วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551

นักฝันวัยเยาว์ กับโลกเหลวไหล และไม่เป็นจริง


ต้องเตือนกันไว้แต่เบื้องแรกเลยว่า หนังเรื่องนี้ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 17 ชม!
ด้วยเนื้อหาสุดอื้อฉาวที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของ พี่น้องฝาแฝดหญิง-ชายชาวฝรั่งเศสกับเด็กหนุ่มอเมริกัน ในยุคดอกไม้บาน ย้อนไปในสังคมของทศวรรษที่ 1970
แม้ผู้กำกับหนังเรื่องนี้จะล่วงเข้าสู่วัย 60 กว่าๆ แล้ว ทว่า แบร์นาโด แบร์โตลุคชี ผู้กำกับเลื่องชื่อ เชื้อสายอิตาเลียน ก็กล้าหาญที่จะออกมาเล่าเรื่องราวในปี 1968 ได้ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อวานในวัย 20 ต้นๆ ของเขาเอง คล้ายๆ กับผลงานในช่วงแรกๆ ของเขาเรื่อง Before the Revolution
The Dreamers ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อว่า The Holy Innocents ของ กิลแบรต์ อดาอีร์ คนเขียนบทเรื่องนี้เอง
หนุ่มสาววัยแสวงหา และภาพบรรยากาศของนักคิด นักปฏิวัติในกรุงปารีส เรื่องราวของ กิลแบรต์ เขียนขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากวลี to be young was very heaven ชีวิตในวัยเยาว์นั้นราวกับชีวิตในสวรรค์...
นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวอเมริกัน แม็ททิว (ไมเคิล พิตต์) ผู้หลงใหลในเสน่ห์ของหนังคลาสสิกยุคเก่าๆ ที่ฉายอยู่ในโรงซีเนมาแต็ก ฟร็องแซส เขาได้พบกับ พี่น้องฝาแฝดหญิง-ชายชาวฝรั่งเศส อิซาแบล (เอวา กรีน) และเตโอ (หลุยส์ การ์เรล) ผู้คลั่งไคล้ในภาพยนตร์คลาสสิกเช่นเดียวกัน
กิลแบรต์ อดาอีร์ ให้ แม็ททิว เป็นคนเล่าเรื่อง เล่าความคิดในหนังเรื่องนี้ เขาบรรยายถึงการนั่งดูหนังแถวหน้าว่า ทำให้ “อิน” ไปกับหนังอย่างไร ...คนนั่งแถวหน้าเท่านั้นที่จะได้รับเรื่องราวที่โลดแล่นอยู่บนหน้าจอเป็นคนแรกๆ ... แน่ละ ประโยคที่เขาให้แม็ททิวพูด เป็นเหตุผลที่เหลวไหลไร้สาระ แต่นั่นคือเหตุผลที่น่าสนใจของวัยรุ่น
พร้อมๆ ไปกับความสัมพันธ์แบบพิเศษพิสดารของทั้งพี่น้องฝาแฝดและแม็ททิว ที่เชื่อมเอาไว้ด้วยฉากตอนต่างๆ ของหนังเก่าๆ ยุคขาว-ดำ หนังเสนอภาพบรรยากาศและสถานการณ์ทางการเมือง และการแสดงออกของคนหนุ่มสาวชาวปารีเซียง ในสมัยที่เป็นต้นกำเนิดของการแสดงออกทางความคิดบนกำแพงและผนังตึก ที่เรียกกันว่า ซิตูอาซิยง กราฟฟิตี (ที่ภายหลังนำมาเรียกการขีดเขียนผนังว่า กราฟฟิตี นั่นเอง)
ฉากตอนทั้งสองส่วนเพิ่มเสน่ห์ให้หนังเรื่องนี้ขึ้นมาอีกอักโขทีเดียว
แม็ททิว ย้ายเข้ามาอาศัยในอพาร์ตเมนต์ของครอบครัวสองพี่น้องตามคำเชิญของแม่ของคู่แฝด และแล้วก็ได้มารับรู้เรื่องความสัมพันธ์อันลึกล้ำพิสดารของทั้งคู่ แม็ททิวหลงรักอิซาแบล ในขณะที่อิซาแบลนั้นเป็นดังเช่นเทพีวีนัส ซึ่งมีความรักกับพี่ชายของตัวเอง แต่เธอก็สนใจในตัวของแม็ททิวอยู่ไม่น้อย
คู่แฝดรับแม็ททิวเข้ามาแทรกเป็นส่วนหนึ่งใน “วิญญาณ” ของคนทั้งคู่ ด้วยเกมหนังที่พวกเขามักจะเล่นและหลุดเข้าไปอยู่ในโลกเฉพาะซึ่งยากแท้จะหยั่งถึง
สาวเปรี้ยวเช่นอิซาแบลไม่เคยไปเดทกับผู้ชายคนไหนนอกจากเตโอพี่ชายฝาแฝดของตัวเอง เกมหนังครั้งหนึ่งที่แม็ททิวพ่าย กติกาของผู้แพ้คือการต้องร่วมรักกับอิซาแบลต่อหน้าเตโอ เขาไม่ยอมในเบื้องแรก แต่ในท้ายที่สุดก็คล้อยตาม และได้ค้นพบว่า อิซาแบล ยังคงเป็นสาวพรหมจรรย์ ที่แท้ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของพี่น้องฝาแฝดนั้นเป็นเรื่องของจิตใจและวิญญาณ หาใช่เรื่องทางกายไม่
เซ็กซ์เกมที่ค่อนข้างพิสดารในหลายๆ ตอนของเรื่อง ทำให้หนังเรื่องนี้เมื่อจะเข้าฉายในอเมริกาได้รับการติดเรต NC-17 หรือเรต เอ็กซ์ (X) เดิมโดยอัตโนมัติ ร่างกายเปลือยเปล่าของวัยรุ่น 3 คนในเรื่องดูแล้วคล้ายกับหนังฝรั่งเศสในอดีต อย่าง Last Tango in Paris ซึ่งติดเรตเอ็กซ์เช่นเดียวกัน รวมทั้งฉากตอนต่างๆ ก็เกิดขึ้นในอพาร์ตเมนต์กลางกรุงปารีส และโลกทั้งโลกก็เหมือนจะมีศูนย์กลางอยู่ ณ อพาร์ตเมนต์แห่งนี้เท่านั้น
ทั้ง 3 คนเหมือนไม่ต้องการตื่นขึ้นมาจากความฝัน ไม่ปรารถนาจะหลุดจากโลกเฉพาะของตัวเอง เพราะจินตนาการในเทพนิยายของอิซาแบลย่อมสวยงามกว่าโลกแห่งความรุนแรงทางการเมืองภายนอกนัก
3 ตัวละครหลักสร้างโลกความฝันออกมาได้อย่างสมจริง ทั้ง 3 คนทำให้ผู้ชมเองก็ไม่ต้องการตื่นจากความฝัน เช่นเดียวกับภาพและการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ แบร์นาโด แบร์โตลุคชี ที่งดงามกว่าภาพของความเป็นจริงอยู่มากมาย

ย้อนรำลึกภาพฝันวันวาน


ถ้าคำว่า "รักแรกพบ" มีจริง ก็คงเหมือนกับแรกที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แค่เปิดฉากมาปุ๊บก็หลงรักปั๊บ ใจเต้นตึ๊กตั๊ก ขนาดนั้นเลย ไม่ได้โม้
นอกจากนี้ Les Amants Reguliers ยังเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่คนศึกษาทางด้านเทคนิคภาพยนตร์ รวมทั้งคนที่ชอบดูภาพยนตร์แนว “ศิลป์” จะต้องชื่นชอบ อย่างน้อยก็ในแง่การถ่ายทำที่ฟิลลิป การ์เรล เลือกฟิล์มขาว-ดำ สำหรับภาพยนตร์ ที่เล่าเรื่องย้อนยุคไปในทศวรรษที่ 1970 ของเขาเรื่องนี้ ด้วยเทคนิคการถ่ายทำแบบเก่าๆ ทั้งเรื่องการตัดภาพ การใช้เสียง ก็ยิ่งเป็นเสน่ห์ส่งเสริมภาพยนตร์แนว “หวนรำลึก” หรือ nostagia ให้ได้อารมณ์ยิ่งขึ้นอีก
ใน Les Amants Reguliers ฟิลลิป เลือกลูกชายสุดหล่อของเขาเอง (นี่คืออีกหนึ่งรักแรกพบของผู้เขียน อิอิ) ที่เคยฝากผลงานในภาพยนตร์ฝรั่งเศสมาแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่อง The Dreamers ของ แบร์นาร์โด แบร์โตลุคชี ซึ่งเป็นการย้อนไปในยุคเดียวกัน นั่นคือ ราวๆ ทศวรรษที่ 1970 ที่บรรดานักศึกษาหัวเอียงซ้าย พยายามจะออกมาปฏิวัติระบอบทุนนิยมในฝรั่งเศส
เรื่องราวเกี่ยวกับ “การปฏิวัติ” เป็นประเด็นฮอตที่พูดถึงกันในกลุ่มนักศึกษา พร้อมกันนั้น พวกเขาก็ชักชวนกันก่อการ
ภาพยนตร์แบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกเล่าความมีส่วนร่วมในเหตุรุนแรง ที่นักศึกษาลุกขึ้นมาก่อความ ไม่สงบครั้งใหญ่ ย้อนไปในเดือนพฤษภาคม ปี 1968 กลางกรุงปารีส ที่เรียกว่า ราตรีแห่งเครื่องกีดขวาง (Night of the Barricades) โดยให้ ฟร็องซัวส์ (หลุยส์ การ์เรล) เป็นผู้เล่าเรื่อง นอกจากเขาจะเป็นกวี เป็นชายหนุ่มรักสันติผู้ต่อต้านการเกณฑ์ทหารแล้ว เขาก็ยังเป็นหนึ่งในนักศึกษาผู้เรียกตัวเองว่าเป็น นักปฏิวัติ เข้าร่วมการวางเพลิง เผารถ ปาระเบิดก่อความวุ่นวาย ... ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว เขาไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจาก เฮไปตามเพื่อน และวิ่งหนีตำรวจ
ฟร็องซัวส์ ยังเป็นตัวเล่าเรื่องในช่วงหลัง ที่ว่าถึงการรวมกลุ่มกันพี้ยาของบรรดาศิลปินทั้งหลาย หลังสงครามระหว่างนักศึกษาและตำรวจปราบจลาจล รวมทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างฟร็องซัวส์ กับ ประติมากรสาว ลิลี (โคลทิลด์ เอสม์)
ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมงของ Les Amants Reguliers ไม่มีพล็อตเรื่องเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นช่วงแรกหรือช่วงหลัง ที่มักจะปล่อยภาพและเหตุการณ์ให้ดำเนินไปเรื่อยๆ ให้เรารู้สึกเหมือนกับว่ากำลังนั่งดูข่าวหรือสารคดีรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง น่าจะเป็นความตั้งใจของฟิลลิป ในฐานะผู้เขียนบทและผู้กำกับที่ต้องการแค่อารมณ์หวนรำลึกถึงคืนวันเก่าๆ (อาจจะเป็นเรื่องราวของเขาเองก็ได้)
ฟิลลิปยังนำกลิ่นอายของภาพยนตร์ยุคนิวเวฟมาใช้ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฉากโทนที่เน้นความหม่นมัวแนวฟิล์มนัวร์ รวมทั้ง บรรยากาศยามค่ำคืนที่มีแสงสลัวๆ ประกอบกับเหตุการณ์วางระเบิด กับภาพ หมอกควันจากการปล่อยแก๊สน้ำตาของตำรวจในช่วงเรก สร้างบรรยากาศคล้ายกับฉากตอนในความฝัน...
กับคนที่ร่วมสมัยนั้นคงจะ “อิน” และหวนนึกถึงวันคืนเก่าๆ ขณะที่คนร่วมยุคสมัยนี้ ก็ไม่ยากจะจินตนาการถึงเสน่ห์แห่งวันเวลาดังกล่าว เพราะจะว่า ไปแล้ว ปารีส ก็ยังคงมีเสน่ห์ยามค่ำคืนที่แทบไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็น ฉากริมแม่น้ำแซน ถนนตรอกซอกซอยต่างๆ รวมถึงตึกรามบ้านเรือนเก่าๆ ที่ยังมีให้ต่อเติมจินตนาการถึงคราครั้งนั้นได้ไม่ยาก
ฉากตอนที่เรื่อยเปื่อยยังคงรักษาเอกลักษณ์ต่อไป ในช่วงที่ 2 ที่ฟร็องซัวส์มาขลุกอยู่ที่บ้านของ อองตวน (ชูเลียง ลูกาส์) ลูกชายเศรษฐีที่เอาแต่สูบฝิ่น บ้านของเขาเป็นแหล่งรวมศิลปิน และฟร็องซัวส์ก็พบรักกับลิลีที่นี่เอง
นอกจากความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปก่อนจะถึงจุดจบของ “คู่รัก” ฟร็องซัวส์-ลิลีแล้ว ภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นถึงแง่มุมชีวิตแบบเหลวไหลไร้สาระ ซึ่งน่าจะเป็นการเล่าภาพที่เคยเกิดขึ้นจริงในกลุ่มศิลปิน/นักศึกษายุคก่อน และที่เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาพยนตร์เล่าเรื่องย่อยๆ ของคาแรกเตอร์ศิลปินที่แต่ละคนก็มีบุคลิกของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นญาติของอองตวนที่เป็นจิตรกร ผู้ทำงานวาดรูปโดยไม่เคยแน่ใจในผลงานของตัว เพราะจะอย่างไร อองตวนก็จะซื้อผลงานของเขาแม้ว่าจะดีหรือเลว หรือตัวลิลีเองที่เป็นประติมากร เธอแม้มีบิดาเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน แต่ความฝันอันสูงสุด ก็คือ ต้องการสร้างชื่อในฐานะประติมากร จึงไม่ลังเล ที่จะทิ้งอดีตที่เอียงซ้ายไว้ข้างหลัง
ยังมีคาแรกเตอร์ โกล์ติเยร์ เกย์หนุ่มดีไซเนอร์ ผู้หลงรักอองตวน ที่มาเป็นสีสันของภาพยนตร์ช่วงหลัง ทำให้เรานึกถึงดีไซเนอร์คนดัง อย่าง ฌอง-ปอล โกล์ติเยร์ ที่อาจจะเป็นตัวตนจริงๆ ของเขา (ภาพยนตร์สร้างให้เชื่ออย่างนั้น)
ภาพยนตร์ตัดฉากตอนบนเตียงไป แม้ตามเรื่องราวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องเพราะไม่เน้นอารมณ์ใคร่ แต่ให้ความสำคัญกับอารมณ์เหงาๆ และหัวใจที่เปราะบาง ที่เป็นภาพรวมบรรยายถึงกลุ่มศิลปินวัยรุ่นกลุ่มนี้ ที่ต่างกำลังไขว่คว้า ค้นหาตัวเอง ค้นหาความหมายแห่งชีวิต ไปพร้อมๆ กับค้นหาคนที่รักและเข้าใจ รวมถึงมิตรสหายผู้ร่วมอุดมการณ์
เช่นเดียวกัน เนื้อหาสาระไม่ใช่จุดขายที่โดดเด่นเท่ากับอารมณ์ของภาพที่ถ่ายทอดผ่านท่วงทำนองที่ค่อยๆ ดำเนินไป การถ่ายภาพยอดเยี่ยมถึงขนาดกวาดรางวัลจากหลายสถาบัน น่าแปลกที่เรื่องราวซึ่งปราศจากสาระ ไร้ปมประเด็นที่แหลมคม แถมยังพูดภาษาที่ไม่คุ้นเคยกันรัวเป็นไฟเรื่องนี้ กลับสามารถตรึงสายตาคนดูเอาไว้ได้ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมง...
แค่ฉากแรกที่ฉายให้เห็นแม่น้ำแซนยามค่ำคืนประกอบเสียงเพลงจากแอคคอร์เดียนก็น่าหลงรัก ตามมาด้วยแสงเงาของฉากต่อมาเป็นภาพบันไดวนในตึกสมัยเก่า เปิดมาคล้ายภาพนิ่งได้ยินเสียงฝีเท้าเดินขึ้นบันได ยังมีเพลงประกอบเป็นเสียงเปียโน ซึ่งจะเปิดเฉพาะฉากโรแมนติกระหว่างฟร็องซัวส์กับลิลีเท่านั้น (ฉากอื่นนอกจากเสียงธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้ว แทบเหมือนหนังเงียบ)
เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์จากเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ สมัยเก่า ที่รวมกันทำให้ Les Amants Reguliers เหมือนกับหนังสือที่อ่านแล้ววางไม่ลง
นี่ยังยังไม่ได้พร่ำเพ้อถึง ฟร็องซัวส์ (หลุยส์ การ์เรล) พระเอกสุดหล่อของเรื่องเลยนะเนี่ย...

สายลมที่เปลี่ยนทิศ


ขณะที่เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการเล่าขานครั้งแล้วครั้งเล่าบนแผ่นฟิล์ม ผู้กำกับ เคน โลช กลับยืมชื่อเพลง The Wind That Shakes the Barley มาสร้างเป็นภาพยนตร์เล็กๆ ที่เอ่ยถึงสงครามกลางเมืองในไอร์แลนด์
เพลงบัลลาดไอริชที่โรเบิร์ต ดอว์เยอร์ จอยซ์ นักเขียน/กวีชาวไอริชแต่งเนื้อร้องเอาไว้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักปฏิวัติหนุ่มกับสาวคนรัก ก่อนที่เขาจะเข้าสู่วังวนเห่งความรุนแรงในสงครามกลางเมือง ปี 1798
บทเพลงมีความเกี่ยวโยงกับเมล็ดข้าวบาร์เลย์ โดยนอกจากจะแสดงให้เห็นบรรยากาศสถานที่ในไอร์แลนด์ซึ่งเต็มไปด้วยธรรมชาติและท้องทุ่งข้าวบาร์เลย์แล้ว นักสู้สมัยนั้นยังมักจะพกเมล็ดข้าวเอาไว้ในกระเป๋ากางเกง เพื่อเอาเคล็ด
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเพณีการขุดหลุมหยอดเมล็ดข้าว ณ บริเวณท้องทุ่งอันเป็นที่ขุดหลุม ฝังศพนักสู้ผู้กล้า 1 ศพต่อ 1 ต้น ให้เจริญงอกงามอร่ามทุ่ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ระหว่างชาวไอริชและผู้รุกรานชาวอังกฤษ

I sat within the valley green, I sat me with my true love
My sad heart strove the two between, the old love and the new love
The old for her, the new that made me think on Ireland dearly
While soft the wind blew down the glen and shook the golden barley

ภาพยนตร์ของเคน โลช เล่าเรื่องราวไม่ต่างจากในบทเพลง... การต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษในทศวรรษ ที่ 1920 กลุ่มคนหนุ่มมากมาย โดยเฉพาะปัญญาชนจากหลายหลากอุดมการณ์ รวมตัวกันต่อสู้เพื่อหนึ่งเดียว คือ ประเทศแม่... ไอร์แลนด์
เรื่องราวเน้นให้เห็นความสัมพันธ์ของ 2 พี่น้องแท้ๆ ดาเมียน (คิลเลียน เมอร์ฟี) และเทดดี (แพดดริก เดลานีย์) เข้าร่วมขบวนการใต้ดินในการต่อสู้กับอังกฤษ
ในเบื้องแรก ดาเมียน นักศึกษาแพทย์ผู้ต่อต้านความรุนแรง ปฏิเสธที่จะจับอาวุธขึ้นต่อต้านผู้รุกราน ต่อเมื่อความรุนแรงรุกล้ำเข้ามาในชีวิตประจำวันมากเข้าเรื่อยๆ เขาตัดสินใจเลิกล้มการเดินทางไปเรียนหมอในกรุงลอนดอน หันมาร่วมกับพี่ชายนายทหารแอคติวิสต์เข้าเป็นหนึ่งในขบวนการใต้ดิน และแล้วเหตุการณ์อันนองเลือดก็เริ่มต้นขึ้น
ฉากสำคัญ เห็นจะเป็นฉากบรรยากาศยามเช้า กลุ่มนักสู้ผู้กล้าเดินทางไป "จัดการ" อังกฤษตามแผน ด้วยการซุกซ่อนตัวตามทุ่งข้าวบาร์เลย์ ก่อนจะเปิดฉากยิงกระหน่ำ ทำการปล้นปืนของอังกฤษ
เรื่องราวจบลงด้วยความเศร้า แม้ว่า ฝ่ายไอร์แลนด์กับอังกฤษจะปิดฉากการสู้รบอย่างเป็นทางการด้วยสัญญาสันติภาพ ทั้งดินแดนไอร์แลนด์ที่เป็นอิสระก็ได้รับการก่อตั้งขึ้น ทว่า ฝ่ายผู้ถืออุดมการณ์เสรีสุดโต่ง ยังคงกังขากับอิสระเสรีที่พวกเขาได้รับว่า อาจจะเป็น เสรีภาพจอมปลอม และพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของไอร์แลนด์อิสระ ก็ทำให้พี่กับน้องต้องแตกคอ และหันปลายกระบอกปืนเข้าหากันเอง

'Twas hard the woeful words to frame to break the ties that bound us
But harder still to bear the shame of foreign chains around us
And so I said, "The mountain glen I'll seek at morning early
And join the bold united men," while soft winds shake the barley

ภาพซ้ำซากของการต่อสู้ที่ไม่รู้จบ ร่างไร้วิญญาณ รายแล้วรายเล่าต้องฝังสังขารอยู่ใต้ทุ่งข้าวบาร์เลย์ ไม่ต่างจากการต่อสู้อันยาวนานของชนชาวไอริชมาตลอดระยะเวลา สัญญาแองโกล-ไอริชเป็นเพียงชัยชนะนัดแรกของขบวนการปลดปล่อยชาวไอริช (ไออาร์เอ) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งอย่างน้อยก็ทำให้ทางตอนใต้ของไอร์แลนด์ได้รับอิสรภาพโดยสมบูรณ์ มีเพียงไอร์แลนด์เหนือที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร (แต่ก็ ไม่แน่ว่า ภาพยนตร์ของเคน โลชเรื่องนี้ จะปลุกวิญญาณแห่งความรักชาติของชาวไอร์แลนด์เหนือขึ้นมาอีกหรือไม่)
เหตุที่ The Wind That Shakes the Barley ได้รับปาล์มทองคำ อาจจะเป็นเพราะเรื่องราวการต่อสู้ของชาวไอริชเป็นสิ่งที่ "น่า" จะพูดถึงกันมากกว่านี้ ทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของปุถุชนคนธรรมดา จึงเข้าถึงได้ง่ายกว่าเรื่องราวมหากาพย์ของนักอุดมการณ์ อย่าง Michael Collins เสียด้วย ก่อนหน้านี้ ภาพลักษณ์ของไออาร์เอ ไม่ว่าจะเป็นในภาพยนตร์ฮอลลีวูดหรือภาพยนตร์อังกฤษ มักจะออกมาในบทบาทของ "ผู้ (ก่อการ) ร้าย" เสียเป็นส่วนใหญ่ ยากยิ่งที่ใคร จะเข้าใจถึงความบีบคั้น แร้นแค้น ทั้งกายและใจ ของคนท้องถิ่น ที่เป็นเหตุผลของการลุกขึ้นมาต่อสู้
The Wind That Shakes the Barley ดูแล้วเครียด เพราะมีเนื้อแท้แห่งความเป็นจริงมากเหลือทนจนบางคนอาจยากจะทำใจให้ยอมรับ แม้ฉากตอนของเรื่องราวจะย้อนไปในทศวรรษที่ 1920 แต่ไม่รู้ว่า บังเอิญหรือตั้งใจ จึงได้มีส่วนของเนื้อหาที่คล้ายๆ กับที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโลกใบนี้หลายแห่ง
ราวกับโลกของเราไม่ได้หมุนไปข้างหน้าอย่างนั้นล่ะ...

เวลาความสุข ไม่ย้อนกลับ


จะตั้งชื่อเรื่องว่า “ชีวิตเศร้าๆ ของคนเหงา 2 คน” ก็ดูจะหน่อมแน้มไป และอาจจะกลายเป็นแนวผิดเพศเกินสักหน่อย สำหรับภาพยนตร์ที่เล่าภาพชีวิตของคนจริงๆ ที่อยู่ในสังคมเรื่องนี้
เคลลี ริชาร์ดต์ บริหารเงินทุนของเธอได้ดี โดยสร้างภาพยนตร์ Old Joy จากนิยายของจอห์น เรย์มอนด์ ชื่อเดียวกัน ให้มีนักแสดงหลักตลอดเรื่องเพียง 2 คน -- เคิร์ต (วิล โอลด์แฮม) และ มาร์ก (แดเนียล ลอนดอน) เพื่อนเก่าที่ไม่ได้ติดต่อกันมานาน อยู่ดีๆ เคิร์ตก็โทร.มาหามาร์ก และชวนไปเที่ยวแคมปิงในป่าใกล้ๆ กับพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน
สำหรับมาร์ก นี่จะเป็นทริปสุดท้ายก่อนที่เขาจะต้องทุ่มเทความรับผิดชอบในฐานะคุณพ่อคนใหม่ ขณะที่เคิร์ตต้องการไปเที่ยวครั้งนี้เพื่อตัวของเขาเอง ที่อยากหวนรำลึกถึงความสุขความทรงจำในอดีตเมื่อครั้งเยาว์วัย รวมทั้ง ปรับอารมณ์ใหม่ให้หายหดหู่
ท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงามของป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งคู่พยายามพูดคุยกันเหมือนวัยเด็ก โดยที่ต่างมีความคับข้องใจไปคนละอย่าง มาร์กรู้สึกผิดกับการหนีภรรยาท้องแก่มาเที่ยว ส่วนเคิร์ตก็โดนชีวิตเคี่ยวกรำจนแทบทำให้เดินต่อไปข้างหน้าไม่ไหว
ภาพยนตร์แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของเพื่อน 2 คนที่ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป การปรับตัวเข้าหากันกลายเป็นเรื่องยาก พวกเขาหลงทางภายใต้การนำของเคิร์ต จึง มิอาจไปถึงน้ำพุร้อนอันเป็นจุดหมายภายในวันเดียวอย่างที่ตั้งใจ มาร์กนั้นแทบอดรนทนไม่ไหว เกือบเดินกลับบ้านไปทันที ในใจเขาคงพร่ำแต่คิดว่า ไม่ควรทิ้งบ้านมา...
มืดค่ำ พอสิ้นหนทางไป พวกเขาขับรถไปเจอสถานที่ตั้งแคมป์

ถึงตอนนี้ ความในใจของเคิร์ตก็เริ่มพรั่งพรูออกมาทีละน้อย ความทรงจำเก่า-ใหม่ เรื่องราวขัดแย้งวัยเยาว์ ฯลฯ มาร์กตกลงไปในบ่อแห่งเรื่องราวความคิดของเคิร์ตอย่างช่วยไม่ได้
มาร์กยืนยันให้สุนัขของเขาเข้านอนในเต็นท์เดียวกันด้วย “เพราะมันจะช่วยให้อุ่นดี” แสดงถึงความเย็นชาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน...

จริงๆ แล้ว บทสนทนาระหว่างคน 2 คนในเรื่องคือหนึ่งในเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ว่า ในความเป็นจริงแล้วเป็นเคิร์ตพูดอยู่แทบจะฝ่ายเดียว แต่ละบทแต่ละตอนดูไร้ที่มาให้สืบสาวราวเรื่อง เหมือนกับจะรู้กันเพียง 2 คน โดยเฉพาะถ้าเผลอหลับหรือลุกไปเข้าห้องน้ำ ก็อาจจะต้องย้อนกลับไปชมกันใหม่
บทพูดเป็นกระจกสะท้อนความเป็นไปในสังคมอเมริกัน ให้อารมณ์รำลึกถึงความหลังอันงดงามและไม่อาจหวนคืนมา ในภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมและส่วนตัวที่ยากจะหาหนทางไป เคิร์ตคือตัวแทนของคนที่ตกเป็นเหยื่อ ทั้งเขายังไม่อาจปรับตัวสอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนไป
คาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันสุดขั้วของเพื่อน 2 คน ก็เป็นภาพขัดแย้งอันเป็นที่นิยมในหมู่นักทำภาพยนตร์อินดีอเมริกันยุคนี้ นับ ตั้งแต่ความสำเร็จของ Sideways เป็นต้นมา ขณะที่มาร์กเป็นหนุ่มที่ดูเนี้ยบๆ เรียบร้อย หน้าตาสะอาดสะอ้านเกลี้ยงเกลา มีชีวิตที่เป็นระเบียบแบบแผน แต่เคิร์ตกลับแต่งกาย ไว้เครา ดูเป็นฮิปปี้ และใช้ชีวิตแบบอิสรเสรี ทั้งคู่ยังเป็นตัวแทนความขัดแย้งทางความคิด ของคนที่นิยมชีวิตโสดกับคนมีครอบครัว
นอกจากความขัดแย้งของ 2 คาแรกเตอร์แล้ว ทั้งคู่ยังมีความขัดแย้งในตัวเอง มาร์กดูเหมือนจะใช้ชีวิตหมุนไปตามกฎเกณฑ์แห่งสังคม ทว่าเขากลับเซตช่องวิทยุแอร์อเมริกา ที่มีแต่พวกแอ็กทิวิสต์หรือพวกหัวรุนแรง เท่านั้นที่ชอบฟัง (ในเรื่องยังเน้นให้เป็นช่วงตอนที่คนโทร.เข้ามาถกเถียงแสดงความคิดเห็นเสียงดังลั่น) ส่วนเคิร์ตนั้นเล่า ดูภายนอกเหมือนเขาจะขบถต่อสังคม ทว่าในใจลึกๆ กลับเต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว
เทคนิคการถ่ายภาพแบบรีเวิร์สช็อต หรืออาศัยกล้องแทนตัวละครการถ่ายแบบ 180 องศา โดดเด่นมากสำหรับภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องราวแบบคนคู่ โดยเฉพาะเรื่องที่พูดจาสนทนากันอยู่เพียง 2 คนตลอดทั้งเรื่องอย่างนี้
ในความขมึงตึงเครียด เคลลีอาศัยทัศนียภาพงดงามของธรรมชาติรายทาง ความเงียบที่เวิ้งว้าง ทำให้ธรรมชาติสวยงามนั้นดูยิ่งเหงา...ยิ่งหลอน เหมือนกับที่เคยเห็นกันในเรื่อง Gerry ของกัส แวน แซนต์ และที่ใกล้ๆ หน่อยก็ Brokeback Mountain ของอั้ง ลี่
ภาพยนตร์เล็กๆ เรื่องราวของคนเล็กๆ แต่กลับสะท้อนให้เห็นถึงสังคมอเมริกันในภาพรวม เผลอๆ จะสะท้อนถึงสังคมเหมือนๆ กันเกือบทั้งโลก จุดเปลี่ยนของยุคสมัยส่ง ผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนที่ยังยึดติดระบบ/ความคิดเก่าๆ ความเชื่อเดิมๆ
การเดินทางท่องเที่ยวแช่น้ำแร่ผ่อนคลายของเคิร์ตและมาร์กครั้งนี้ไม่ได้ผล แถมรัง แต่จะพกพาความอึดอัดกลับไปอีกอักโข
เวลาแห่งความสุขวัยเด็กไม่มีวันหวน คืนจริงๆ ...

สงคราม...ไม่มีวันสุดสิ้น


เยอรมนี ประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปลายๆ ปี 1945 หลังจากที่โดนสหภาพโซเวียตรุกคืบจนไร้ทางถอย และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในหลุมหลบภัย...
ญี่ปุ่น ยกธงขาวเช่นเดียวกัน หลังจากระเบิดปรมาณู 2 ลูกถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ...
อย่างเป็นทางการ -- ถือว่า สงครามได้สิ้นสุดลงไปแล้ว หากทว่าสำหรับผู้ที่ประสบภัยจากสงคราม ดูเหมือนว่าทั้งชาตินี้ไม่มีวันที่จะสิ้นสุด จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ
Zwartboek (Black Book) เปิดเรื่องขึ้นมาเชยๆ ให้นักท่องเที่ยวสาว รอนนี (ฮาลินา รียิน) ที่เดินทางไปเยือนอิสราเอลในปี 1956 ได้พบกับเพื่อนเก่าสมัยสงครามของเธอ จากกรุงเฮก ประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งปัจจุบันเป็นครูอยู่ในโรงเรียนยิว ราเชล สไตน์ หรือเอลลิส เด ฟรีส (คาริซ ฟาน ฮูเตน) -- การพบกันสะกิดอารมณ์ระลึกความหลังของหญิงสาวชาวยิว ผู้รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้...
เรื่องราวตัดกลับไปยังปีสุดท้ายของสงครามโลกใน 1944 เมื่อเยอรมนีรุกคืบเข้ามายึดฮอลแลนด์ได้สำเร็จ ราเชลซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้หลังคาของเพื่อนบ้าน แต่กลับถูกเยอรมันนาซีส่งระเบิดทำลายบ้านดังกล่าวเสียราบคาบ เธอรอดตายหวุดหวิดเพราะไม่อยู่ในบ้าน และได้รับความช่วยเหลือจากชายคนหนึ่ง ซึ่งบอกว่าสามารถจะพาเธอหนีออกจากฮอลแลนด์ได้
ในกลุ่มของชาวยิวอพยพ ราเชลได้พบกับครอบครัวที่พลัดพรากไป ยังไม่ทันดีใจที่ได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง แพผู้ลี้ภัยที่กำลังล่องไปอย่างเงียบเชียบกลางลำน้ำ ก็เผชิญหน้าเข้ากับตำรวจเอสเอสของนาซี ที่ทำการกราดยิงชาวยิวบนแพทั้งหมด ราเชลถูกกระสุนถากหน้าผากและกระโดดน้ำหนีได้ทันเวลา เธอแอบซ่อนในน้ำแล้วได้เห็นตำรวจเอสเอสทำการปล้นเอาของมีค่าจากผู้เสียชีวิต
ราเชลได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มใต้ดินต่อต้านนาซี เปลี่ยนชื่อให้เธอใหม่เป็น เอลลิส เด ฟรีส ทั้งย้อมผมเธอให้เป็นสีบลอนด์ไม่ให้คนสงสัยว่าเธอเป็นยิว เอลลิสได้ทำงานในโรงงาน ก่อนที่จะกลายเป็นหนึ่งในคนสำคัญที่ทำงานให้องค์กรใต้ดิน
เอลลิสต้องรับบทผู้ขน "ของ" ระหว่างการเดินทางครั้งหนึ่ง ร่วมกับเพื่อนหน่วยใต้ดินอย่าง หมอฮันส์ อัคเคมันส์ (ตอม ฮอฟฟ์แมน) เธอหลบหลีกตำรวจเอสเอสจนกระทั่งได้ไปพบกับนายพลลุดวิก มึนต์เซ (เซบาสเตียน โคช) ที่ความงามของเธอนั้นถูกตาต้องใจเขาไม่น้อย และจึงกลายเป็นแผนขั้นต่อไป โดยให้เธอเข้าไปสานสัมพันธ์กับเขา เพื่อเป็นสายสืบเรื่องราวในกองบัญชาการนาซี ถึงแม้ลุดวิกจะระแวงสงสัยในตัวหญิงสาวผมดำที่ย้อมเป็นสีบลอนด์คนนี้ แต่ดูเหมือนทั้งคู่จะตกหลุมรักกันและกันอย่างจริงจัง
ที่กองบัญชาการนาซี เอลลิสได้พบกับกุนเทอร์ ฟรังเคน (วัลเดอร์มาร์ โคบุส) ซึ่งเธอจดจำออกว่าเป็นผู้นำหน่วยเอสเอสที่ทำการสังหารชาวยิวบนแพอพยพ เขางัดข้อกับลุดวิก ทำให้ปฏิบัติการของเอลลิสไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับ "สงคราม" ซึ่งยากที่จะสิ้นสุด
ภาพยนตร์ของ พอล เฟอร์โฮเฟน เจ้าของผลงานดัง อย่าง RoboCop (1987) Total Recall (1990) Basic Instinct (1992) และ Starship Troopers (1997) ซึ่งดูเหมือนว่าจะดำเนินเรื่องอย่างเชยๆ และเน้นไปที่ความเป็นเมโลดรามาอย่างล้นเหลือ กระทั่งหลายคนอาจจะกระอักกระอ่วนจากความเลี่ยน (เตือนไว้ก่อน)
แต่ก็ยังมีดีให้น่าติดตาม โดยเฉพาะบทที่เขียนหลอกคนดูอยู่หลายทอด กว่าจะรู้ว่าที่แท้ใครคือคนทรยศกันแน่ ก็ต้องรอจนเรื่องราวดำเนินไปจนเกือบสุดสิ้น ให้พบสิ่งที่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ก็คือ "สมุดปกดำ" ที่บันทึกเรื่องราวของชาวยิวและหน่วยใต้ดินนอกกฎหมายในฮอลแลนด์เอาไว้ทั้งหมดนั่นเอง
สมุดปกดำ เช่น Zwartboek หรือ Black Book อาจจะเป็นคำตอบสุดท้ายในสงครามที่สิ้นสุด
ทว่า ในใจของเหยื่อสงคราม เช่น ราเชล ผู้เป็นตัวแทนของชาวยิวนับล้านที่เสียชีวิตไปนั้น สงคราม...ในใจนั้นไม่มีวันที่จะสุดสิ้นเลย

สองเรา = หนึ่งคนหนึ่งสุนัข


บองบง (Bombon) เป็นชื่อของสุนัข หนังเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับสุนัขที่มาเปลี่ยนชีวิตและวิธีคิดของคนคนหนึ่ง...
สำหรับคนที่ชอบหนังแอ็กชัน บู๊สะบั้นหั่นแหลก บอกล่วงหน้าเลยว่า อย่าได้พยายามไปซื้อหา Bombon El Perro มาดู เพราะคงจะอดรนทนท่วงทำนองของหนังที่เอื่อยเฉื่อยเรื่องนี้ไม่ไหวเป็นแน่แท้
ตัวละครในเรื่องนำเอาชื่อจริงๆ ของตัวเองมาใช้ในหนังกันเลย ฮวน บิลเยกาส แสดงเป็นหนุ่มวัย 50 ต้นๆ ที่ตกงาน เขาอาศัยบ้านของลูกสาวที่มีลูกและสามีไม่ได้เรื่อง ฮวนพยายามหางานทำไปพร้อมๆ กับขายมีดที่เขาประดิษฐ์ด้ามเองจากไม้ชนิดพิเศษ ไม่เหมือนใคร
ทุกคนชอบมีดของเขา ทว่ามีดสวยๆ เหล่านั้นเป็นของฟุ่มเฟือยในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด ไม่มีใครต้องการเสียเงินไปกับสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกันการงานก็เป็นสิ่งหายาก โดยเฉพาะสำหรับคนในวัยเดียวกับฮวน
ชีวิตของเขาดูเหมือนสิ้นหวังลงทุกที ขนาดที่ไปเติมน้ำมันแล้วชนะรางวัลน้ำมันเครื่อง 1 ขวด ยังกลายเป็นโชคดีที่ยิ่งใหญ่ที่เขาอยากเล่าให้ใคร ต่อใครฟัง
แต่พระเจ้าก็ยังทรงเมตตา ให้เขาเดินทางไปพบผู้หญิงคนหนึ่ง และช่วยเธอนำรถที่เสียบนทางหลวงกลับไปส่งเธอถึงบ้าน แม่ของเธอจึงตอบแทนเขาด้วยสุนัขพันธุ์อาร์เจนติเนียนโดโกแท้ ซึ่งสามีของเธอทิ้งเอาไว้ก่อนตาย
จริงๆ แล้วเจ้าหมาน้อยสีขาวหุ่นดีชื่อว่า บองบง แต่แม่ของหญิงสาวเล่าว่า สามีที่เป็นชาวฝรั่งเศสของเธอเรียกมันว่า เลอเชียง (le chien) ซึ่งภาษาฝรั่งเศสแปลว่าสุนัข ฮวนเลยเข้าใจผิดคิดว่าเจ้าบองบงชื่อ เลอเชียง กระนั้นหลังจากรู้ความจริงแล้ว เขาก็ยังเรียกมันว่าเลอเชียงเหมือนเดิม
เลอเชียงนับว่าถูกโฉลกกับฮวนโดยแท้ แม้เขาจะโดนลูกสาวต่อว่า หากเพียงวันแรกที่มีมันร่วมทาง เขาก็ได้งานเฝ้าโกดังพร้อมที่พักและอาหาร พอจะไปขึ้นเงินที่ธนาคาร ผู้จัดการสาขาพอเห็นเจ้าบองบงเข้า ก็แนะนำให้เขาไปพบคนฝึกสุนัข (วอลเทอร์ โดนาโด) ซึ่งได้พาเขาเข้าสู่โลกของการประกวดสัตว์เลี้ยง โดยวอลเทอร์พยายามหว่านล้อมให้ทั้งคู่แบ่งผลกำไรกันคนละครึ่ง
วอลเทอร์หาช่องทางทำเงินให้ตัวเอง (และฮวน) อีก ด้วยการเสนอตัวเป็นพ่อพันธุ์แสนดีให้แก่ แม่พันธุ์อาร์เจนติเนียนโดโก ความพยายาม 2 ครั้งไม่ได้ผล จนต้องพาเจ้าบองบงไปตรวจร่างกายกันทีเดียว สัตวแพทย์บอกว่า มันมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีทุกอย่าง เพียงแต่ไร้สมรรถภาพทางเพศเท่านั้นเอง !
ฝันที่จะสร้างรายได้อีกทางสูญสลาย วอลเทอร์ เสนอว่าฮวนควรจะกลับไปทำงานเป็นช่างเหมือนเดิม ส่วนเขาจะพาเจ้าบองบงไปประกวดในงานต่างๆ เอง โดยฮวนผู้เป็นคนเรื่อยๆ เฉื่อยๆ อยู่แล้ว ปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ
หรือว่า -- คำทำนายจากกาแฟก้นถ้วยของตุรกี... “ยังมีถนนให้คุณเดินทางอีกมากมาย และเส้นทางยังอีกยาวไกล” โดยนักร้องคาบาเรต์ (โรซา บัลเซคคี) ที่เขาพบระหว่างไปแข่งขันประกวดสุนัขจะไม่เป็นเช่นนั้น
อนาคตยังคงเป็นเรื่องที่มาไม่ถึง แต่ประโยคที่เธอบอกเขาว่า “เราไม่มีทางรู้ว่า เรารักคนคนหนึ่ง หรือสุนัขตัวหนึ่งมากขนาดไหน จนกระทั่งเราต้องสูญเสียมันไป” ช่างตรงใจของฮวนในตอนที่ไม่มีเลอเชียงเสียจริง...
หนังถ่ายทำกันในเมืองชนบทอันห่างไกลของอาร์เจนตินาอย่าง พาตาโกนียา เป็นเรื่องที่อาศัยสไตล์แลนด์สเคปมาเป็นองค์ประกอบของเรื่อง ตามเทรนด์แห่งยุคสมัยอีกเรื่องหนึ่ง ผู้กำกับคาร์ลอสปิ๊งฮวน บิลเยกาส ซึ่งเป็นช่างอยู่แถวๆ กองถ่าย จึงชวนเขามาลองเล่นหนังที่เล่าเรื่องราวความรักความผูกพันของคนและสุนัข และความสัมพันธ์ที่จะค่อยๆ พัฒนาไประหว่างหญิง (โรซา นักร้องคาบาเรต์) กับชาย (ฮวน)
สำหรับตอนจบของเรื่อง คาร์ลอสทิ้งให้คนดูคิดกันเองเป็นเรื่องอนาคต แล้วแต่จินตนาการของแต่ละคนจะวาดให้เป็นไป โดยมีไกด์คร่าวๆ เป็นคำทำนายของโรซา
...ยังมีถนนให้คุณเดินทางอีกมากมาย และเส้นทางยังอีกยาวไกล...
ส่วนในปัจจุบันขณะ โลกยังคงสดใสสวยงาม เพราะฮวนมีเลอเชียง
หนังสิ้นสุดภาพความผูกพันระหว่างคนกับสุนัขลงพร้อมรอยยิ้มน้อยๆ ที่เปี่ยมสุข แต่หลายคนก็อาจจะคิดเหมือนกันว่า น่าจะสุขใจได้รอยยิ้มกว้างและซาบซึ้งกว่านี้ หากคาร์ลอสเลือกนักแสดงมืออาชีพสักคนมาแสดงในบทนำ
เพราะในส่วนของเจ้าสุนัขบองบง เลอเชียงนั้น ตีบทแตกอย่างที่ฮอลลีวูดยังต้องอาย...

เสมือนจริง = ไม่จริง เรื่องขำที่ขำไม่ออก


LOL เป็นศัพท์ของเด็กแชต และนักส่งข้อความทางมือถือที่หมายความว่า "ขำกลิ้ง" หรือ "ขำก๊าก" (laugh out loud) ทว่าหนังของ โจ สวอนเบิร์ก เรื่องนี้จะว่าไปก็ไม่ค่อยจะขำสักเท่าไร โดยเฉพาะเรื่องราวของตัวละครหลัก 2 ตัว อย่าง อเล็กซ์ (เควิน เบเวอร์ดอร์ฟ) และคริส (ซี. เมสัน เวลส์) ที่ใช้ชีวิตแบบหลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริง ไปหลงใหลสาวจากอินเทอร์เน็ต และเซ็กซ์โฟน ทั้งมิอาจแยกแยะออกจากความเป็นจริงส่วนตัว ก็ทำให้โลกของพวกเขาไร้เสียง LOL (หัวเราะดังๆ)
เพื่อนหนุ่มอีกคน ทิม (โจ สวอนเบิร์ก) แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวที่มีตัวตนในชีวิตจริง คือ เอดา (บริจิต เรแกน) และทำท่าไม่เข้าใจว่าเพื่อนทั้ง 2 ทำอะไรกันอยู่ กับคนที่ไม่เคยคบหาอย่างคุ้นเคย ไม่เคยมาใช้ชีวิตร่วมกัน จะรักกันเข้าไปได้อย่างไร ขณะที่ตัวเขาเองก็ติดคอมพิวเตอร์ที่บรรจุไว้ด้วยโปรแกรมแชตและเกมส์น่าสนอีกมากมาย แถมเขายังเป็นโรคติดคุยโทรศัพท์ตลอดเวลา ก็ทำให้ความสัมพันธ์กับแฟนสาวเต็มไปด้วยความเฉยเมย
โลกของคนติดแชตแตกต่างกับคนอื่น หญิงสาวน่ารักคนหนึ่งที่มาหลงเสน่ห์นักสร้างสรรค์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่างอเล็กซ์ สร้างความประหลาดใจให้ชายหนุ่ม เมื่อบอกว่าเธอเช็กอีเมลสัปดาห์ละครั้ง ขณะที่ตัวเขาเช็กเมล (จากสาวที่หลงรักผ่านห้องแชต) แทบทุก 30 วินาที
หนังเปิดเรื่องมาอย่างน่าสนใจ เป็นภาพคลิปหญิงสาวกำลังโชว์เปลื้องผ้าจากอินเทอร์เน็ต พร้อมคำพูดเชิญชวน "ฉันมีคุณคนเดียว" หลังจากนั้นภาพตัดมาเป็นชายหนุ่มกว่าครึ่งค่อนโลกที่กำลังชมอยู่ (LOL)
มีอีกหลายฉากที่ โจ ผู้ทั้งกำกับ แสดง เขียนบท ตัดต่อ และสร้างเอง แสดงให้เห็นถึงมุมเสียดสีสังคมของคนที่บ้าเทคโนโลยี จนไม่สนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ไม่ว่าจะเป็น ภาพคริสกำลังสบตาพูดคุยกับสาวนางหนึ่ง ขณะที่ในหัวของเขาได้ยินแต่เสียงหญิงสาวอีกคนที่ไม่เคยเจอะหน้า แต่เป็นเสียงฝากข้อความทางโทรศัพท์ พร้อมคลิปภาพโป๊เป็นชุดๆ
ภาพอเล็กซ์ที่พยายามจะนัดพบกับสาวในอินเทอร์เน็ตในเซนต์หลุยส์ แต่กลับไปพักบ้านของหญิงสาวอีกคนที่ปิ๊งเขา ห้องของเธอไม่มีคอมพิวเตอร์ อเล็กซ์จึงต้องไปใช้คอมพิวเตอร์ของแม่เธอ ซึ่งไม่เคยใช้งานมานาน จนกระทั่งสายไฟยังมีไม่ครบ
รวมทั้ง ภาพทิมนั่งข้างๆ เพื่อนหนุ่มอีกคน บนตักของทั่งคู่มีโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ แทนที่จะคุยกันตรงๆ กลับคุยกับผ่านการแชต ฯลฯ
การสร้างสรรค์เพลงอิเล็กทรอนิกส์ของอเล็กซ์ในเรื่อง รวมทั้งการเก็บภาพหน้าคนมากมาย กำลังทำเสียงต่างๆ หน้ากล้องวิดีโอ นำมาสรรค์สร้างเป็นเสียงดนตรี ก็สร้างสีสันให้ LOL เพิ่มได้อีกอักโข
หนังเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย ให้พฤติกรรมของแต่ละคนเล่าเรื่องที่เสียดสีสังคมไปเรื่อยๆ เหมือนเช่นเหตุการณ์เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเหล่านั้นจริงๆ
และเรื่องราวในชีวิตคนเรา ณ ปัจจุบันนี้ ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ นั่นแหละ ...
LOL ขำป่ะ?

งานชุมนุมหุ่นยนต์ (ผู้กำกับ)


แม้จะผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่เนื้อหาใน Robotto kanibaru (Robot Carnival) ยังคงมีความร่วมสมัย ไม่ต่างกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ "มนุษย์ 200 ปี" หรือ The Bicentennial Man ของ อิสซาค อาสิมอฟ คนรุ่นใหม่ๆ ที่เคยชื่นชอบ Animatrix ซีรีส์การ์ตูนสั้น ที่ออกมาพร้อมๆ กับภาพยนตร์ไตรภาค Matrix ต้องบอกว่า ซีรีส์เรื่องนี้ "เป็นพ่อเป็นแม่" ของ Animatrix อีกที
9 ผู้กำกับ นำโดย คัตสึฮีโร โอโทโม (เจ้าของผลงาน Akira) มาเล่าเรื่องผ่านมังงะขนาดสั้นในสไตล์เฉพาะตัว เบิกโรงโดย พี่ใหญ่ คัตสึฮีโร ที่พายานบรรทุกหุ่นยนต์ขนาดมหึมา ซึ่งเป็นรูปตัวหนังสือ Robot Carnival มาเบิกโรง "งานชุมนุมหุ่นยนต์" เป็นเรื่องแรก
มังงะสั้นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีบทพูด หากอาศัยเทคนิคการ์ตูนเคลื่อนไหวประกอบดนตรี คล้ายกับแอนิเมชันในยุค "ซิลลี ซิมโฟนี" ของวอลท์ ดิสนีย์
ช่วงแรกเรียก Opening กำกับโดย คัตสึฮีโร โอโทโม และ อัตสึโกะ ฟุกุชิมะ เล่าเรื่องราวของยานหุ่นยนต์ขนาดมหึมา ที่เดินทางมาจัดงานคาร์นิวัล หุ่นใกล้หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางทะเลทราย ปี่แตรเบิกโรงการแสดงแทบไม่ต่างจากการประกาศสงครามของมหาอำนาจต่อประเทศเล็กๆ ในทะเลทราย สายรุ้ง ประทัด และตุ๊กตาเริงระบำที่สวยงาม กลับคล้ายระเบิดเวลาที่ทำลายหมู่บ้านให้ราบเป็นหน้ากลอง
Franken's Gears ผลงานของ โคจิ โมริโมโต ได้แรง บันดาลใจจากวรรณกรรมของ แมรี เชลลี เรื่อง Frankenstein ศาสตราจารย์กำลังสร้างหุ่นยนต์ แต่กลับเกิดเหตุผิดปกติก่อนที่ขั้นตอนทั้งหลายจะเสร็จสมบูรณ์ กระนั้นเจ้าหุ่นที่บรรจงสร้างยังสามารถฟื้นตื่นมีชีวิตขึ้นมาได้ แต่ก็แน่นอน มิใช่อย่างที่ศาสตราจารย์คิดหวังเอาไว้...
ตามด้วยผลงานของ ฮิเดโตชิ โอโมริ Deprive เรื่องราวของหุ่นยนต์ผู้รุกรานจากนอกโลก ที่มีหุ่นยนต์แบบฮิวแมนนอยด์ หรือ หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์เป็นผู้ช่วยกอบกู้โลกเอาไว้
ถัดมาเป็นดรามามังงะ Presence กำกับโดย ยาสึโอมิ อูเมตซึ เล่าเรื่องของชายหนุ่ม ผู้พยายามใช้ชีวิตตามแบบแผน มีภรรยา มีลูก แต่ยังรู้สึกโดดเดี่ยว เขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ต้องการรักษาธรรมชาติ ดูเหมือนผู้คนจะแอนตี้หุ่นยนต์ เห็นพวกมันเป็นสัตว์เลี้ยง หุ่นยนต์ที่เก่าพังถูก ทิ้งในถังขยะ ก่อนจะไปวางกองรวมกันสูงราวตึกระฟ้า 40 ชั้นที่ นอกเมือง
ชายหนุ่มแอบสร้างหุ่นยนต์ ผู้หญิงที่สวยราวตุ๊กตา นับเป็นสิ่งที่ตอบสนองอารมณ์ที่รักความตื่นเต้นของเขา แต่เมื่อหุ่นยนต์สาวสวยกลับสามารถซึมซับความรู้สึกโดดเดี่ยวในจิตใจของเขาได้ แถมกลายเป็นหุ่นแบบมีอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมา ทางออกที่เขาเลือกจึงกลายเป็นความเศร้าใจตลอดชีวิตของตัวเอง
Star Light Angel ผลงาน ฮิโรยูกิ คิตะซูเมะ มังงะสั้นๆ และเต็มไปด้วยจังหวะดนตรีสนุกสนาน เรื่องราวของเด็กสาว 2 คน ที่เข้าไปเที่ยวในสวนสนุก เด็กสาวคนหนึ่งอกหัก จึงวิ่ง เตลิดไป ภาพหลอนทำให้เธอเห็นแฟนเก่ากลายเป็นปีศาจ แล้วบรรยากาศรอบข้างก็กลายเป็นโลกตามจินตนาการที่มืดมนของเธอ หุ่นยนต์ประจำสวนสนุกรับบทอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยเธอให้พ้นจากเภทภัย
Cloud คือมังงะสั้นที่โดดเด่นมากที่สุดในบรรดามังงะสั้นทั้ง 9 เรื่อง (หรืออาจจะเป็นความชอบส่วนตัวของผู้เขียน) ผลงานของ เมา ลัมเดา ถ่ายทอดออกมาเป็นลายเส้นเคลื่อนไหวคล้ายสตอรีบอร์ด เล่าเรื่องของหุ่นยนต์ที่เปรียบประหนึ่งมนุษย์ผู้เดินทางผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านอุปสรรคและกาลเวลา ที่แสดงออกด้านความแปรเปลี่ยนผ่านทางก้อนเมฆ ที่เปลี่ยนรูปร่างไปต่างๆ กัน ตั้งแต่โครงร่างของศิลปะสมัยเรอเนสซองซ์ รูปยูเอฟโอ รูประเบิดปรมาณู ฯลฯ ประกอบดนตรีที่ให้อารมณ์เหมือนฝัน
A Tale of Two Robots -- Chapter 3: Foreigner Invasion เป็นมังงะอีกเรื่องที่มีบทพูด เล่าเรื่องของหุ่นยนต์ 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นผู้รุกรานจากต่างประเทศ อีกตัวเป็นหุ่นยนต์รูปอาคารโบราณญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ปกป้องประเทศและไล่ผู้รุกราน เรื่องนี้เล่าผ่านสไตล์การนำเสนอแบบขำๆ ทว่าเป็นการเสียดสีสุดๆ เฉกเช่นการทำสงครามระหว่าง 2 ประเทศ ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรดี
Nightmare หรือ Chicken Man and Red Neck in Tokyo เล่าฝันร้ายของชายขี้เมาคนหนึ่ง ในยุคที่ยามค่ำคืนของกรุงโตเกียวดำเนินไปโดยการควบคุมของเครื่องยนต์กลไก เป็นแรง บันดาลใจที่ผสมผสานเอาตำนานเก่าแก่เรื่องปีศาจของญี่ปุ่นเอาไว้ โดยบรรจุอยู่ในฝันร้ายของชายขี้เมา กำกับโดย ทาคาชิ นากามูระ
ปิดท้ายเรื่องราวทั้งหลายด้วยผลงานของ คัตสึฮีโร โอโทโม และ อัตสึโกะ ฟุกุชิมะ ยานมหึมาลำเดิมยังคงเดินทางต่อไปในดินแดนทะเลทราย เพื่อเปิด (สงคราม) การแสดงต่อ
จะมีอะไรเหลือสู่รุ่นต่อไปของมนุษยชาติหรือไม่ ซีรีส์มังงะเรื่องนี้ให้คำตอบเอาไว้ที่ตอน สุดท้าย... (อย่าลืมดูจนจบจริงๆ ล่ะ)
เรื่องราวจินตนาการเกี่ยวกับหุ่นยนต์มิใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่เคยเก่า โดยเฉพาะซีรีส์ Robotto kanibaru (Robot Carnival) เต็มไปด้วยมังงะแนวหรรษา สดใสวัยรุ่น มังงะสไตล์ลูกผู้ชาย ดรามา งานเชิงอาร์ตจัดๆ และเรื่องตลก ทั้งมีเนื้อหาครบรสในเรื่องชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม สงคราม ฯลฯ แต่ละเรื่องผูกโยงเอาไว้ด้วยฮินท์จากเรื่องก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นลำแสง การระเบิด นางฟ้า ดวงดาว คอนเซปต์ของซีรีส์เด่นชัดกว่า Animatrix ที่บางคนอาจเคยชื่นชอบเสียอีก
เป็นดีวีดีอีกแผ่นหนึ่งที่คอหนังและนักสะสมหนังดีๆ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

มุมมืดใน (ใจ) กลางกรุงปารีส


นี่คือคำตอบของการผสมผสานการ์ตูนและนิยายราคาถูก (แบบเล่มละ 5 บาท) กับหนังแนว "ฟิล์มนัวร์" เข้าไว้ด้วยกัน Renaissance จึงออกมาเป็นรูปแบบของแอนิเมชันสีขาว/ดำ ที่เล่นเทคนิคไฮ-เดฟินิชันแบบสุดโต่ง ขาวเป็นขาว ดำเป็นดำ แทบไม่มีกึ่งกลางอย่างสีเทา ทำให้หลายๆ คนชมแล้วอาจจะบ่นอุบว่า เป็นแอนิเมชันที่ทำร้ายสายตาจริงๆ (ไม่แน่อาจทำร้ายจิตใจให้ขุ่นมัวยิ่งขึ้นด้วยสิ)
หากยูโทเปียคือโลกในความฝันอันสวยงามและจินตนาการแสนบรรเจิด ที่ใครๆ ก็ต้องการไปใช้ชีวิต ใน Renaissance ก็จะเป็นความสุดโต่งที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว เป็นฝันร้ายที่ใครๆ ก็ไม่อยากเจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของขบวนการใต้ดิน อาชญากรรม ความยากจน ความรุนแรง ทุกๆ ความไม่ดีงามล้วนรวมกันอยู่ที่นี่
กรุงปารีส ปี 2054 ที่ยังมีหอไอเฟลและแม่น้ำแซนอยู่คงเดิม ทว่าเมืองในฝันมากสีสันของใครๆ หลายคน พลิกกลับไปเป็นความหม่นหมอง ถนนเลียบแม่น้ำแซนที่เคยเต็มไปด้วยธรรมชาติแสนร่มรื่นน่าเดินเล่น กลับกลายเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยท่อเหล็ก ทางเดินกรุกระจกเพื่อป้องกันมลพิษ เมืองในฝันอยู่ห่างไกลจากความงดงาม ณ สุดขอบ
ตำรวจตัวกลั่น การาส (เสียงโดย ดาเนียล เคร็ก) เข้ามาสืบคดี อิโลนา (โรโมลา กาไร) พนักงานสาวของบริษัทยักษ์ใหญ่ อวาลง ที่ควบคุมทั้งกิจการอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจด้านสุขภาพ และสื่อต่างๆ ของกรุงปารีสเอาไว้หมด เธอหายตัวไปอย่างปริศนา หลังจากที่สืบสาวราวเรื่องไปกลับพบว่า อิโลนา ไปขุดคุ้ยความลับที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการวิจัยด้านยีนมนุษย์ของบริษัท อวาลง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้เธอหายตัวไปนั่นเอง
ระหว่างสืบคดี การาสมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ บิสลาเน (แคเทอรีน แม็คคอร์แม็ค) พี่สาวของอิโลนา สิ่งที่ทั้งคู่ได้รับรู้ก็คือ อิโลนาได้ไปรู้ความลับซึ่งเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการเป็นอมตะของมนุษย์ การาสรับปากจะช่วยชีวิตของน้องสาวบิสลาเน แต่เขาจะทำได้อย่างที่เธอขอร้องหรือไม่...
"สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น" คือวลีเด็ดของใครสักคนที่คริสติยองนำมาเป็นวิธีคิดในแอนิเมนัวร์ของเขา นอกจากบุคลิกภาพของตัวเอกอย่าง การาส ที่เป็นแบบ "บี-มูวีส์" หรือ พระเอกหนังทุนต่ำในยุคทศวรรษ 1950 แล้ว แอนิเมชันเรื่องนี้ยังเห็นอิทธิพลของหนังยุคอาวองต์-การด์ฝรั่งเศสแบบเต็มๆ
นอกจากนี้ก็ยังไม่ทิ้งกลิ่นอายแบบหนังฟิล์มนัวร์รุ่นใหม่ๆ อารมณ์คล้ายๆ Sin City ของ โรเบิร์ต รอดดริเกซ หรือ Waking Life ของ ริชาร์ด ลิงก์เลเทอร์ อยู่เยอะพอสมควร
อารมณ์ของตัวเอกแบบศิลปิน มุทะลุ บู๊แต่ไม่ถึงขนาดเป็นฮีโร่ที่ชนะเสมอ การาสเป็นตัวละครที่มากด้วยอารมณ์แห่งความหลังอันรวดร้าว ซุกซ่อนอยู่ในจิตใจของเขา และส่งผลกระทบถึงชีวิตในปัจจุบัน ฝันร้ายในอดีตยังตามหลอกหลอนเขาไม่เลิกลา และยากที่จะลบเลือนไป แน่นอนว่านั่นคือเสน่ห์ของฟิล์มนัวร์ ซึ่งเด่นพอๆ กับเทคนิคไฮ-เดฟินิชันที่คริสติยองเลือกใช้ ทั้งเขายังฉลาดพอที่จะอาศัยภาพสะท้อนจากกระจกในหลายๆ ตอน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้ดูเบาลงกว่าภาพสีขาวสีดำล้วนๆ ที่ตัดกันอย่างรุนแรง (กระนั้นก็ช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่นักหรอก)
นอกเหนือจากการตัดกันหนักๆ ของสีขาว/ดำ ที่สร้างความเคร่งเครียดให้กับแอนิเมชันเรื่องนี้แล้ว บทของหนังก็ยัง ไร้อารมณ์ขันอีกต่างหาก เป็นเรื่องราวต่อสู้ แนวสืบสวนสอบสวนที่ซุกซ่อนเงื่อนงำให้ต้องขบคิดติดตามอยู่ตลอดเวลา หนังแสดงให้เห็นแต่ด้านมืด ขณะที่สีขาวในเรื่องก็ไม่ได้หมายถึงด้านสว่าง หากเป็นเพียงความจ้าที่แสบตา ทั้งเน้นให้ความดำ (มืด) ยิ่งดำขึ้นกว่าเดิม
จึงเตือนไว้สำหรับใครที่อยากจะหยิบแอนิเมชันเรื่องนี้ขึ้นมาชมเพื่อคลายเครียด เพราะผลที่จะได้คือสิ่งตรงกันข้าม เช่นเดียวกับเนื้อหา "ความลับดำมืดของชีวิต" ที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องนี้ กลับไม่ได้คมคายเท่ากับสไตล์ในการสร้างสรรค์ด้านกราฟฟิกสักนิดเดียว

(ผม) อาจมิใช่เช่นใครคาดหวัง


คนที่จะหยิบหนังเรื่องนี้มาดู มีอยู่ 3 ประเภท ประเภทแรก คือ แฟนพันธุ์แท้ของ "สแตนลีย์ คิวบริก" (ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากที่สุด) ประเภทที่ 2 คงจะเป็นแฟนของ "จอห์น มัลโควิช" (จำนวนคงลดลงมาสักหน่อย) ส่วนประเภทที่ 3 น่าจะเป็นคนชอบดูหนัง มีอะไรก็ดู (เชื่อว่า-กลุ่มนี้อาจจะมีผิดหวังกันบ้าง)
หลังจากชมแล้ว แฟนๆ ของสแตนลีย์ คิวบริก ยอดผู้กำกับหนังฮอลลีวูด อาจจะงงเป็นไก่ตาแตก ด้วยหลงเชื่อจริงจังไปกับบทบาท "อลัน คอนเวย์" ของจอห์น มัลโควิช ในเรื่อง โอ๊ะ...โอว์ พระเจ้าจอร์จ... สแตนลีย์ คิวบริกเป็น "แต๋ว" หรือนี่ ตกข่าวอะไรกันรึเปล่า...
ที่ไหนได้ Colour Me Kubrick เล่าเรื่องราว (ที่อ้างว่าเป็นเรื่องจริง) ของนายอลัน คอนเวย์ (จอห์น มัลโควิช) หนุ่ม (ใหญ่) ลักเพศชาวอังกฤษ ซึ่งจำแลงแต่งเรื่องราวว่าตัวเขาเป็นยอดผู้กำกับดัง นาม สแตนลีย์ คิวบริก เจ้าของผลงาน Spartacus, 2001: A Space Odyssey, A Clockwork Orange, The Shining และอื่นๆ อีกมากมาย สอดแทรกเข้าใช้ชิวิตในแวดวงไฮโซ ด้วยการเข้าไปพูดคุยตีสนิทกับนักแสดง นักแต่งเพลง นักธุรกิจไนต์คลับมากมาย โดยเฉพาะหนุ่มๆ หน้าตาหล่อเหลานั้นสนใจเป็นพิเศษ จนปั่นป่วนวุ่นวายกันไปทั้งวงการ โดยอาศัยช่องว่างตรงที่สแตนลีย์ตัวจริงไม่ค่อยออกมาเผยโฉมหน้า หรือออกมาให้สัมภาษณ์มากนัก ทั้งที่เขารู้เพียงนิดหน่อยเกี่ยวกับผลงานของผู้กำกับดังและไม่มีส่วนละม้ายคล้ายสแตนลีย์เลยสักนิด
ในที่สุดเรื่องราวทั้งหมดก็ถูกเปิดโปงอย่างเป็นทางการ โดยนักหนังสือพิมพ์รายหนึ่งของนิวยอร์กไทม์ เช่นเดียวกับการถูกเปิดโปงโดยกลุ่มย่อยๆ ที่โดยเขาหลอกไปก่อนหน้านี้
อารมณ์ของอลัน คอนเวย์ในเรื่องสลับกันระหว่างความลวงโลก กับความเชื่อจริงๆ ว่าตัวเขานั้นเป็นสแตนลีย์ คิวบริก หลายๆ ครั้งที่อลันพยายามจะบอกคนอื่นว่า เขาคือ อลัน คอนเวย์ แต่คนอื่นมักจะเรียกเขาว่า สแตนลีย์ ไปๆ มาๆ เขาก็กลายเป็นสแตนลีย์ไปอีกครั้ง ผู้ชมต้องไปค้นหาคำตอบว่า เขาเป็นบ้า เขาชอบหลอกตัวเอง หรือแค่อยากจะเป็น "ซัมบอดี" คนสำคัญในสังคม ไม่ก็อยากจะมีเหล้ากินไปวันๆ กันแน่
หนังกำกับโดย ไบรอัน ดับเบิลยู. คุก ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้สแตนลีย์ คิวบริกมาเป็นเวลากว่า 25 ปี ทีเดียว เริ่มแรกทีเดียวไบรอันต้องการจะสร้างเป็นสารคดีชีวิตอลัน แต่ไปๆ มาๆ ได้พัฒนาเป็นโครงการภาพยนตร์ขนาดยาวแนวตลก/ชีวิตเสียอย่างงั้น
เพลงประกอบหลายตอนที่ไบรอันยืมมาจากหนังของเจ้าตำรับตัวจริง อย่าง สแตนลีย์ ช่วยเพิ่มความเพลิดเพลินให้แฟนพันธุ์แท้ของยอดผู้กำกับได้พอสมควร ขณะที่ไบรอันก็ยังใส่มุกต่างๆ สอดแทรกเอาไว้เป็นรายละเอียดตลอดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างร้านชื่อว่า "บลูดานูป" อันเป็นเพลงโปรดของสแตนลีย์ และเป็นหนึ่งในเพลงประกอบที่เขายืมมาใช้ เอาไว้ใกล้ๆ กับอพาร์ตเมนต์ของอลัน คอนเวย์
Colour Me Kubrick ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในประเภทหนังตลก โดยส่วนมากแล้วจะเป็นอารมณ์ตลกที่คำพูดแบบหนังอังกฤษโดยแท้ (ต้องเอียงหูกระดิกสำเนียงอังกฤษกันหน่อย เพราะเวอร์ชันที่ขายในเมืองไทยมีแต่ซับไตเติลภาษาสเปนเสียฉิบ ตอนนี้อาจมีภาษาอังกฤษหรือไทยแล้ว)
การพลิกบทบาทของจอห์น มัลโควิช จากบทนักฆ่าหรือฆาตกรโรคจิต มาเป็นบทชายลักเพศที่ดัดขนตางอนเป็นนิจ แถมเรียวปากยังประดับด้วยลิปกลอสสีชมพูแวววาวตลอดเวลา ตลอดจนการพูดการจาที่แสน "ดัดจริต" นั้นก็ทำได้น่าสนใจจริงๆ (ถึงขั้นทำให้สับสนเรื่องเพศแท้ๆ ของสแตนลีย์ คิวบริกตัวจริงไปเลย)
แค่การแสดงของจอห์นก็ดูเพลินได้หลายๆ รอบโดยไม่เบื่อ ที่เพลิดเพลินกว่า ก็คือ ตลกเสียดสีแบบอังกฤษก็มีให้ค้นหามาขำมากมายในหนังเรื่องนี้ แม้ข้อมูลที่เคยได้จากอินเทอร์เน็ตรายต่างๆ จะไม่ค่อยปลื้มและไม่ค่อยเก็ต Colour Me Kubrick กันเท่าไรนัก
เอ... หรือนี่จะเป็นรสนิยมส่วนตัวของผู้เขียนกันหนอ?

เมื่อความฝันรวมกันเป็นหนึ่งเดียว


“เธอคือนางในฝัน” ประโยคนี้อาจทำให้มังงะที่สร้างจากนิยายชื่อเดียวกัน เปลี่ยนไปจากแนวไซ-ไฟ/ แอ็กชัน กลายเป็นเรื่องรักโรแมนติกไปเสียได้ จริงๆ แล้วเรื่องราวมันก็ปนๆ กันไปนั่นแหละ ทั้งยังแถมพกด้วย “หนังสืบสวนดีๆ” กับ “หนังตำรวจห่วยๆ” ไว้ในเรื่องเดียวกัน
ความฝันในความฝัน หนังในหนัง จาก Paprika นิยายดังของยาสึทากะ ซัตสึอิ ปี 1993 เรื่องราวในอนาคตอันใกล้ของนักจิตวิทยาสาว ดร.อัตสึโกะ ชิบะ (เมกุมิ ฮายาชิบาระ ให้เสียง) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อุปกรณ์ ดีซี มินิ ที่กำลังพัฒนาเพื่อใช้บำบัด ทางจิต ด้วยการเข้าไปตีความความฝันของคนไข้
ระหว่างการวิจัย ดร.อัตสึโกะ ได้แอบใช้เครื่องมือที่ว่าในการบำบัดจิตคนไข้อย่างผิดกฎหมาย โดย “ปาปริกา” อีกภาพร่างหนึ่งของเธอจะกลายเป็น “นางในฝัน” เข้าไปคุยกับคนไข้ (นักสืบโคนะกาวา โทชิมิ-อาคิโอะ โอตสึกะ ให้เสียง) ในฝันของเขา โชคไม่ดีที่ก่อนรัฐบาลจะอนุมัติให้เครื่องมือที่คิดค้นโดย ดร.โคซากุ โทคิตะ (โทรุ ฟุรุยา) เพื่อนร่วมงานของ ดร.อัตสึโกะ สามารถใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย ในหน่วยงานก็ค้นพบว่า เครื่องมือบางชิ้นได้ถูกขโมยไป และอาจทำให้เกิดการใช้ในทางที่ผิด
ระหว่างการสืบหาว่าใครกันแน่คือ มือดีขโมยเครื่องดักความฝันไป ผู้ช่วยของ ดร.โคซากุ ก็ตกเป็นแพะในเรื่องนี้ กระนั้น ดร.อัตสึโกะ ก็ยังไม่เชื่อว่า เรื่องราวจะง่ายดายขนาดนี้ ทั้งเธอ และ ดร.โคซากุ จึงต่างเดินทางเข้าไปสืบสาวในความฝันของผู้ช่วยคนดังกล่าว ที่ใช้เครื่องดีซีมินิเกินขนาด จนตกอยู่ในอาการโคมา ดร.อัตสึโกะ ในภาพร่าง ปาปริกา ค้นพบว่าความฝันนี้ช่างอันตราย กลายเป็นฝันที่สะสม-ดูดดึงฝันของคนทั้งโลกมาไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งเป็นเพราะมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังคอยควบคุมความฝันของทุกๆ คนเอาไว้นั่นเอง
อาจจะด้วยเพราะเรื่องราวสร้างสรรค์จากนวนิยายเรื่องดัง จึงทำเนื้อหาดูหนักแน่น มีเหตุมีผลแตกต่างจากมังงะเรื่องอื่นๆ ที่อาจถ่ายทอดด้วยเรื่องราวจินตนาการที่สดใสสวยงามเพียง อย่างเดียว เรื่องราวแบบธรรมะ ชนะอธรรมยังคงเป็นอมตะและขายได้ตลอดกาล จุดพลิกผันของเรื่องแบบ น่ารักๆ รวมทั้งมุกขำๆ ต่างๆ ก็สร้าง รอยยิ้มได้บ้าง ท่ามกลางความเครียดและการลุ้นช่วยตัวเอกให้เอาชนะให้ได้ในยามคับขัน
ดนตรีประกอบเร้าใจแนวแจ๊ซ/ บิ๊กแบนด์ ของมือเก๋า อย่าง ฮิราซาวะ ซูซูมุ ซึ่งเคยร่วมงานกับ ซาโตชิ คอน ใน Millennium Actress (2001) มาแล้ว แถมคว้ารางวัลทางดนตรีมาเพียบ ก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง
นอกจากปาปริกานางในฝันแล้ว หนังเรื่อง Paprika ยังเต็มไปด้วยตัว การ์ตูนที่น่าหลงใหล โดยเฉพาะจินตนาการบรรเจิดในความฝัน เปิดโอกาสให้ ซาโตชิ คอน สามารถสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ออกมาได้หลากหลายอย่างไร้กรอบ ซึ่งเขาได้ผสมผสานตัว การ์ตูนจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นโบราณเข้ากับวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่รับมาจากตะวันตกได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ ยังเล่นกับเทคนิคภาพแบบ 2 มิติและ 3 มิติ เบื้องหน้าฉากหลังที่สดใสสวยงาม ถ่ายทอดเรื่องจริงความความฝันที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้
แน่นอนว่า คาแรกเตอร์ที่น่าหลงใหลเหล่านั้น มิได้มีเพียงด้านที่งดงามเสมอไป เฉกเดียวกับความฝันที่สวยงาม ใยจะมิกลายเป็นฝันร้ายได้เพียงชั่วข้ามคืนได้เช่นกัน

ท่องไปในความหลัง


ใครขี้ง่วง รักความตื่นเต้น หวือหวา ไม่นิยมเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่สนเรื่องยิว บอกไว้ก่อนเลยว่า ไม่ต้องไปหาเรื่อง La Petite Prairie Aux Bouleaux (หรือ The Birch-Tree Meadow) นี้มาดู ถึงคนรุ่นดึกๆ หน่อยจะเห็นชื่อของ อนุก แอมเม นักแสดงเซ็กซี่สมัยนู้น แล้วชวนให้หามาชมก็อาจจะผิดหวัง
ส่วนใครมีคุณสมบัติตรงข้ามกับที่ว่ามานี้ เราไม่ห้าม

เรื่องราวของ มีเรียม โรเซนเฟลด์ ชาวยิวผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอเดินทางจากนิวยอร์กมายังกรุงปารีส เพื่อร่วมงานชุมนุมผู้รอดชีวิตจากสงคราม มีเรียมจับสลากได้ตั๋วฟรีไปคราคาว ประเทศโปแลนด์ หลังผ่านการถกเถียงกับตัวเอง เธอก็ตัดสินใจเดินทางไปยังค่ายกักกันเอาสช์วิตซ์-เบอร์เคโน ครั้งแรกหลังจากได้รับอิสระมากว่าครึ่งศตวรรษ

บุคลิกของมีเรียมดูไม่อยู่กับร่องกับรอย เธอเดินกลับไปสู่สถานที่แห่งความอัปยศในอดีตอย่างเดียวดาย ความทรงจำในอดีต คำถามที่ค้างคา ถาโถมเข้ามารบกวนจิตใจของเธออีกครั้ง เป็นคำถามเดิมๆ ที่เธอ เฝ้าถามตัวเองตลอดระยะเวลาของ ชีวิต.... ทำไมเธอถึงรอดชีวิต? เธอมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดหรือ? ทำไมคนอื่นในครอบครัวจึงตายกันหมด? การเป็นยิวที่แท้มีความหมายอย่างไร?

ระหว่างการท่องไปในค่ายกักกันซึ่งรกร้าง เธอพบกับช่างภาพหนุ่มชาวเยอรมัน ซึ่งกำลังสร้างสรรค์ภาพถ่ายชุดค่ายกักกันเอาสช์วิตซ์-เบอร์เคโนอยู่ เขาขอให้มีเรียมเป็นแบบในภาพชุดของเขา ระหว่างที่เธอกำลังตัดสินใจจะตอบตกลง เขากลับเล่าว่า ปู่ของตัวเองเป็นอดีตเอสเอส ทำให้เธอต้องตัดสินใจลำบาก

La Petite Prairie Aux Bouleaux เล่าเรื่องอย่างเนิบนาบ ราวคำรำพึงรำพัน คล้ายเสียงกระซิบจากราวป่า อนุก แอมเม ตีบทแตกอย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะแฟนภาพยนตร์เก่าๆ ของเธอ อาจจะต้องตะลึงที่ผู้หญิงสาวสวยระดับซูเปอร์สตาร์ ที่มักเฉิดฉายในภาพหรูหรา จะมารับบทเป็นหญิงชราผู้มีความแปลกแยก (ติดจะเพี้ยนๆ) จากผลกระทบจากสงครามได้แนบเนียน โดยเฉพาะเมื่อเธอต้องเป็นศูนย์กลางของการเล่าเรื่องอย่างแท้จริง

นอกจากมาร์เซลีน ลอรีดอง-อีฟองส์ ผู้กำกับจะฉลาดในการเลือกตัวแสดงนำแล้ว เธอยังฉลาดในการเล่าประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้แตกต่างไปจากที่หลายๆ คนเคยเล่า โดย La Petite Prairie Aux Bouleaux ไม่มีฉากย้อนอดีตไปเห็นความรุนแรง ที่หน่วยเอสเอสกระทำต่อชาวยิวแม้แต่น้อย

มาร์เซลีน ให้ตัวละครของเธอท่องไปในความทรงจำ เพื่อค้นหาความหมายของชีวิต ค้นหาสิ่งที่ตกหายไปในค่ายกักกัน ค้นหาความหมายของการเป็นยิว ซึ่งแปลกแยกต่อสังคมรอบข้าง ยังมีความรักความหลังที่อยากจำกลับพร่าเลือน ส่วนที่พยายามลืมก็กลับมีบางสิ่งที่คอยตอกย้ำอยู่เสมอ

"ไม่มีอะไรเหลือให้ดูแล้วในค่ายกักกัน..." นักท่องเที่ยวที่เดิมชมค่ายเอาสช์วิตซ์-เบอร์เคโนคุยกัน

เห็นได้ชัดว่า มาร์เซลีน ในภาค มีเรียม ไม่เห็นด้วย...

ดีเทอร์ แค่อยาก (จะ) บิน




มาถ่ายทำที่เมืองไทยเมื่อ 2 ปีก่อน และมีนักแสดงไทยร่วมงานด้วยจำนวนหนึ่ง โดยสวมบทเป็นชาวลาวและชาวไทยในค่ายกักกัน – เรื่องราวได้รับความบันดาลใจจากเรื่องจริงของ ดีเทอร์ เดงเลอร์ (คริสเตียน เบล) นักบินของกองทัพเรือสหรัฐ ที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจในสงครามเวียดนาม ชื่อว่า “เรสคิว ดอว์น” (Rescue Dawn) ทว่าได้ ถูกยิงร่วง และในที่สุดก็ตกเป็นนักโทษในค่ายเชลยสงครามของเวียดกงในประเทศลาว
หนังเปิดเรื่องมาบนเรือรบ ในคลาสอบรมการเอาชีวิตรอดหากต้องหลงทางอยู่ในป่าเขตร้อน ทหารเรือทุกคนขำภาพในวิดีโอสาธิตการเอาตัวรอด หากฉากตอนทั้งหลายกำลังจะเกิดขึ้นจริงในชีวิตของดีเทอร์ ซึ่งหลังจากถูกจับได้ นำไปทรมาน และขังเอาไว้ในค่ายเชลยสงคราม อันเป็นที่ที่เขาได้เจอกับทหารอเมริกันอย่าง ดูแอน มาร์ติน (สตีฟ แซห์น) และ ยูจีน (เจเรอมี เดวิส) รวมทั้งทหารไทยและจีนที่ทำงานให้กองทัพอากาศอเมริกา โดยแต่ละรายนั้นถูกจับเป็นเชลยมาเป็นสิบๆ ปี
แล้วพวกเขาก็เริ่มวางแผนแหกค่ายกัน...
เรื่องราวไม่ได้จบลงตรงการแหกคุกสำเร็จหรือไม่ แต่ยังเล่าต่อถึงการเอาชีวิตรอดในป่าระหว่างเส้นทางหนี เช่นเดียวกับในตำราที่ดีเทอร์เรียนมา กว่าจะได้รับการช่วยเหลือจริงๆ ก็เกือบไม่มีชีวิตรอดมาเล่าประสบการณ์ให้ แวร์เนอร์ แฮร์โซก นำมาสร้างหนังได้ถึง 2 เรื่อง (เรื่องแรกเป็น สารคดีชีวิตดีเทอร์ ชื่อ Little Dieter Needs to Fly)
แม้จะทำงานร่วมกับฮอลลีวูด แต่ แวร์เนอร์ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้พอสมควร เช่นว่าการเลือกใช้ฟุตเทจภาพต่างๆ ที่เห็นได้ตั้งแต่ต้นเรื่อง เป็นภาพมุมสูงถ่ายผืนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ในลักษณะของภาพสโลว์โมชัน ที่ดูพ้องกับ คำพูดของดีเทอร์... “ถ้ามองจากอากาศ เวียดนามเหมือนไม่มีจริงสักนิด” และ “ผมไม่ได้อยากเข้าร่วมสงครามสักหน่อย ผมแค่ต้องการจะบินเท่านั้นเอง”
สำหรับบรรยากาศในค่ายเชลยสงคราม ดูเหมือนว่าแวร์เนอร์จะได้อิทธิพลจากหนังคลาสสิกเรื่อง The Bridge of River Kwai พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของมิตรภาพ ที่เกิดขึ้นระหว่างนักโทษ ท่ามกลางความ ไม่ไว้วางใจกัน รวมทั้งการเอาชีวิตให้รอด ในแต่ละวัน
เช่นเดียวกับหนังเรื่องที่ผ่านๆ มาของแวร์เนอร์ เขาให้มนุษย์ตกอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ และต้องเอาชีวิต ให้รอด
เสียดายก็แต่ตอนจบของ Rescue Dawn ที่เป็นฮอลลีวูดจ๋ามากๆ จากหนังที่คลุมโทนมาตลอดทั้งเรื่อง อาจทำให้งงว่ายังดูเรื่องเดิมอยู่หรือเปล่านี่ หรือหนังเรื่องก่อนจบไปแล้วตั้งแต่ดีเทอร์ได้รับการช่วยเหลือขึ้นเฮลิคอปเตอร์
กับบทบาทของดีเทอร์ ซึ่งเกิดที่เยอรมนีช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะอพยพมาอยู่อเมริกา ทำให้เขาเข็ดขยาดสงคราม แต่กลับต้องถูกเกณฑ์มาเข้าร่วมกองทัพ ไม่ต่างจากทหารอเมริกันรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ต้องการเข้าร่วมสงครามสักหน่อย หากวัตถุประสงค์ในการเป็นทหารของดีเทอร์ คือ เพื่อที่จะได้ “บิน” การแสดงแบบเมธอดของคริสเตียน นับว่าเป็นอีกผลงานมาสเตอร์พีซของเขาทีเดียว
ภาพรวมของหนังดูสนุกและสอบผ่าน แม้ว่าในขณะที่หนังเรื่องนี้ออกฉายที่อเมริกา จะมีญาติและอดีตนักโทษไทยที่เคยอยู่ในค่ายเชลยสงครามเดียวกันนี้ ออกมาโต้ แวร์เนอร์ว่า ข้อมูลหลายอย่างที่ปรากฏในหนังไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะบุคลิกแบบไม่อยู่กับร่องกับรอยของยูจีนในเรื่อง ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น (ไปอ่านได้ที่
www.rescuedawnthetruth.com)
“ความจริง” กับ “ความฮอลลีวูด” คงจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

โอววว์...อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นเกย์




สารคดีที่สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากหนังสือของนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน โลทาร์ มักซ์ทาน Hidden Hitler ในปี 2001 ด้วยการตั้งสมมติฐานว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำเผด็จการของพรรคนาซีเป็น โฮโมเซ็กชวล และเขาสังหารคนตายเป็นล้านๆ รวมทั้งคนรักเพศเดียวกันในยุคนั้นนับหมื่นๆ ราย เพื่อกลบเกลื่อนความเป็นเกย์ของตัวเอง
ในเรื่องดำเนินไปโดยมีโลทาร์เป็นแกนหลักในการเล่าถึง "หลักฐาน" ในประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ และแสดงให้เชื่อว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ น่าจะเป็น "เกย์" โดยขุดคุ้ยความสัมพันธ์ตั้งแต่วัยเด็กในออสเตรีย เรื่อยมาจนกระทั่งเขาเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ 1 รวมถึงช่วงเวลาแห่งความยากลำบากก่อนที่จะขึ้นมาเรืองอำนาจบนบัลลังก์ผู้ครองเยอรมนี
โลทาร์ใช้เวลา 5 ปี ในการรวบรวมเรื่องราวหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะ "เพื่อนชาย" คนสนิทของเขาในแต่ละยุคสมัย (พร้อมภาพถ่าย) ตั้งแต่เพื่อนวัยเด็ก อย่าง ออกุสต์ คูบิเซก ผู้เขียนตีพิมพ์บันทึกความทรงจำของตัวเองออกมาในปี 1953 (ว่าเขาเคยจูบกับอดอล์ฟ) นอกจากนี้ ยังมีนักแต่งโอเปราเกย์ชื่อดัง (และเป็นยิว) มักนุส ฮิร์สช์เฟลด์ รวมทั้งเพื่อนและทหารคนสนิทหลายคนของเขา ตั้งแต่ ออยเกน ดอลล์มันน์ เลขาฯ หนุ่มคนสนิท ที่แม้แต่ อีวา บราวน์ ชู้รักชื่อดังของอดีตจอมเผด็จการยังต้องอิจฉา ออตโต ฟอน ลอสโซว์ ฮานส์ มองด์ แอร์นส์ ชมิดต์ โดยเฉพาะ แอร์นส์ รอห์ม อดีตหัวหน้าตำรวจลับของนาซีนั้น ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องเพราะใครๆ ก็รู้กันว่า แอร์นส์ รอห์ม เป็นเกย์ (มีหลักฐานเป็นจดหมายแนบรูปเปลือย ส่งถึงชู้รักหนุ่มชาวโปแลนด์)
หนังสือของโลทาร์ คล้ายเป็นการจุดชนวนระเบิดให้เรื่องราวในอดีตได้รับการกลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อบอกว่า อดีตผู้นำเผด็จการนาซีที่ฆ่าคนตายเป็นล้านอย่างโหดเหี้ยมเพราะเขาเป็นเกย์
ในสารคดี Hidden Fuhrer : Debating the Enigma of Hitler's Sexuality แทรกบทสัมภาษณ์ที่คิดตรงและคิดต่างเอาไว้ในช่วงต่างๆ ของเรื่องได้อย่างมีจังหวะจะโคน ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ บริจิตต์ ฮามันน์ นักเขียนนักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรีย รอน โรเซนโบม นักเขียนเรื่อง Explaining Hitler : The Search for the Origins of His Evil ราล์ฟ โดส นักประวัติศาสตร์เกย์ชาวเยอรมัน และ ผู้ก่อตั้งชมรมมักนุส ฮิร์สช์เฟลด์ มิเคลังเจโล ซินญอริเล นักเคลื่อนไหวและนักเขียนเกย์ เจฟฟรีย์ กิลส์ เจ้าของหนังสือ a study of gays in the Nazi party โดยกลุ่มเกย์ที่ออกมาต่อต้าน ด้วยเกรงว่าหลายคนจะได้ข้อสรุปว่าชายที่โลกสรุปว่าเขาเป็นปีศาจ แล้วสังหารคนอย่างโหดร้าย นั่นเป็นเพราะว่าเขาเป็นเกย์
ถึงแม้จะมีข้อหักล้างมากมายที่ไม่ยอมรับในทฤษฎีของโลทาร์เรื่อง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นเกย์ ด้วยเหตุผลนานัปการ แต่เชื่อแน่ว่าคนที่นำมาทำเป็นสารคดีน่าจะเห็นพ้องกับแนวคิดเช่นเจ้าของหนังสืออยู่ไม่น้อย นอกจากให้ น้ำหนักกับบทสัมภาษณ์ที่สนับสนุนมากกว่าแล้ว ยังมีการเลือกคลิปภาพที่ทำให้เห็นอาการ "แอบ" ของอดีตผู้นำเผด็จการนาซีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการชม้อยชม้ายชายตา หรือลักษณะท่าสลุต "ไฮ ฮิตเลอร์!" ที่มีการตวัดมือพลิ้วๆ กว่าทหารในสังกัดทั่วไป ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม โลทาร์ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ในสารคดีนี้ด้วย – "ผมไม่ได้บิดเบือนประวัติศาสตร์หรือเขียนขึ้นใหม่ หนังสือ เล่มนี้เป็นสิ่งที่ผมพบในหลักฐานที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์"
สารคดีเรื่องนี้จะดูให้สนุกก็สนุก แต่ที่สำคัญ นับเป็นอีกหนึ่งมุมมอง (ฉาว) ในนับแสนๆ มุม ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับจอมเผด็จการผู้นี้ หลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2
จะเชื่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องของคุณ...