วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เคาะประตูสู่สวรรค์


ภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันทางเทคนิคว่า “มังงะ” ซึ่งเคยเป็นซีรีส์การ์ตูนทางโทรทัศน์ ชื่อดังที่สุดเรื่องหนึ่ง เล่าเรื่องของกลุ่มนักล่ารางวัลที่เรียกกันว่า “คาวบอย” อันประกอบด้วยสมาชิกหลักๆ 4 คน ได้แก่ สไปก์ เจ็ต เฟย์ และเอ็ด รวมตัวกันอยู่บนยาน “บีบอป” พวกเขาทำหน้าที่คล้ายๆ กับผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของโลก เพียงแต่ว่า ไม่ทำฟรี...เงินค่าหัวของฆาตกร หรือค่าจ้างในการดูแลความเรียบร้อยต่างๆ คือเป้าหมายของพวกเขา

ฉากของเรื่องจินตนาการไปถึงปลายศตวรรษที่ 21 ในปี 2071 อนาคตที่มนุษย์เราได้ทำลายล้างโลกไป เรียบร้อยแล้ว โดยได้ย้ายถิ่นฐานกันไปอยู่ที่ “ดาวอังคาร” และ “กานีมีด” ดวงจันทร์ดวงหนึ่งของดาวพฤหัสฯ บรรดาอาชญากรได้ขยายแวดวงไปสร้างความปั่นป่วน มาจากทั่วสารทิศของสุริยจักรวาล

สไปก์ สปีเกล และเจ็ต แบล็ก คู่หูนักล่ารางวัล ซึ่งน่าจะเป็นคู่ที่เพอร์เฟ็กต์คู่หนึ่ง เว้นแต่เพียงคนหนึ่งสูญสิ้นความกระตือรือร้นสนใจต่อชีวิต ในขณะที่อีกคนหนึ่งก็ช่างไม่มีโชคเอาเสียเลย พวกเขายังต้องพ่วงเพื่อนร่วมแก๊งซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ (เท่าไร) อย่าง เฟย์ วาเลนไทน์ สาวน้อยที่พยายามจะเป็น “คาวบอย” นักล่า แต่ท่าทางจะเป็นตัวถ่วงเสียมากกว่า เช่นเดียวกับแฮกเกอร์ตัวน้อย อย่าง เอ็ด ซึ่งดูจะเป็นเด็กน้อยที่เป็นเครื่องสะท้อน ผลกระทบจากความฟอนเฟะของสังคมในยุคหน้า

ขณะที่ สไปก์ และเจ็ต กำลังกำจัดโจรกระจอกที่เข้าปล้นร้านสะดวกซื้อ เฟย์ก็ได้ไปประสบเหตุก่อการร้ายด้วยสารชีวภาพเข้า รวมทั้งสามารถถ่ายภาพคนร้ายได้ในระยะไกลจากยานอวกาศของเธอ คนกว่า 500 เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ อีกจำนวนมากถูกส่งโรงพยาบาลในอาการโคม่า และแพทย์ไม่อาจหาสาเหตุได้ว่า พวกเขาถูกทำร้ายโดยไวรัสตัวไหนหรืออาวุธชีวภาพชนิดใด

สไปก์กับเจ็ตไม่ใส่ใจในข้อมูลที่เฟย์เก็บมาจากที่ เกิดเหตุ เพราะเห็นว่าใช้เป็นหลักฐานในการติดตาม อะไรไม่ได้เลย กระทั่งโทรทัศน์แจ้งข่าวที่เกิดขึ้น พร้อมประกาศรางวัลการล่าค่าหัวคนร้ายรายนี้ถึง 300 ล้าน จึงต่างคนต่างแยกย้ายกันกระโจนใส่งานรางวัลงาม

สไปก์ไปสืบข่าวคราวยังย่านชุมชนแออัด ขณะที่เจ็ตกลับไปหาเพื่อร่วมงานเก่าที่เป็นตำรวจ ส่วนเฟย์นั่งค้นข้อมูลจากบัตรเครดิต ที่ใช้เช่ารถน้ำมันที่ระเบิดพ่นสารชีวภาพ และเอ็ดพบข้อมูลจากรอยสัก ซึ่งตรงกับรอยบนข้อมือของคนร้าย วินเซนต์ อดีตทหารดาวอังคาร ที่ในข้อมูลของทหารบันทึกว่าเสียชีวิตไปแล้วในสมรภูมิบนดาวไททัน (ดาวบริวารของดาวเสาร์)

ข้อมูลที่ดูเหมือนไม่ได้เรื่องได้ราวของแต่ละคน กลับเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะหลักฐานที่สไปก์บังเอิญได้มาจากสายลึกลับบนถนนโมร็อคคัน อันเป็นแคปซูลเล็กๆ บรรจุสารชีวภาพ ซึ่งนับเป็นอาวุธอันร้ายกาจทางทหาร ในขณะที่ข้อมูลตรวจสอบบัตรเครดิตของเฟย์ นอกจากจะเชื่อมโยงไปถึงคนร้ายแล้ว ยังทำให้สไปก์พบกับสาวสวยอย่าง อีเล็กตรา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวินเซนต์อีกด้วย

ความตื่นเต้นที่แท้จริงเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น...

จินตนาการโลกอนาคตในสายตาของ ชินอิจิโร วาตานาเบะ สร้างสรรค์ออกมาอย่างมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ดูเหมือนผู้คนในเรื่อง จะไม่ค่อยเปลี่ยนพฤติกรรมจากมนุษย์ในโลกปัจจุบันสักเท่าไร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ และอีกหลายๆ สิ่งที่คิดค้นได้ในโลกใหม่ อย่างเช่น บะหมี่สำเร็จรูปที่มีปุ่มกดให้น้ำเดือดในตัวเอง หรือเกมกดเสมือนจริง ฯลฯ ไม่ได้ทำให้พฤติกรรมหรืออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป พวกเขายังคงชอบซดบะหมี่ถ้วย เล่นไพ่ ดื่มสุรา และทำสิ่งไร้สาระอย่างที่เคยทำ

ขณะที่การให้ฉากในโลกอนาคตเต็มไปด้วยวัฒนธรรมอันผสมผสาน คนจีน ญี่ปุ่น ชาวตะวันตก และอาหรับ ต่างก็อาศัยอยู่บนผืนดินเดียว มีป้ายบอกทางสารพัดภาษาบนท้องถนน อาจจะมีการแบ่งเป็นย่านไชน่าทาวน์ หรือย่านโมร็อคคันบ้าง ก็เป็นเพียงถนนสายหนึ่งเท่านั้นเอง

แม่เหล็กดึงดูดของ Cowboy Bebop: The Movie อย่างหนึ่ง ย่อมหนีไม่พ้นดนตรีประกอบที่มีกลิ่นอายแบบ “บีบอป” อันเป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีแจ๊ซและฟังก์ ที่ได้รับการบรรจุเอาไว้เป็นแนวทางหนึ่งของดนตรีสายแจ๊ซ ส่วนใหญ่แล้วบีบอปจะเน้น จังหวะจะโคน โดยมีเครื่องดนตรี เช่น เบส กลอง เปียโน และเครื่องเป่าอีก 2 ชิ้น ศิลปินเด่นๆ อย่าง ชาร์ลี พาร์เกอร์ ดิซซี จิลเลสพี แมกซ์ โรช ฯลฯ

ดนตรีบีบอปมีอิทธิพลมากต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่น ดังจะเห็นได้ในมังงะหลายๆ เรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องราวที่เล่าถึงฮีโร่ต่างๆ รวมทั้งแอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่มีฉากแอคชั่นทั้งหลาย ไม่ต่างจากการมีอิทธิพลของการสร้างสรรค์ดนตรีประกอบของ โยโกะ คันโนะ สำหรับเรื่องนี้

แม้ว่าเมื่อนำ Cowboy Bebop: The Movie ไปเปรียบเทียบกับผลงานของปรมาจารย์ทาง “มังงะ” ของญี่ปุ่นที่ชอบเล่าเรื่องในอนาคตเช่นเดียวกัน เช่น คัทซึฮิโร่ โอโทโม เจ้าของการ์ตูนเรื่อง Akira (1988) และ Metropolis (2001) ฯลฯ อาจจะยังเทียบกันไม่ได้ในแง่ความลึกซึ้ง และความซับซ้อนในวิธีคิดก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้คนทั่วโลกต่างนิยมชมชอบ Cowboy Bebop และยกเป็นเป็นหนึ่งในมังงะชั้นแนวหน้า ก็ด้วยเพราะคาแรคเตอร์หลักๆ ทั้ง 4 ซึ่งนำโดย สไปก์ สปีเกล

โดยเฉพาะใน Cowboy Bebop: The Movie ฉบับภาพยนตร์ ที่นำเสนอในเชิงเปรียบเทียบ ให้ตัวเอกอย่างสไปก์ และตัวร้ายอย่างวินเซนต์ มีบุคลิกลักษณะเป็นคนโดดเดี่ยว แปลกแยกจากสังคมเหมือนๆ กัน และกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดกันเอง เช่นเดียวกับการหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน

นอกจากจะเน้นย้ำความยอดนิยมของคาแรคเตอร์เอกในภาพยนตร์แล้ว ยังแสดงออกถึงวิธีคิดแบบตะวันออก เช่น “หยิน-หยาง” ออกมาอย่างโดดเด่น ท่ามกลางเรื่องราวที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกอย่างเต็มเปี่ยม

แล้วโลกที่แท้จริงของคุณอยู่ที่ตรงไหน?... ทั้งผู้กำกับและคาแรคเตอร์ต่างๆ ในเรื่องต่างกำลังตามหาคำตอบอยู่เช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น: