วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

แด่สันติภาพ และ ' เวนดี้ '


ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องที่ 2 ของ โทมัส วินเทอร์เบิร์ก ผู้กำกับชาวเดนิช และยังเป็นการร่วมงานกันอีกครั้งของคู่หู อย่าง ลารส์ ฟอน เทรียร์ ซึ่งมาเขียนบท Dear Wendy ทำให้ได้บรรยากาศแปลกๆ ของเมืองเล็กที่ไร้ชื่อแห่งหนึ่งในอเมริกา

เจมี เบลล์ หนุ่มน้อยมหัศจรรย์แห่ง Billy Elliot รับบทนำเป็น ดิ๊ก เด็กวัยรุ่นขี้เหงา ไร้เพื่อน เขาสร้างความผิดหวังให้กับบิดา เพราะไม่อาจทำงานเหมือง อันเป็นงานที่ “เหมาะสม” สำหรับชายชาตรีในสังคมเล็กๆ ที่เขาอยู่

บิดาเขาเสียชีวิตในไม่ช้าจากอุบัติเหตุในเหมือง ในความเดียวดาย ดิ๊ก สร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา และเขาเกิดความผูกพันอย่างประหลาด กับ “เวนดี้” ปืนกระบอกเล็กๆ ที่ซื้อมาจากร้านขายของเล่น

เขา รวบรวมกลุ่มเพื่อนวัยรุ่นตั้งคลับ “แดนดีส์” ประกอบด้วย เฟรดดี (ไมเคิล แอนการาโน) ฮูอี้ (คริส โอเวน) ซูซาน (อลิสัน พิลล์) และสตีวี (มาร์ก เวบเบอร์) พวกเขายึดพื้นที่ใต้ดินของเหมืองเก่าเป็นที่รวมตัวกันสร้างสรรค์ ทดลอง และศึกษาการยิงปืนในสไตล์ของตัวเอง พร้อมกับตั้งกฎของกลุ่มขึ้นมา โดยเฉพาะการไม่เที่ยวเพ่นพ่านออกไปยิงคนที่เดินอยู่บนท้องถนน

ดิ๊ก บอกว่า ...พวกเราไม่เคยกังขาในสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยแม้แต่น้อย ทำไมเราจึงสามารถยิงปืนได้เฉพาะในเงามืด ของส่วนลึกสุดของเหมืองเท่านั้น แถมยัง ไม่ควรเปิดไฟให้สว่างด้วย เพราะอะไรน่ะหรือ? ถ้าเรานึกอยากจะยิงที่ไหนก็ได้ สัญชาตญาณในการฆ่าของพวกเราอาจจะถูกปลุกให้ตื่นก็ได้

เพราะฉะนั้นเราควรเรียกสัญชาตญาณของเราว่า “ความรัก” จะดีกว่า หากเรามีแต่ “ความรัก” เรื่องร้ายๆ ย่อมไม่มีทาง ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน...

คลับแดนดีส์ ดำเนินไปอย่างราบรื่น กระทั่งนายอำเภอครักบี (บิล พูลแมน) มาขอให้ ดิ๊ก ช่วยดูแล เซบาสเตียน (แดนโซ กอร์ดอน) วัยรุ่นผิวสีที่มีปัญหายิงคนตาย ทำให้สารบบของคลับ “แดนดีส์” ต้องเสียไป จนถึงกับทำให้การชุมนุม อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาต้องล้มเลิก และต้องเผชิญกับตอนจบที่ไม่คาดคิด...

บรรยากาศของเรื่องราวที่คล้ายกับความฝัน ฝันของเด็กวัยรุ่นที่สร้างโลกเฉพาะของตัวเองขึ้นมา ด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อสิ่งอันตราย ซึ่งเรียกว่า “ปืน” จนกระทั่งต้องตั้งชื่อให้คล้ายเป็นเพื่อนคู่ใจ คล้ายๆ กับคนที่ชอบตั้งชื่อข้าวของเครื่องใช้ให้ราวกับมีชีวิต

ดิ๊ก ปฏิบัติกับ เวนดี้เช่นผู้หญิงสวยที่เขาหลงรัก ความผูกพันที่สวยงาม เป็นเครื่องสะท้อนลักษณะความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ที่ค่อนข้างจะแห้งแล้งในความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์

แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างจากมุมมองของผู้กำกับชาวเดนิช แต่ก็จำลองเมืองเล็กๆ แห่งนี้ให้เป็นเมืองหนึ่งในอเมริกา บรรยากาศแบบสังคมจำลองที่ดูคล้าย ไม่เป็นจริง แต่เหมือนจงใจวิพากษ์อีกด้านหนึ่งของสังคมอเมริกัน ซึ่งซุกซ่อนไปด้วยความรุนแรง

สังคมที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เด็กๆ สามารถหาซื้อปืนได้ง่ายๆ ในร้านขายของเล่น แถมยังจับอาวุธราวกับเป็นปากกาหนึ่งด้าม

ดนตรีมีส่วนมากสำหรับอารมณ์ของเรื่อง Dear Wendy เองก็มีป๊อปร็อกของวง เดอะ ซอมบีส์ เป็นเพลงประกอบหลัก

ภาพยนตร์เล่าเรื่องได้มีท่วงทำนองน่าสนใจ เริ่มด้วยจดหมายของดิ๊ก ที่เขียนรำพึงรำพันถึงเวนดี้ที่เขาเพิ่งสูญเสีย ราวกับเป็นหญิงคนรัก ดิ๊กยังเป็นคนเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยจดหมายที่เขาเขียนถึงเวนดี้ “จากชายหนุ่มผู้หวั่นไหวของคุณอีกแล้ว...”

ท่วงทำนองรำพึงรำพันจึงฟังราวกับเป็นลำนำกวี คล้ายๆ กับภาพยนตร์อีกหลายๆ เรื่องที่นำปัญหาหนักอก หรือความฟอนเฟะในสังคมมาเล่าเป็น ท่วงทำนองที่ดูราวกับเป็นเรื่องสวยงาม ไม่ว่าจะเป็น The Million Dollar Hotel (2000) ของ วิม เวนเดอร์ส หรือ Mysterious Skin (2004) ของ เกร็ก อารากิ

ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดกว่าการพูดถึงด้านมืดอันโหดร้ายในสังคมแบบตรงไปตรงมา... (นะ)

ไม่มีความคิดเห็น: