วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สีสันยุคปฏิวัติฝรั่งเศส กับการจดบันทึกของผู้หญิงสูงศักดิ์


ภาพยนตร์สวยๆ เรื่องนี้มิได้สร้างสรรค์บนแผ่นฟิล์มเท่านั้น หากทว่าเอริค โรห์แมร์ ผู้กำกับนั้น สร้างภาพยนตร์ของเขาเรื่องนี้ส่วนหนึ่งบนผืนผ้าใบด้วย

จากการทำงานร่วมกันของศิลปินวาดภาพ ฌอง-แบปติสต์ มาโรต์ และผู้กำกับศิลป์ อย่าง อองตวน ฟงแตน ทำให้ได้ฉากหลังของกรุงปารีสสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสอันงดงาม และเป็นความแตกต่างอันโดดเด่น ของภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เรื่อง L'Anglaise et le Duc

ภาพยนตร์สร้างจาก Journal of My Life During the French Revolution บันทึกของ เกรซ เอลเลียต (ลูซี รัสเซล) หญิงสาวสูงศักดิ์ชาวอังกฤษ อดีตคู่รักและเพื่อนของ ดุ๊ก แห่ง ออร์เลอองส์ (ฌอง-โคล้ด ดรีย์ฟุส) พระญาติของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งชีวิตของเธอมีความเสี่ยง เมื่อเธอมีแนวคิดขวาจัด และมักจะพูดยกย่องฐานันดรศักดิ์ รวมทั้งแสดงความเห็นต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างชัดเจน

ความสัมพันธ์อันงดงามของอดีตคู่รักที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิท เลดี้เกรซ แอบช่วยเหลือนักโทษการเมืองคนสำคัญเอาไว้คนหนึ่ง กระทั่ง ดุ๊ก ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยให้เขาหลบหนีไป การแตกหักของทั้งคู่ อยู่ตรงที่ ดุ๊ก แห่ง ออร์เลอองส์ ร่วมลงคะแนนเสียงสนับสนุนการประหารพระเจ้าหลุยส์ด้วยกีล์โยติน เลดี้เกรซซึ่งคุ้นเคย คลุกคลี และจงรักภักดีต่อระบบกษัตริย์จึงรับไม่ได้

ภาพแห่งประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสอันโด่งดัง ผ่านมุมมองของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงปารีส เธอต้องประจักษ์กับความโหดร้ายแห่งการเข่นฆ่า ต้องเอาตัวรอดจากการเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ ภาพต่างๆ ที่เธอเห็นและบันทึกเอาไว้ในไดอารีได้รับการถ่ายทอด เป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ อย่างเช่น ตอนที่เธอกลับมาในกรุงปารีส รถม้าของเธอแล่นอยู่ท่ามกลางกลุ่มประชาชน ที่รวมตัวกันแห่เอาศีรษะของเจ้าหญิงแห่งลอมบัลล์ ประจานไปรอบๆ เมือง ตัวเลดี้เกรซเองก็เกือบจะถูกลากลงไปสังหารเช่นเดียวกัน ขณะที่เธอมองภาพของการปฏิวัติว่าช่างโหดร้าย เหตุใดผู้คนจึงเข่นฆ่ากันได้เพียงนี้ ดุ๊ก กลับกล่าวกับเธอว่า การปฏิวัติใดๆ ก็ย่อมโหดร้ายต่อประจักษ์พยานร่วมสมัยทั้งนั้น แต่สิ่งนี้จะดีต่อลูกหลานในอนาคต

ท้ายที่สุดตัวดุ๊กเองก็ยังต้องตกเป็นนักโทษทางการเมือง ในยุคที่สับสนวุ่นวายหลังการปฏิวัติรัฐประหารครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789

ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องด้วย 2 คาแรคเตอร์หลัก คือ เลดี้เกรซ และ ดุ๊ก แห่ง ออร์เลอองส์ ซึ่งแสดงได้อย่างโดดเด่น แม้ว่าในความเป็นจริงนั้นจะต้องเล่นอยู่เบื้องหน้าฉากสีฟ้า หรือ บลูสกรีน เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม นอกเหนือจากการสร้างสรรค์ฉากให้สวยงามอย่างแปลกด้วยภาพวาด ซึ่งทำให้นึกถึงศิลปินที่ชอบวาดภาพอาคารสถาปัตยกรรมของฝรั่งเศส อย่าง โทมัส ปราดซินสกี แล้ว เทคนิคมหัศจรรย์พันลึกอื่นๆ นั้น ไม่ปรากฏให้เห็นเลย

เทคนิคการวาดฉากที่ผู้กำกับนำมาใช้ นับเป็นการย้อนกลับมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ และให้อารมณ์เหมือนกับการได้นั่งชมศิลปะเฟรสโก ที่มิใช่เป็นเพียงภาพนิ่งบนกำแพงเท่านั้น หากว่า มีชีวิตชีวาที่โลดแล่น ต่อเนื่องกันหลายๆ ภาพ เทคนิคที่เอริคเลือกใช้ ช่วยให้เรื่องราวหนักๆ อย่าง ประวัติศาสตร์ทางการเมืองอันตึงเครียดนั้น เพิ่มความโรแมนติกขึ้นมาได้อีกอักโข

ทว่า เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ “พูด” แสดงความคิดเห็นกันตลอดทั้งเรื่อง ถ้าใครไม่ชอบภาพยนตร์ที่มี บทสนทนามากๆ โดยเฉพาะภาษาที่ไม่คุ้นเคย อย่าง ฝรั่งเศส ก็อาจจะต้องเมิน ขณะที่คนที่ชอบเรื่องราว ในประวัติศาสตร์ อาจจะต้องการทราบเรื่องราวในอีกมุมมองหนึ่งของผู้หญิงชาวอังกฤษ

L'Anglaise et le Duc เสียตรงที่บางครั้งมีฉากตอนที่เยิ่นเย้ออยู่บ้าง และอาจจะทำให้คนดูเบื่อ เช่นเดียวกับบทสนทนามากมายในเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ฉากภาพวาด ของ ปลาส เดอ ลา กงกอร์กด์ ถนนแซงต์ออนอเร บูเลอวารด์ แซงต์ มาร์ติน และแมนชั่นที่เกรซอาศัยอยู่ ที่ เมอดง ก็สวยงามเสียจนไม่อาจจะแอบหลับ หรือเบื่อหน่าย L'Anglaise et le Duc ไปได้

นับเป็นผลงานที่น่าสนใจอีกเรื่องของ เอริค โรห์แมร์ ผู้กำกับจากยุคนิวเวฟ วัย 82 คนนี้

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ