วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ถ้อยคำจากปาก ที.อี.ลอว์เรนซ์ กษัตริย์ไร้มงกุฎแห่งอาระเบีย


จากภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ กลายเป็นรูปแบบของวิดีโอ เรื่องราวของที.อี. ลอว์เรนซ์ หรือที่รู้จักกันดีในนามลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย จาก Lawrence of Arabia ของเดวิด ลีน นั่นเอง โดยในเวอร์ชั่นของโทรทัศน์ ประเทศอังกฤษนี้ เขียนบทขึ้นจากหนังสืออัตชีวประวัติ Seven Pillars of Wisdom: A Triumph ที่ ที.อี. ลอว์เรนซ์ประพันธ์ขึ้นเอง โดยทิม โรส ไพรซ์ ซึ่งขณะที่ฉายเป็นตอนๆ ทางโทรทัศน์นั้น ได้รับความนิยมมาก แม้เรล์ฟ ไฟน์ส ผู้รับบทนำขณะนั้น จะยังไม่ได้เข้าสู่ วงการฮอลลีวู้ดด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นการตีแผ่ให้เห็นถึงความจริง และภาพของลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย ที่แตกต่างออกไปจากภาพยนตร์คลาสสิกของเดวิด ลีน

เรื่องราวเล่าเหตุการณ์ที่คล้ายเป็นตอนต่อจากภาพยนตร์ของเดวิด ลีน เมื่อที.อี. ลอว์เรนซ์ (เรล์ฟ ไฟน์ส) กลับมาจากดินแดนแห่งทะเลทรายในตะวันออกกลาง อังกฤษ และฝรั่งเศส กำลังจะเซ็นสนธิสัญญา ไซเคส-ปีโกต์ ในปี 1919 ซึ่งมีสาระเกี่ยวกับการครอบครองดินแดนในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ซีเรีย จอร์แดน อิรัก ปาเลสไตน์ และเลบานอน หรืออาจเรียกว่าเป็นสัญญาสันติภาพแห่งตะวันออกกลาง โดยทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจต่างต้องการครอบครองดินแดนของประเทศซีเรีย ซึ่งเป็นดินแดนที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง (เอเชีย) และต่างก็อ้างว่า ทหารของตัวเองเข้าไปถึงดินแดนดามัสกัสของซีเรียก่อนใคร

ขณะที่ที.อี. ลอว์เรนซ์ ตอบรับภารกิจของอังกฤษ ในการเดินทางไปยังกรุงปารีสในฐานะตัวแทนและล่ามของเอมีร์ ไฟซาล เจ้าชายแห่งซีเรีย โดยบอกกับรัฐบาลว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษ ทว่า จริงๆ แล้ว ที.อี. ลอว์เรนซ์ เกลียดการล่าอาณานิคม และการไปอาศัยอยู่ในทะเลทรายของเขา ทำให้ได้เรียนรู้ความต้องการของชาวอาหรับเป็นอย่างดี โดยเป้าหมายของเขาและเจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ก็คือ การต้องการปกครองตัวเอง และเพื่อเรียกร้องอิสระและเสรีภาพของกลุ่มประเทศอาหรับ

ทว่า ผลประโยชน์อันมหาศาลบนดินแดนตะวันออกกลาง โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงมาถึงผลประโยชน์ใน อุตสาหกรรมน้ำมันที่ยิ่งใหญ่ของโลก รวมทั้งการเมือง อันซับซ้อน ทั้งการเมืองระดับบุคคล การเมืองภายในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้เรื่องราวทางมนุษยธรรม เช่น อิสรภาพของผู้คนในดินแดน ตะวันออกกลางกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคำนึงถึง

ในที่สุดฝรั่งเศส ก็ขับไล่เจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ออกจากซีเรีย โดยอังกฤษได้ตั้งสถาปนาอิรักเป็นประเทศ โดยให้เจ้าชายขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครอง

เราได้เห็นบทบาทที่โดดเด่นมากมายของเรล์ฟ ไฟน์ส อย่างเรื่อง Schindler's List หรือ The English Patient ซึ่งในเรื่องนี้ แม้ว่าจะย้อนไปในวัยหนุ่มของนักแสดงอังกฤษสุดหล่อ แต่เขาก็แสดงให้เราเห็นความลึกและความซับซ้อนทางความคิด รวมทั้งบุคลิกภาพหลากหลายของที.อี. ลอว์เรนซ์ ที่ถูกตีความในเรื่องว่าเป็น "บุคคลอันตราย" ออกมาทางสีหน้าท่าทางได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในเรื่องนี้จะเป็นการแสดงแบบนิ่งๆ ลึกๆ ก็ตาม

ขณะที่นักแสดงแนะนำของเรื่อง (ขณะนั้น) อย่าง อเล็กซานเดอร์ ซิดดิก เอล ฟาดิล ในบทเจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ก็นับว่า เทียบชั้นกับ เรล์ฟ ไฟน์ส ได้พอสูสี เขาแทบจะทำได้ดีพอๆ กับอเล็ก กินเนสส์ ใน Lawrence of Arabia ทีเดียว โดยอเล็กซานเดอร์ มีคะแนนเหนืออเล็ก กินเนสส์ ก้าวหนึ่ง ในแง่การแสดงออกถึงความทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจ ในสภาพที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของมหาอำนาจ ขณะที่อเล็ก กินเนสส์ จะแสดงออกถึงเกียรติภูมิแห่งความเป็นเจ้าทะเลทรายมากกว่า กระนั้น เจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ของอเล็กซานเดอร์ ซิดดิก เอล ฟาดิล ดูเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตชีวาจับต้องได้ และเป็นจริงมากกว่า

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ หลายฉากหลายตอนที่ ตัวเอกทั้ง 2 คนแสดงร่วมกัน นับว่าเข้ากันได้อย่างดีจนเกือบๆ จะดูเหมือนคนที่มี ปฏิกิริยาเคมีเข้ากันได้ อย่าง "คู่รัก" ทีเดียว

นอกจากนี้ ในภาพยนตร์ได้มีการหยิบยกข้อความจากหนังสืออัตชีวประวัติของที.อี. ลอว์เรนซ์ อย่าง Seven Pillars of Wisdom: A Triumph ผ่านทางความคิด รวมทั้งการอ่านของเจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ซึ่งถ่ายทอดอารมณ์และความคิดในอีกแบบ ที่แตกต่างจากหลายคนเคยรับรู้มา

ขณะที่ความยืดเยื้อของภาพยนตร์ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง อาจจะสร้างความเบื่อหน่ายให้หลายๆ คน แต่เมื่อย้อนนึกว่า เคยเป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายทางโทรทัศน์มาก่อน ก็พอจะให้อภัยได้ โดยคนที่สนใจเรื่องทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการเมือง และต้นกำเนิดแห่งการครอบครอง ผลประโยชน์ในน้ำมัน ณ ดินแดนตะวันออกกลาง อาจจะเพลิดเพลินจนลืมเบื่อ

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอที่ไม่ชัดเจน อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้นิดหน่อย ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือที.อี. ลอว์เรนซ์เองกันแน่ ที่ต้องการมีอำนาจเหนือกลุ่มอาหรับ

"After this one. all you'll see of me is a small cloud of dust vanishing over the horizon."

...หลังจากการกระทำครั้งนี้ สิ่งที่พวกคุณจะเห็นก็มีเพียงฝุ่นคลุ้งตลบอบอวลขอบฟ้าเท่านั้น...

ประโยคจากหนังสืออัตชีวประวัติ ที่ที.อี. ลอว์เรนซ์ กล่าวในตอนท้ายของเรื่อง คือสรุปภาพรวมของทั้ง เรื่องราวในภาพยนตร์ และชีวิตของเขาเอง ที่เต็มไปด้วย ม่านหมอกของความคลุมเครือ

ไม่มีความคิดเห็น: