือดที่ติดเชื้อเพียงหยดเดียวคร่าชีวิตผู้คนในไม่กี่วินาที และล้างประเทศในเวลาเพียง 28 วัน ผู้รอดชีวิตเพียงหยิบมือต่างช่วยกันหาทาง กู้อนาคตของมวลมนุษย์กลับคืนมาอีกครั้ง

Dawn of the Dead (1978)
(เทรลเลอร์ http://youtu.be/PpuNE1cX03c)

ความเดิมจาก Night of the Living Dead จอร์จ เอ. โรเมโร เล่าเรื่องการอุบัติใหม่อีกครั้งของซอมบี้ แต่คราวนี้ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่ กองทัพสหรัฐพยายามที่จะเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยออกสู้กับซอมบี้อย่างเปิดเผย พร้อมค้นหาผู้รอดชีวิต แต่ดูเหมือนไม่เป็นผล ซอมบี้ระบาดเป็นวงกว้างจนเกินจะเยียวยา ตัวเอกอย่างพนักงานแวกกอนทีวี สตีเฟ่นและแฟนสาว ฟรานซีน วางแผนขโมยฮอ.ของสถานีหนีตาย พวกเขาไปไหนไม่ได้ไกลต้องหนีไปหลบในห้างสรรพสินค้า ด้วยความที่ฟรานซีนตั้งท้องอยู่ จึงหัดให้ฟรานซีนขับฮอ.เผื่อฉุกเฉินจะได้หนี แก๊งมอเตอร์ไซค์มาจากไหนไม่ทราบ ทำลายประตูห้างฯ ปล่อยให้ซอมบี้เข้ามาอาละวาดจนพวกเขาจนมุม
หนังรีเมก Dawn of the Dead ในปี 2004 โดยผู้กำกับแซก สไนเดอร์ (เทรลเลอร์ http://youtu.be/8LUzJAsa-gg) วาดภาพของสังคมอันสงบและแสนสุขของชาวอเมริกัน ที่อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อซอมบี้ ฉากหลักของเรื่องอยู่ในห้างที่วิสคอนซิน เวอร์ชันใหม่ย่อมมิอาจชิงความคลาสสิกของเรื่องราวไปได้ แต่ชนะเลิศด้านความเร้าใจ รวมทั้งเมคอัพและสเปเชียลเอฟเฟกต์ต่างๆ ของยุคใหม่

Dellamorte Dellamore (Cemetery Man)
(เทรลเลอร์ http://youtu.be/kFhNbG43XDg)

หนังปี 1994 ของมิเคเล โซอาวี ซึ่งมาร์ติน สกอร์เซซี บอกว่า เป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดแห่งทศวรรษที่ 1990 โปรดักชันอิตาเลียนที่ให้รูเพิร์ต เอฟเวอร์เล็ตเป็นชายหนุ่มเฝ้าสุสาน ที่ตอนดึกๆ มักจะมีศพลุกขึ้นมาเดินได้ หนังเล่าเรื่องในเมืองเล็กๆ ของอิตาลี อย่าง บุฟฟาโลรา ฉากตอนออกแนวแฟนตาซีสร้างเรื่องแบบเวอร์ๆ เหมือนอยู่ในความฝันมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง ศพในสุสานทั้งหลาย เพราะได้รับการหล่อเลี้ยงชีวิตจากต้นไม้ที่ชอนไชรากลงไปในดิน จึงฟื้นตื่นขึ้นมาเดิน กิจวัตรการสังหารซอมบี้เป็นหน้าที่ของชายเฝ้าสุสาน ที่อยู่กับลูกมือ เป็นชายอ้วนไม่สมประกอบอีกหนึ่งคน นอกจากนำเสนอเรื่องศพเดินได้ Cemetery Man ยังเล่าประเด็นของคนที่ถูกกักขังอยู่ ณ ที่ใดแห่งหนึ่ง มิอาจจะหนีออกไปจากวังวนนั้นไปได้ ไม่ว่าเขาจะต้องการชีวิตแบบนั้นหรือไม่

Shaun of the Dead (2004)
(เทรลเลอร์ http://youtu.be/yfDUv3ZjH2k)

หนังซอมบี้โปรดักชันฝั่งอังกฤษที่ เอดการ์ ไรต์ สร้างเลียนแบบหนังของจอร์จ เอ. โรเมโร ซึ่งเน้นมุขขำมากกว่าอารมณ์สยองของซอมบี้ล้างโลก กระนั้นเนื้อหาของหนังก็เสียดสีสังคมในสไตล์แบล็กคอมเมดี เรื่องราวของพนักงานร้านเครื่องไฟฟ้า อย่าง ชอน และเพื่อนสนิท เอ๊ด ที่ต้องฝ่าดงซอมบี้ไปช่วยแม่และแฟนสาวที่เขาเพิ่งถูกบอกเลิกมาอยู่ในสถานที่ที่เขาเชื่อว่าปลอดภัย หนังเสียดสีสังคมยุคใหม่ที่คนเอาแต่ทำงานหาเลี้ยงตัว โดยไม่ใส่ใจซึ่งกันและกัน ทุกๆ คนเหมือนกับมีเชื้อซอมบี้อยู่ในตัวเอง

Land of the Dead (2005)
(เทรลเลอร์ http://youtu.be/atXJB9luiko)

อีกเรื่องของบิดาแห่งซอมบี้ เล่าเรื่องหลังจากเกิดเหตุซอมบี้กลืนเมือง คนที่เหลืออยู่ก่อตั้งกองกำลังพลเรือนขึ้นมาต่อสู้เพื่อความอยู่รอด มากหมอก็ยิ่งมากความ ขณะที่กองกำลังหนึ่งอาศัยการจุดพลุให้ซอมบี้ชมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ โดยพยายามกันเขตที่อยู่อาศัยของคนกับซอมบี้ออกจากกัน และพยายามอยู่ด้วยกันอย่างสันติ หากอีกฝ่ายเห็นควรที่จะกวาดล้างซอมบี้ให้สิ้นซาก จอร์จ เอ. โรเมโร สร้างซอมบี้เรื่องนี้ให้มีสมอง ฉลาดขึ้น เชื่อฟังผู้นำ และทำงานกันเป็นทีม ซอมบี้รู้ว่าใครเป็นอันตรายต่อพวกเขา และควรจะอาศัยอยู่ในโลกนี้อย่างไร


จอร์จ เอ. โรเมโร บิดาแห่ง "ซอมบี"
ถ้าพูดถึง"ซอมบี" ก็ต้องมีชื่อของเขาคนนี้ ผู้กำกับ นักเขียนบท และยังกำกับภาพเองชาวอเมริกัน จอร์จ เอ. โรเมโร ได้รับขนานนามให้เป็น "Godfather of all Zombies" ด้วยผลงานภาพยนตร์สุดขนพองสยองเกล้าของเขา ที่ส่วนใหญ่เล่าเรื่องของพลพรรคคนตายที่เดินได้ นับตั้งแต่ Night of the Living Dead (1968)
จอร์จ เป็นชาวนิวยอร์ก มีพ่อเป็นชาวคิวบา ส่วนแม่เป็นอเมริกันเชื้อสายลิทัวเนีย พ่อของเขาทำงานโฆษณา ซึ่งแรกๆ ก็ดูเหมือนจอร์จอยากดำเนินรอยตาม เมื่อเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน แล้วจบออกมาทำหนังโฆษณา ไปๆ มาๆ เขาก็ร่วมกับเพื่อนๆ อีก 9 คน ก่อตั้ง อิมเมจ เท็น โปรดักชัน ขึ้นมาในปลายทศวรรษที่ 1960 โดยผลงานแรกก็คือ Night of the Living Dead นั่นเอง
หนังขาว-ดำเรื่องแรกก็เปลี่ยนชีวิตเขาไปอย่างสิ้นเชิง เพราะหนังที่เขาร่วมเขียนบทกับ จอห์น เอ. รุสโซ ขึ้นทำเนียบเป็นหนังระดับคลาสสิก ทั้งยังถือเป็นจุดเปลี่ยนของหนังสยองขวัญเข้าสู่ยุคโมเดิร์น
จอร์จ เคยเปิดใจไว้ว่า จริงๆแล้ว The Tales of Hoffmann (1951) คือหนังที่เปลี่ยนชีวิตของเขา หนังอังกฤษที่สร้างจากโอเปราฝรั่งเศสของ ชักส์ ออฟเฟนบาค Les Contes d'Hoffmann โดย 2 ผู้กำกับ ไมเคิล พาวเวลล์ และเอเมอริก เพรสเบอร์เกอร์
"เป็นศิลปะการสร้างหนังอย่างแท้จริง มีทั้งเทคนิคภาพยนตร์ เรื่องราวแฟนตาซี มีเรื่องแปลกๆ มีทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นเป็น ภาพยนตร์ จริงๆ สำหรับผม ทำให้รู้ซึ้งพลังแห่งภาพ ผมรู้ว่า เราต้องเล่นกับมัน อาศัยมุมกล้อง เทคนิคการถ่ายทำเล่นกับคนดู ผมจึงอยู่เฉยไม่ได้แล้ว อยากจะทดลองบ้าง"
หลังจากความสำเร็จของเรื่องแรก อีก 3 เรื่องถัดมากลับไม่เป็นเช่นนั้น กระทั่งหนังอาร์ต Martin (1977) ที่เล่าเรื่องของแวมไพร์ได้สร้างชื่อให้อีกครั้งหนึ่ง ขณะที่หนังทุนต่ำ Dawn of the Dead (1978) ก็นำจอร์จกลับคืนสู่บัลลังก์แห่งศาสดาของหนังซอมบี แถมยังกวาดรายได้แบบถล่มทลาย
ในปี 1990 ทอม ซาวีนี ผู้เคยรับผิดชอบด้านการแต่งหน้าแต่งตัวของซอมบี รวมทั้งเทคนิคพิเศษทั้งหลาย ใน Night of the Living Dead และ Dawn of the Dead กับอีกหลายเรื่องให้เขา ออกมากำกับ Night of the Living Dead ฉบับรีเมก โดยจอร์จ เป็นผู้ปรับปรุงบทภาพยนตร์ ทั้งยังนั่งเป็นเอกเซกคิวทีฟโปรดิวเซอร์ด้วย
อีก 8 ปีต่อมา เขารับกำกับหนังโฆษณา ความยาว 30 วินาทีของวิดีโอเกม เรสสิเดนต์ อีวิล ทู (Resident Evil 2) ที่มีลีออน เอส. เคนเนดี และ แคลร์ เรสฟิลด์ 2 คาแรกเตอร์หลักที่ต่อสู้กับซอมบีในแรคคูน ซิตี้ โฆษณาดังถล่มทลายยิ่งกว่าตัวเกมใหม่ที่จะออกมาเสียอีก แคปคอม เจ้าของลิขสิทธิ์เกมเลยติดต่อจอร์จให้มากำกับหนังเรื่องนี้ซะเลย
หะแรกเขาก็ปฏิเสธ โดยอ้างว่าไม่อยากทำหนังซอมบีที่ไม่ได้เป็นคนเขียนเรื่องเอง แต่ไปๆ มาๆ เขากลับเริ่มเขียนบทไปเสนอ ทว่า ในที่สุดแคปคอมกลับไปชอบเวอร์ชันของพอล ดับเบิลยู. เอส. แอนเดอร์สันมากกว่า
ระหว่างที่ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ ออกเวอร์ชันรีเมคของ Dawn of the Dead ในปี 2004 จอร์จ เอ. โรเมโร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยก็หันไปจับเรื่องราวจากดีซี คอมิกส์ Toe Tags ตอนหนึ่งจากมินิซีรีส์ 6 เรื่องใน The Death of Death เล่าเรื่องของ ดาเมียน ซอมบีมีสมองซึ่งจดจำชีวิตสมัยเป็นมนุษย์ได้ และพยายามที่จะค้นหาชีวิตตัวเองก่อนตายให้เจอ ก่อนที่จะทำหนังยาวเรื่องที่ 4 Land of the Dead (2005) อันเป็นหนังที่ใช้ทุนสูงที่สุดของเขาแล้ว คือ 16 ล้านเหรียญสหรัฐ
ไม่ว่าจะเป็นหนังขนาดสั้นหรือขนาดยาว สาระสำคัญที่บรรจุในหนังซอมบีของเขาแทบไม่ต่างกัน คือมักจะเล่าเรื่องสังคมที่ฟอนเฟะ เล่าเรื่องความโลภของมนุษย์ ความเห็นแก่ตัว ไปจนถึง การก่อการร้าย
ทุกวันนี้ เขายังคงทำหนังซอมบีใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ตามวาระ โดยมีคำซิกเนเจอร์ อย่าง ... of the Dead เป็นตัวห้อยท้าย เช่นว่า Diary of the Dead ที่เล่าเรื่องประสบการณ์เจอซอมบีของนักเรียนญี่ปุ่น หรือ Survival of the Dead ซึ่งให้ซอมบีย้อนไปในยุคคาวบอย ฯลฯ

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชีวิตในความมืด



Wciemnosci (InDarkness)
ปี: 2011 
ประเทศ: โปแลนด์ 
ภาษา: โปล 
ประเภท: ชีวิต/สงคราม
เรตติ้ง: R (เด็กอายุต่ำกว่า18ปีไม่ควรชม)
ความยาว: 145 นาที
กำกับ: แอกนิสซกา ฮอลแลนด์
แสดงนำ: โรเบิร์ต เวียสเควิชซ์/ เบนโน ฟูร์มันน์/ แอกนิสซกา โกรโชว์สกา/ มาเรีย ชเรเดอร์/ เฮอร์เบิร์ต คโนป/ คริสตอฟ สโคนิสซนี/ มิคาล ซูรอว์สกี


เรื่องหลายมุมของชาวยิวผู้รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์W ciemnosci หรือ In Darkness คือเรื่องจริงของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่รอดชีวิตจากการหลบซ่อนตัว อยู่ในท่อระบายน้ำอันซับซ้อนราวเขาวงกตของเมืองละวอฟ

เลโอโปลด์ (โปลเดค) โซชา (โรเบิร์ตเวียสเควิชซ์) คนงานในท่อระบายน้ำ ที่มีไซด์ไลน์เป็นโจรลักเล็กขโมยน้อย กับคู่หูหนุ่มของเขา เซซเปค โรเบลสกี (คริสตอฟสโคนิสซนี) ใช้ชีวิตส่วนใหญ่โดดเข้าโดดออกอยู่ในท่อระบายน้ำ ของเมืองละวอฟประเทศโปแลนด์

ทั้งคู่รู้จักท่อระบายน้ำของละวอฟทุกกระเบียดนิ้ว เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่ทำงาน อาศัยเป็นทางลัด เดินทางไปมาในเมือง รวมถึงดอดออกไปลักเล็กขโมยน้อยตามบ้านเศรษฐีแล้ว พวกเขายังนำเอาข้าวของที่ขโมยมาซ่อนเอาไว้ในรอยแตกของท่ออีกต่างหาก

วันหนึ่งระหว่างเดินไปมาในท่ออันแสนมืดมิดตามปกติ เลโอโปลด์ และ เซซเปค ก็เจอกับชาวยิวกลุ่มหนึ่ง นำโดย มุนเดค มาร์กูเลส (เบนโน ฟูร์มันน์) กับ อิกนาซี่ ชีเกอร์ (เฮอร์เบิร์ต คโนป) ยิวผู้มีอันจะกินที่เจาะพื้นบ้านในบ้านของตัวเองลงมายังท่อระบายน้ำ เอาไว้เป็นทางหนีทีไล่

อิกนาซี่ รีบยื่นนาฬิการาคาแพงให้เพื่อปิดปากเลโอโปลด์ กับ เซซเปค ขณะที่หัวขโมยหัวใสรีบยื่นข้อเสนอในการพาหนีทันที แลกกับเงินทองที่กลายเป็นของนอกกายคนยิวไปแล้ว

กระทั่งถึงวันเสียงปืนแตก ทหารนาซีเริ่มทำการกวาดล้างชุมชนยิว โดยบังคับให้พวกเขาออกจากบ้านไปอยู่ในค่ายกักกันเลโอโปลด์ ผู้รู้จักเส้นทางในท่อระบายน้ำดีราวกับมือตัวเอง รีบไปรับกลุ่มชาวยิวที่จะหนีลงท่อตามสัญญา

ราว 14 เดือนที่ต้องอยู่ภายในท่อ พวกเขาต้องอยู่ให้เคยชินกับความมืด ความชื้นและหนู อาหารกับน้ำที่ไม่เพียงพอผสมผสานกับความเครียดเรื่องชีวิตที่ไม่แน่นอน ทำให้หลายๆ คนเริ่มป่วย และใกล้บ้า บางคนก็เริ่มหนีไปตายเอาดาบหน้า

ในเบื้องแรกที่เลโอโปลด์ทำก็เพราะอยากได้เงิน ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นความผูกพัน และถูกมนุษยธรรมครอบงำ แม้ทางการเริ่มระแคะระคาย กระทั่งเซซเปคก็ไม่เอาด้วยแล้ว ส่วนนายตำรวจคนสนิทอย่างบอร์ตนิค (มิคาล ซูรอว์สกี) ก็มากดดันให้เขานำทางไปหายิวที่ซ่อนในท่อ ยังไม่อาจหยุดเขาได้ หรือแม้จะเป็นวันรับศีลของลูกสาวคนเดียวของเขาเองก็ตาม...

ความสัมพันธ์ระหว่างคาทอลิกโปลกับยิวโปล ดูคล้ายเนื้อหาใน Schindler's List ของสตีเว่น สปีลเบิร์ก (ซึ่งเรื่องราวเกิดในเชโกสโลวาเกีย) ทั้งเลโอโปลด์ โซชา และออสการ์ ชินด์เลอร์ ต่างก็ดูแสนจะไร้เหตุไร้ผลในการกระทำของพวกเขาเหมือนๆ กันอีกต่างหาก

นับเป็นเวลา 20 ปี นับจาก Europa, Europa แอกนิสซกา ฮอลแลนด์ จับเอาเรื่องจริงของชาวยิวผู้รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเล่าให้ฟังกันอีกครั้ง แล้วก็เป็นอีกครั้งเช่นกันที่ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

W ciemnosci นั้นไม่น่ารักสดใสเท่ากับเรื่องราวของ โซโลมอน ยิวหนุ่มที่จับพลัดจับผลูไปอยู่ในกลุ่มยุวชนทหารนาซี ใน Europa,Europa หากเต็มไปด้วยความอึดอัด กดดันหม่นมัว อารมณ์กลัวที่แคบ ด้วยอารมณ์ของเรื่องที่พาไปในท่อน้ำสุดอับชื้น และเหม็นหึ่ง

ท้ายที่สุด ผู้รอดชีวิตของ แอกนิสซกามิใช่หมายความเพียงกลุ่มชาวยิวเพียงหยิบมือหนึ่งในท่อเท่านั้น แต่ย่อมเป็น เลโอโปลด์เอง ที่ไม่ปล่อยให้ความขลาดเขลาอยู่เหนือมนุษยธรรม

อันเป็นสิ่งที่สังคมทุกแห่งในทุกยุคทุกสมัยต้องการ

กว่าจะเป็นสันตะปาปา


Habemus Papam (We Have a Pope)

ปี 2011
ประเทศ อิตาลี
ภาษา อิตาเลียน
ประเภท ชีวิต / ศาสนา / ตลก
เรตติ้ง PG
ความยาว 104 นาที
กำกับ นานนี โบเรตติ
แสดงนำ มิเคล ปิคโคลิ / นานนี โบเรตติ / เยร์ซี สตูหร์ / เรนาโต สคาร์ปา / กามิลโย มิล์ยี







เรื่องราวเกี่ยวกับการขึ้นมาเป็นสันตะปาปาพระองค์ใหม่ ประมุขแห่ง คริสตจักรของโลก ไม่น่าจะมาทำให้เป็นหนังตลกได้ แต่ นานนี โมเรตติ ทำไปแล้ว...

เปิดเรื่องมาด้วยการสวรรคตของ พระสันตะปาปาพระองค์ก่อน ทำให้บรรดาพระราชาคณะ ของคริสตจักรนิกายคาทอลิกจากทั่วโลก เดินทางมายังกรุงวาติกัน

นอกจากจะเพื่อมาส่งสันตะปาปาพระองค์เก่าสู่อ้อมแขนพระเจ้าแล้ว ยังมาเพื่อที่จะมาทำหน้าที่สำคัญก็คือ ร่วมประชุมลับเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกผู้ที่จะมาเป็นประมุขพระองค์ใหม่แห่งศาสนจักร

หลังจากนับคะแนนอยู่หลายรอบ บรรดาผู้ศรัทธา รวมถึงสื่อมวลชนที่มาเฝ้ารอที่จะได้ชื่นชมพระบารมีขององค์สันตะปาปาพระองค์ใหม่ ได้แต่เห็นควันดำ (หมายถึงยังเลือกไม่ได้) ลอยออกมานอกปล่องไฟสัญลักษณ์ ผ่านไปรอบแล้วรอบเล่า ในที่สุดควันสีขาวก็ถูกปล่อยออกมา โดยภายในห้องนับคะแนน ชื่อของพระราชาคณะเมลวิลล์ (มิเคล ปิคโคลิ) ได้รับการขานออกจากใบคะแนนครั้งแล้วครั้งเล่า

ในที่สุด พวกเขาก็ ได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว...

ทว่า ขณะที่เตรียมจะประกาศต่อสาธารณะ ด้วยการออกปรากฏตัวและอำนวยพรสาธารณชนครั้งแรก พระสันตะปาปาเมลวิลล์ก็เกิดสติแตกขึ้นมา พระองค์ทรงกรีดร้องอย่างไม่ทราบสาเหตุ และปฏิเสธที่จะออกไปทักทายประชาชน ผู้ศรัทธาจากทั่วโลก ที่เฝ้ารอคอยการปรากฏตัวของพระองค์อย่างใจจดจ่อ

จิตแพทย์เบรซซี (นานนี โมเรตติ) ได้ รับการเรียกตัวเข้ามาตรวจอาการของ พระสันตะปาปา หลังจากที่แพทย์ภายใน กรุงวาติกันตรวจร่างกายแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่จะตรวจกันได้อย่างไร ในเมื่อบรรดา พระราชาคณะทั้งหลาย รวมทั้งตำรวจสวิส และโฆษกของวาติกัน (เยร์ซี สตูหร์) ไม่ปล่อยให้พระองค์ทรงอยู่ลำพังกับจิตแพทย์

เบรซซี แนะนำให้ทางวาติกันส่งสันตะปาปาไปคุยกับภรรยาของเขา ซึ่งเป็นจิตแพทย์เหมือนกันแบบไม่เปิดเผยตัว แม้จะไม่มีใครเห็นด้วย แต่เมื่อองค์สันตะปาปายังไม่ยอมเปิดเผยตัวสู่สาธารณะ พวกเขาก็ไม่มีทางเลือก

หลังพูดคุยกับจิตแพทย์สาว ยิ่งดูเหมือนองค์สันตะปาปาทรงมีความในใจที่หนักอึ้งมากมาย พอสบโอกาสพระองค์ก็ทรงวิ่งหนีไปจากโฆษกวาติกัน เพราะทรงต้องการที่จะคิดอะไรเงียบๆ ตามลำพัง

โฆษกวาติกันตามหาองค์พระสันตะปาปาไม่พบ จึงกลับสั่งให้นายทหารสวิสรักษาพระองค์ แสร้งทำตัวเป็นพระสันตะปาปา เดินไปเดินมาในห้องบรรทมไปพลางๆ

ขณะที่ตามกฎแล้ว หากพระสันตะปาปายังไม่ทรงปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรก ทุกคนที่รู้ความลับนี้ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากวาติกัน เบรซซีที่ไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองว่าจะต้องแสร้ง "ลาป่วย" เพราะติดอยู่ในวาติกันไปถึงเมื่อไร เลยอาศัยเวลาว่างๆ เช็กสุขภาพบรรดาราชาคณะทั้งหลายไปพลางๆ แล้วก็พบว่า เหล่าผู้นำชั้นสูงของศาสนาทั้งหลายนอกจากไม่เคยออกกำลังกายแล้วยังกินยาผิดๆ ถูกๆ เขาเลยออกไอเดียจัดทัวร์นาเมนต์แข่งขันวอลเลย์บอลสงฆ์โลกซะ เพราะไหนๆ ราชาคณะก็มากันทั้งโลกแล้ว

เวลาเดียวกัน องค์สันตะปาปาได้ทรงไปใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มนักแสดงละครเวที กำลังปะติดปะต่อส่วนเสี้ยวของชีวิตและความทรงจำที่หายไปให้กลับคืนมา...

วันหนึ่ง พระองค์ก็พร้อมแล้วที่จะออกมาอำนวยพรต่อสาธารณชนครั้งแรก...

นานนี โมเรตติ เผยให้เห็นโลกอีกด้านของบรรดาราชาคณะทั้งหลาย ที่ดูไปก็แทบไม่ต่างจากมนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆ ท่านๆ หนังขำกำลังพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป มีมุขมากมายที่ไม่คาดฝันให้เห็นในเรื่องนี้ กับตอนจบแบบหักมุมสุดคลาสสิก แสดงความฉลาดล้ำเลิศของบทหนังทุนต่ำที่ทำออกมาได้ในระดับสากล

การตั้งคำถามและการเดินทางไปตรวจสอบด้านมืดในจิตใจตัวเองขององค์พระสันตะปาปาในเรื่อง เปรียบประหนึ่งความคิดดีๆ ที่ผู้นำทุกระดับในโลกนี้ควรต้องตรวจสอบตัวเองบ้าง แม้ว่าผู้คนจะยอมรับ และลงคะแนนเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่...

หากทว่า คุณเหมาะสมจริงแล้วใช่มั้ย? สำหรับภาระที่จะนำมาแบกไว้บนบ่า