วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เหตุเกิดที่เลบานอน


Lebanon (Levanon)
ปี 2009
ภาษา ฮิบรู
ประเภท ชีวิต/สงคราม
เรตติ้ง R
ความยาว 93 นาที
กำกับ ชมูเอล มาออซ
แสดงนำ ออสชรี โคเอน/โซฮาร์ ชเตราส์/มิฮาเอล มอสโชนอฟ/อิเทย์ ติราน/โยอาฟ โดนาต/ดูดู้ ตาสซา

ภาพยนตร์ต่อต้านสงครามที่ถูกวิจารณ์แบบสับเละในอิสราเอลเอง ถูกเมินจากทั้งเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และเทศกาลภาพยนตร์กรุงเบอร์ลิน ก่อนจะไปคว้ารางวัลสิงโตทองคำ (Leone d’Oro) ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิส ครั้งที่ 66 และคว้ารางวัลสัตยาจิต เรย์ ครั้งที่ 14

ผลงานการกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ ชมูเอล มาออซ เล่าเรื่องของทหารอิสราเอลหน่วยหนึ่ง ซึ่งไปปฏิบัติการรบในเลบานอน ย้อนไปในสงครามระหว่างอิสราเอลกับเลบานอน (ฝ่ายมุสลิม) ในปี 1982

รถถังบุโรทั่งเจิ่งนองไปด้วยน้ำสกปรกเต็มพื้น ผสมปนเปไปกับเศษก้นบุหรี่ ทหารอิสราเอล 4 นายร่วมชะตากรรมกันอยู่ในนั้น พวกเขาทั้งหมดไม่รู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ตรงส่วนไหน ณ ที่ใดของประเทศเลบานอน รวมทั้งไม่รู้เรื่องรู้ราวเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นภายนอก มากเกินไปกว่าที่ได้เห็นจากช่องเล็งปืนกลมๆ ที่พลทหารป้อมปืนสามารถมองออกไปจากรถถังเท่านั้น

พวกเขากำลังเดินทางไปจุดนัดพบ หากรถถังสุดโทรมที่ผ่านสมรภูมิมาจนหมดสภาพ ไม่ว่าจะเข็มทิศ เกจ์น้ำมัน หรืออุปกรณ์มาตรวัดใดๆ ไม่อาจใช้การได้

ทหารทั้ง 4 ในรถถัง ราวกับคนตาบอดที่มองเห็นได้เพียงรางๆ พวกเขาเดินทางตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ที่นำทหารเดินเท้าอยู่ด้านนอก

ระหว่างทางแม้จะอยู่ในช่วงปลายสงคราม ก็ยังมีกระแสของการสู้รบ ต่อต้าน โดยฝ่ายตรงข้ามแทรกตัวอย่างกลมกลืนอยู่ในกลุ่มชาวบ้านร้านถิ่น

ช่วงเวลาของความเป็นความตาย กลุ่มทหารในรถถังได้รับคำสั่งให้ใช้ระเบิดฟอสฟอรัสเคลียร์พื้นที่อาคารที่อยู่อาศัย พวกเขาปกปิดภารกิจนี้เป็นความลับสุดยอดด้วยการสั่งการโดยรหัสลับ เนื่องจากผิดข้อตกลงระดับนานาชาติ

เห็นได้ชัดว่าพลปืนไม่เคยมีประสบการณ์ในการยิงปืนในสงครามมาก่อน การตัดสินใจอันลังเลของเขายังความเสียหายมาสู่ชีวิตของกองทหารอิสราเอลเอง รวมไปถึงชาวบ้านในเลบานอนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่

อุปกรณ์ที่ใช้การไม่ได้ สถานที่แคบๆ ความร้อน ความสกปรก รวมถึงบรรยากาศอันคร่ำเครียด ทำให้ภายในรถถังเป็นสถานที่ที่ไม่น่ารื่นรมย์ที่สุดในโลก การสื่อสารอันล้มเหลวนำมาซึ่งความทะเลาะเบาะแว้งแตกคอกันเอง

ผู้กำกับจับคน 4 บุคลิกมาอยู่ด้วยกันในที่แคบ เฮอร์เซล (ออสชรี โคเอน) ทหารหัวรั้นที่พร้อมจะขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาทุกเรื่อง ทหารช่างคุมเครื่อง (มิฮาเอล มอสโชนอฟ) ที่อยากกลับบ้านและโทร.สื่อสารกับครอบครัวเต็มแก่ ขณะที่ ชมูลิค (โยอาฟ โดนาต) พลปืนซึ่งเป็นผู้เดียวที่มองเห็นโลกภายนอก เขาอาจเห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็นมากไป ทำให้เต็มไปด้วยความทดท้อ และเป็นสาเหตุแห่งความผิดพลาด

ส่วนผู้บัญชาการในรถถัง (อิเทย์ ติราน) ไม่ต่างกับคนขับรถที่ไม่รู้ทิศ เขาแทบไม่มีบทบาทอำนาจใดๆ เลย เพราะต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาด้านนอก (โซฮาร์ ชเตราส์) อย่างเดียว

จะทำอย่างไรเมื่อพวกเขาขาดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก พวกเขาจะมุ่งหน้าไปทางไหน...

ภาพยนตร์ชีวิตระหว่างสงคราม เล่าจากประสบการณ์ของผู้กำกับชมูเอล มาออซ เอง ซึ่งผ่านการเป็นพลปืนรถถังในสงครามเลบานอนมาจริงๆ ความโดดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ภาพส่วนใหญ่ที่ปรากฏในภาพยนตร์ คล้ายมองผ่านช่องเล็งยิงของรถถัง ชมูเอล ถ่ายทอดให้ผู้ชมได้เห็นภาพอย่างเดียวกับที่เขา (เคย) เห็น ภาพที่ไม่อยากจะเห็น แต่ต้องเห็น ต้องดู และต้องเล็ง

การแคสติงตัวแสดงที่ยอดเยี่ยมช่วยให้ภาพยนตร์น่าอึดอัดโดดเด่นมีบุคลิกชัดเจน โดยเฉพาะพลเล็งปืนที่แทบจะเป็นตัวดำเนินเรื่อง ผู้กำกับเลือกหนุ่มนัยน์ตาสีเขียวสวย แบบที่เป็นเอกลักษณ์อย่างอิสราเอล มารับบทนี้

ภาพยนตร์สร้างหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 24 ปี ทว่ากลิ่นอับชื้น ความอบอ้าวของอากาศ ความอึดอัด ร้อนรน เคร่งเครียด ของคนในรถถังยังคงถ่ายทอดออกมาได้ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ปีนหลังคาท่องราตรีที่ปารีส


 Une Vie de Chat (A Cat in Paris)

ปี 2010
ภาษา ฝรั่งเศส
ประเภท แอนิเมชัน / ตลก / ลึกลับ / สืบสวน
เรตติ้ง PG (ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก)
ความยาว 65 นาที
กำกับ ชอง-ลุป เฟลิซิโอลี และ อแลง กาญอล
แสดงนำ (เสียง) โอริยาน ซานี บรูโน ซาโลโมเน โดมินีก บลอง ชอง บองกีกี แบร์นาแดตต์ ลาฟงต์


ปีนี้นับเป็นปีของเมืองน้ำหอมต้นตำรับภาพยนตร์ – หนังฝรั่งเศสคว้าออสการ์ ไปพร้อมๆ กับผู้กำกับและนักแสดงนำชาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับ กรุงปารีส เข้าชิงออสการ์อีกมากมาย หลายเรื่อง -- Une Vie de Chat หรือ A Cat in Paris คือหนึ่งในนั้น (เข้าชิงสาขาแอนิเมชันขนาดยาว)

เรื่องราวของ ดีโน แมวเหมียวสีดำที่คล้ายมีชีวิต 2 ภาค – ยามกลางวัน มันอาศัยอยู่ที่บ้านของหนูน้อยโซอี (โอริยาน ซานี) ลูกสาวใบ้ของ ชานน์ (โดมินีก บลอง) นายตำรวจหญิงกรุงปารีส ทว่า เมื่ออาทิตย์ลาจาก เจ้าดีโนก็จะออกจากบ้านนี้ไปยังบ้านของ นิโก (บรูโน ซาโลโมเน) และไปปฏิบัติการ "ตีนแมว" โดยปีน โดด ไต่ ไปทั่วหลังคาอาคารแห่งกรุงปารีส เพื่อร่วมลักขโมย สิ่งของมีค่าต่างๆ อย่างชำนาญ

วันหนึ่ง แม่ของโซอีต้องเข้าเวรกะดึก และฝากเธอไว้กับแม่บ้านน้ำหอมฉุน (แบร์นาแดตต์ ลาฟงต์) โซอีอาศัยจังหวะดังกล่าว แอบตามเจ้าดีโนไปจนเห็นพฤติกรรมของมันกับ "นายรอบดึก"

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ระหว่างทางกลับบ้าน โซอีดันไปเจอจอมวายร้าย วิกตอร์ กอสตา (ชอง บองกีกี) คนเดียวกับที่ยิงพ่อนายตำรวจของเธอตาย กำลังวางแผนชั่วกับลูกสมุน

สุดท้าย ทั้งแมวเหมียว ดีโน และแมวขโมย นิโก ต้องเป็นคนที่ปีนป่ายหลังคา กรุงปารีส ไปช่วยชีวิตหนูน้อยที่ปราศจากเสียงร้อง

Une Vie de Chat นำเสนอเนื้อหาง่ายๆ กับคาแรกเตอร์ฮาๆ ขำๆ ไม่ว่าจะเป็นการชอบสะสมจิ้งจกที่ดีโนจับได้ของโซอี หรือจอมโจรไต่หลังคาที่ปล้นคนรวยช่วยคนจน กับบรรดาจอมวายร้าย ที่ร้ายแบบฮาๆ อย่างในหนังไทย แม้จะมีกลิ่นอายลึกลับ ซ่อนเงื่อนบ้าง ก็พอเป็นน้ำจิ้มเล็กๆ น้อยๆ

สิ่งที่โดดเด่นก็คือ งานกำกับศิลป์ ของแอนิเมชันเรื่องนี้ ที่อาศัยการวาดสไตล์ โอลด์สกูล ใช้มือวาดการ์ตูนแบบดั้งเดิม และมีกลิ่นอายความ "เดิมๆ" อยู่มากมาย ทั้งยังคล้ายกับสไตล์ของภาพวาดในนิทานสำหรับเด็ก

สไตล์ของสีสันและตัวการ์ตูน ทำให้ย้อนนึกไปถึงศิลปะในสมัยต้นศตวรรษที่ 20 ยุคอาร์ตเดโค แนวๆ อองรี เดอ ตูลูส-โลแทร็ก หรือ ทามารา เดอ เลมปิกคา ขณะที่ตัวเอก อย่าง ชานน์ คาดว่า ได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนชื่อเดียวกัน (Jeanne) ของ อะเมเดโอ เคลเมนเต โมดิกลานี ศิลปินชาวอิตาเลียน ผสมผสานกับกลิ่นอายหม่นๆ แบบฟิล์มนัวร์ ซึ่งเข้ากับเนื้อหาซ่อนเงื่อน ลึกลับ ซับซ้อนได้อย่างลงตัวพอดิบพอดี

นอกจากภาพแอนิเมชันสวยๆ มีสไตล์ ทั้งฉากไฮไลต์ท่องกรุงปารีสจากหลังคาตึก ซึ่งทำให้นึกถึงหนังฝรั่งเศสหลายๆ เรื่องจากยุคผู้กำกับอาวองต์-การด์ หรือยุคนิวเวฟแล้ว อีกฉากไฮไลต์คือฉากบ้านในความมืด ที่อาศัยฉากสีดำกับภาพลายเส้น ก็ถือว่าได้โชว์ฝีมือแบบยุคโอลด์สกูลให้คนแอนิเมชันยุค 3D ได้รำลึกถึงกลิ่นอายแบบนอสตราเจียกันไป

กิ๊บเก๋เพิ่มขึ้นไปอีกกับดนตรีเพราะๆ ด้วยฝีมือของ แซร์จ แบสเซต์ ที่เข้ากันมากกับฉากกรุงปารีส ซึ่งมักจะมีดนตรีลอยมาตามสายลม นอกจากจะขอยืมเพลง ของ บิลลี ฮอลิเดย์ อย่าง I Wished on the Moon มาใช้แล้ว เพลงที่เหลือ ทั้งสไตล์คลาสสิก บัลลาด และแจ๊ซ แซร์จ แต่งเองใหม่หมด

เพลงเด่นๆ นอกจากเปิดเรื่องมาอย่างอลังการด้วย Le Jazz Du Cambrioleur และ Monte En L'Air แล้ว ที่เพราะมากก็คือ Java Sous La Neige แถมท้ายด้วย Nuit De Chat

ฉากจบของเรื่อง ที่มาเอวังกัน ณ มหาวิหารโนเตรอดาม นับว่าเป็นการปิดท้ายได้ "ปารี้ส-ปารีส" ดีจริงๆ