วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วาดภาพชีวิตจริง การาวาจโจ


* * * * * * * * * *
Caravaggio
ปี 1986
ประเทศ อังกฤษ
ภาษา อังกฤษ/อิตาเลียน/ละติน
ประเภท ชีวิต
เรตติง R (ภาษา/เนื้อหาเรื่องเพศ/ ความรุนแรง)
ความยาว 89 นาที
กำกับ เดอเรค จาร์มาน
แสดงนำ ไนเจล แทร์รี/ฌอน บีน/สเปนเซอร์ ลีห์/ทิลดา สวินตัน/ไมเคิล กูห์
* * * * * * * * * *

ดูเหมือนจะเป็นแบบฉบับของการเล่าเรื่องราวประวัติชีวิตบุคคลสำคัญบนแผ่นฟิล์มเสียแล้ว ที่ต้องเบิกโรงด้วยฉากตอนที่เขาและเธอเหล่านั้นกำลังจะตาย เช่นเดียวกับ Caravaggio ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของจิตรกรคนสำคัญชาวอิตาเลียนมิเคลังเจโล เมริซี ดา การาวาจโจ ของผู้กำกับชาวอังกฤษ ที่เปิดเรื่องที่ฉากห้องเช่าอันทรุดโทรมแห่งหนึ่งใกล้ท่าเรือของเมืองทัสกานี ที่ยอดจิตรกร(แสดงโดย ไนเจล แทร์รี) กำลังจะปิดฉากชีวิตตัวเองลงในสภาพไม่ต่างกับยาจก มีเพียงเยรูซาเลเม (สเปนเซอร์ ลีห์) ชายใบ้ที่เขาชุบเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก คอยเฝ้าไข้อยู่ลำพัง

ระหว่างกำลังนอนซมไม่รู้สึกตัวอยู่บนเตียงคนป่วยในสภาพใกล้ตายเต็มที ทว่าจิตใต้สำนึกของมิเคลังเจโล เมริซี ดา การาวาจโจ ศิลปินเจ้าของฉายา "เจ้าชายแห่งความมืด" ชาวอิตาเลียนยังคงโลดแล่นกลับไปทบทวนเรื่องราวในอดีต แล้วฉากตอนสำคัญๆ ในชีวิตของเขาตั้งแต่วัยเด็กก็ค่อยๆ ผุดขึ้นมาพร้อมกับความทรงจำ นับตั้งแต่ยังเป็นเด็กเร่ขายศิลปะริมถนน จนกระทั่งต้องหนีมาโรมด้วยข้อหาฆาตกรรม โดยมีพระคาร์ดินาล เดล มอนเต (ไมเคิลกูห์) เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ

เดอเรค จาร์มาน ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับ รานุกโช โตมาโซนี (ฌอน บีน)เป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่ในประวัติส่วนตัวมักจะอ้างถึงเอาไว้ว่า เป็นคนที่การาวาจโจฆ่าตายโดยความบังเอิญในการต่อสู้หลังเกมเทนนิสเท่านั้น หากใน Caravaggio เวอร์ชันผู้กำกับอังกฤษเล่าว่า ยอดจิตรกรปิ๊งรานิกโช ชายกุ๊ยข้างถนนผู้มีรูปร่างหน้าตาดีตั้งแต่แรกเห็น และเขาก็กลายเป็นแบบให้การาวาจโจวาดภาพหลายๆ ภาพ เริ่มจากการว่าจ้างจนกระทั่งกลายเป็นขาประจำ

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายแห่งความมืดกับรานุกโช เป็นแบบรักสามเส้า โดยมีเลนา (ทิลดา สวินตัน) แฟนสาวของรานุกโชอยู่ในทุกเหตุการณ์ เธอเองก็เป็นหนึ่งในนางแบบสำคัญของศิลปินอิตาเลียนชื่อดังเช่นกัน ทั้งในหนังเรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในตัวแปรของโศกนาฏกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น

สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักเรื่องราวของ มิเคลังเจโล เมริซี ดา การาวาจโจ มาก่อนหากคิดจะมาศึกษาจากหนังเรื่องนี้คงจะไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร นอกจากคำตอบที่ว่า ทำไมภาพวาดของเขาจึงเต็มด้วยผู้ชายหน้าตางามๆ เต็มไปหมด

แต่หากรู้จักมาในระดับหนึ่งแล้วก็จะได้พบกับมุมมองใหม่ๆ เหตุเบื้องหลังภาพวาดสำคัญๆ ต่างๆ ที่อาจจะแตกต่างออกไปจากเวอร์ชันที่เคยรับรู้มา ไม่ว่าจะเป็นภาพ Bacchus, Boy with Basket of Fruits, The Lute Player, Saint John the Baptist, Maria Magdalene, Amor Vincit Omnia หรือ Death of the Virgin

ในหนังยังปรากฏภาพเขียนชื่อดังของเขาอีกมากมาย ทั้งที่เป็นภาพเขียน และการที่เดอเรคนำเอามาเลียนแบบเป็นฉากต่างๆ ในการเล่าเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็น Medusa, Saint Gerolamo, The Entombment of Christ เป็นอาทิ

เรื่องเล่าของคนกำลังเพ้อใกล้ตาย จะให้ประติดประต่อชัดเคลียร์ ก็คงไม่สมกับเป็นเรื่องจริงของจิตรกรที่วาดแต่ภาพความจริง เช่น มิเคลังเจโล เมริซี ดาการาวาจโจ

ไม่มีความคิดเห็น: