วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

อ้อมกอด ของ 'คนแปลกหน้า'



ภาพยนตร์สารคดีที่ชนะรางวัลออสการ์ ประเภทภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมแห่งปี 2000 Into the Arms of Strangers: Stories of the Kindertransport (1999) เปิดเรื่องด้วยเสียงจากบันทึกที่มากไปด้วยความรู้สึกของ เอวา เฮย์มัน ชาวเชกโกสโลวะเกียเชื้อสายยิว เด็กน้อยคนหนึ่งที่เข้าร่วมกับโครงการอพยพเด็กชาวยิวออกจากประเทศที่ถูกครอบครองโดยจักรวรรดินาซี

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรื่องราวบันทึกโลกที่แม้ผู้คนไม่ต้องการจดจำ หากก็มิอาจจะเลือนลืมออกไปจากใจ บทเรียนราคาแพงที่ต้องสังเวยชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปนับล้าน โดยเฉพาะอย่างชาวยิวในเยอรมนี และประเทศยุโรปตะวันออก

สารคดีย้อนยุคเรื่องราวสงครามโลกครั้งนี้ ได้ แรงบันดาลใจจากบันทึกของมารดาโปรดิวเซอร์ของเรื่อง คือ เดบอราห์ ออปเปนไฮเมอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเด็กๆ ที่เข้าร่วมกับโครงการอพยพเด็ก Kindertransport และได้ร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์รำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เอาไว้ที่สหรัฐอเมริกา โดยโครงการนี้สามารถช่วยชีวิตเด็กชาวยิวอายุต่ำกว่า 17 ปีเอาไว้ได้นับหมื่นคน กระนั้นก็ยังมีเด็กจำนวน 1 ล้าน 5 แสนคน ที่ต้องจบชีวิตลงในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เปิดฉากที่สถานีรถไฟเมืองโคโลญที่มีตัวอักษรของเครื่องหอมเลื่องชื่อ 4711 เป็นสัญลักษณ์ รถไฟสีแดงฉานแห่งปัจจุบันค่อยๆ เลือนหายกลายเป็นภาพขาวดำ ซึ่งจะพาคุณย้อนกลับไปในอดีตเมื่อปี 1932 ปีที่นาซีเริ่มเข้ามามีบทบาทในเยอรมนี

เรื่องราวดำเนินไปอย่างเรียบง่าย โดยเนื้อหาที่เป็นไปในส่วนของบรรยากาศ บรรยายด้วยน้ำเสียงของ จูดี้ เดนช์ ตัดสลับกับภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวจากแฟ้มประวัติศาสตร์ รวมทั้งบทสัมภาษณ์ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งได้ร่วมโครงการ Kindertransport ออกจากประเทศเยอรมนีมายังฮอลแลนด์ และลงเรือสู่ประเทศอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น เคิร์ท ฟูเชล จากเวียนนา ที่หลังสงครามได้กลับไปอยู่กับทั้งพ่อและแม่ แต่ก็มีรอยร้าวและช่องว่างที่ขาดหายซึ่งไม่อาจจะประสานได้ง่ายๆ

ลอรี่ เซกัล นักเขียนนิยายสาว ซึ่งพยายามจะวิ่งเต้นขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานให้แม่ของเธอมาที่อังกฤษ (ในเรื่อง ฟรานซี กรอซมานน์ แม่ของเธอให้สัมภาษณ์ด้วย) นอกจากนี้ ยังมี เออร์ซูลา โรเซนเฟลด์ จากประเทศเยอรมนี ที่พ่อของเธอถูกนาซีตีเสียชีวิตต่อหน้ากลุ่มชาวยิวนับแสน เมื่อพยายามเรียกร้องความยุติธรรม ก่อนที่เธอจะเดินทางกับโครงการฯ มายังเมืองผู้ดี ปัจจุบันเธอกลายเป็นคนอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบ

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ นอร์แบร์กต์ วอลล์ไฮม์ หนุ่มยิววัย 25 ซึ่งเป็นคนช่วยจัดการประสานงาน โครงการ Kindertransport ทุกอย่างในเยอรมนี เพื่อให้เด็กแต่ละคนที่ได้รับการคัดเลือกออกจากประเทศในยุโรปตะวันออก ผ่านทางเยอรมนีไปสู่ฮอลแลนด์ได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่ตัวเขาเองต้องถูกจับไปอยู่ในค่ายกักกัน แต่ก็รอดชีวิตมาได้อย่างที่เขาบอกว่า "ไม่มีเหตุผลใดๆ"

เรื่องราวเริ่มเล่าตั้งแต่ช่วง 9 เดือนก่อนที่จะเกิดสงคราม แต่ละคนมาพูดถึงความสุขวัยเด็กที่ยังคงตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวยิวที่มีฐานะดี เติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมแบบยิวที่ครอบครัวค่อนข้างจะแน่นแฟ้น อบอุ่น เด็กคือศูนย์กลางของครอบครัว

กระทั่งเริ่มมีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นมากมายกับเด็กเชื้อสายยิว เช่น การให้ออกจากโรงเรียนปกติ การทำลายธุรกิจของครอบครัวยิว การถูกทำร้ายและด่าทอจากเด็กกลุ่มนิยมนาซี โบสถ์ของชาวยิวถูกเผา การกวาดล้างบ้านเรือน และให้ยิวไปรวมตัวกันอยู่ในที่จำกัด ฯลฯ

เหตุการณ์เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในออสเตรีย และเชกโกสโลวะเกีย รัฐสภาของอังกฤษจึงได้เห็นชอบให้มีการตั้งโครงการ Kindertransport เพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กชาวยิวที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ออกมาจากประเทศ เพื่อมาอยู่ในการดูแลของครอบครัวอังกฤษที่เข้าร่วมโครงการ

ผู้รอดชีวิตแต่ละคน ยังคงจดจำวันที่พวกเขาต้องจากอกพ่อแม่ที่สถานีรถไฟได้อย่างแม่นยำ แต่ละคนย้อนเล่าถึงคราบน้ำตาของพ่อแม่ที่ไม่ต้องการให้ลูกจากไปสักนิด ลอรี คาห์น เล่าถึงบิดาที่ใบหน้าค่อยๆ ซีดเผือดลงเรื่อยๆ เมื่อใกล้เวลาที่เธอจะต้องจากไป ในที่สุดเขาก็ดึงเธอลงมาจากรถไฟ และภายหลัง เธอและพ่อแม่ถูกส่งไปอยู่ในค่ายกักกันยิวที่เอาสชวิตซ์ และเธอก็ถูกย้ายไปอีก 6 แห่ง โดยปราศจากพ่อแม่ หลังจากรอดชีวิตจากค่ายกักกันมาได้ เธอเหลือน้ำหนักตัวเพียง 58 ปอนด์เท่านั้น

ขณะที่เด็กๆ ซึ่งได้เดินทางไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ของประเทศอังกฤษ ผลัดกันมาเล่าถึงประสบการณ์กับครอบครัวที่ไม่รู้จัก บ้างก็ต้องไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ชีวิตที่ต้องพลิกผันมาอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง พ่อแม่อุปถัมภ์ชาวอังกฤษที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งการกอด ต่างจากพื้นฐานของครอบครัวชาวยิวที่เต็มไปด้วยความแน่นแฟ้นและใกล้ชิด

จูดี้ เดนช์ เล่าตั้งแต่ก่อนเริ่มสงคราม ระหว่างสงคราม จดหมายที่เขียนถึงกันระหว่างเด็กและพ่อแม่ที่ยังคงอยู่ในประเทศเก่า บ้างก็เขียนข้อความบอกเล่าเป็นนัยๆ ว่า กำลังเดินทางไปยัง "ตะวันออก" อันแปลความหมายได้ว่า เป็นสถานที่ตั้งของค่ายกักกันชาวยิว เรื่องราวเล่าไปอย่างง่ายๆ จนกระทั่งถึงหลังสงคราม เด็กในโครงการหลายคนได้กลับมาพบพ่อแม่อีกครั้ง ทว่า โดยส่วนใหญ่ไม่ได้พบกับพ่อแม่ของพวกเขาอีกเลย

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกๆ คนล้วนมีบาดแผลที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง

โดยเฉพาะ เอวา เฮย์มัน ซึ่งเป็นเจ้าของประโยคตอนต้นเรื่องนั้น ดูเหมือนว่าบาดแผลในจิตใจที่ถูกกระทำจะยังคงตอกย้ำไปอีกตลอดชีวิต และตามหลอกหลอนเธอไปจนกระทั่งในความฝัน

ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด ล้วนบอกเรื่องราวความทรงจำอันขมขื่นราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ซึ่งเรื่องราวอัน โหดร้ายนี้ไม่น่าจะต้องเกิดขึ้นกับเด็กคนไหน หรือครอบครัวใดๆ เลย

เด็กหลายคนออกมาสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้น พวกเขาไม่ได้ต่อต้านน้ำใจของผู้ก่อตั้งโครงการ Kindertransport แต่อย่างใด ทว่า พวกเขาบอก... หากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก พวกเขาจะไม่ยอมส่งลูกไปอยู่กับคนแปลกหน้า แต่จะขอตายด้วยกัน

กระนั้น หลายคนก็ขอบคุณและซาบซึ้งกับคุณค่าของชีวิตที่ยังเหลืออยู่ และพยายามประคับประคองให้ดำเนินต่อได้อย่างดีที่สุด ด้วยเหตุผลที่ อเล็กซานเดอร์ กอร์ดอน เด็กหนุ่มจากโปแลนด์ว่า... พระเจ้าคงต้องการให้เขามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรสักอย่าง

"อย่างน้อยก็เพื่อให้มีคนรุ่นๆ ต่อๆ ไปจากผมเกิดขึ้นมา เชื้อสายยิวยังคงต้องมีอยู่ต่อไปในโลกนี้"

ไม่มีความคิดเห็น: