วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สีสันยุคปฏิวัติฝรั่งเศส กับการจดบันทึกของผู้หญิงสูงศักดิ์


ภาพยนตร์สวยๆ เรื่องนี้มิได้สร้างสรรค์บนแผ่นฟิล์มเท่านั้น หากทว่าเอริค โรห์แมร์ ผู้กำกับนั้น สร้างภาพยนตร์ของเขาเรื่องนี้ส่วนหนึ่งบนผืนผ้าใบด้วย

จากการทำงานร่วมกันของศิลปินวาดภาพ ฌอง-แบปติสต์ มาโรต์ และผู้กำกับศิลป์ อย่าง อองตวน ฟงแตน ทำให้ได้ฉากหลังของกรุงปารีสสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสอันงดงาม และเป็นความแตกต่างอันโดดเด่น ของภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เรื่อง L'Anglaise et le Duc

ภาพยนตร์สร้างจาก Journal of My Life During the French Revolution บันทึกของ เกรซ เอลเลียต (ลูซี รัสเซล) หญิงสาวสูงศักดิ์ชาวอังกฤษ อดีตคู่รักและเพื่อนของ ดุ๊ก แห่ง ออร์เลอองส์ (ฌอง-โคล้ด ดรีย์ฟุส) พระญาติของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งชีวิตของเธอมีความเสี่ยง เมื่อเธอมีแนวคิดขวาจัด และมักจะพูดยกย่องฐานันดรศักดิ์ รวมทั้งแสดงความเห็นต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างชัดเจน

ความสัมพันธ์อันงดงามของอดีตคู่รักที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิท เลดี้เกรซ แอบช่วยเหลือนักโทษการเมืองคนสำคัญเอาไว้คนหนึ่ง กระทั่ง ดุ๊ก ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยให้เขาหลบหนีไป การแตกหักของทั้งคู่ อยู่ตรงที่ ดุ๊ก แห่ง ออร์เลอองส์ ร่วมลงคะแนนเสียงสนับสนุนการประหารพระเจ้าหลุยส์ด้วยกีล์โยติน เลดี้เกรซซึ่งคุ้นเคย คลุกคลี และจงรักภักดีต่อระบบกษัตริย์จึงรับไม่ได้

ภาพแห่งประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสอันโด่งดัง ผ่านมุมมองของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงปารีส เธอต้องประจักษ์กับความโหดร้ายแห่งการเข่นฆ่า ต้องเอาตัวรอดจากการเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ ภาพต่างๆ ที่เธอเห็นและบันทึกเอาไว้ในไดอารีได้รับการถ่ายทอด เป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ อย่างเช่น ตอนที่เธอกลับมาในกรุงปารีส รถม้าของเธอแล่นอยู่ท่ามกลางกลุ่มประชาชน ที่รวมตัวกันแห่เอาศีรษะของเจ้าหญิงแห่งลอมบัลล์ ประจานไปรอบๆ เมือง ตัวเลดี้เกรซเองก็เกือบจะถูกลากลงไปสังหารเช่นเดียวกัน ขณะที่เธอมองภาพของการปฏิวัติว่าช่างโหดร้าย เหตุใดผู้คนจึงเข่นฆ่ากันได้เพียงนี้ ดุ๊ก กลับกล่าวกับเธอว่า การปฏิวัติใดๆ ก็ย่อมโหดร้ายต่อประจักษ์พยานร่วมสมัยทั้งนั้น แต่สิ่งนี้จะดีต่อลูกหลานในอนาคต

ท้ายที่สุดตัวดุ๊กเองก็ยังต้องตกเป็นนักโทษทางการเมือง ในยุคที่สับสนวุ่นวายหลังการปฏิวัติรัฐประหารครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789

ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องด้วย 2 คาแรคเตอร์หลัก คือ เลดี้เกรซ และ ดุ๊ก แห่ง ออร์เลอองส์ ซึ่งแสดงได้อย่างโดดเด่น แม้ว่าในความเป็นจริงนั้นจะต้องเล่นอยู่เบื้องหน้าฉากสีฟ้า หรือ บลูสกรีน เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม นอกเหนือจากการสร้างสรรค์ฉากให้สวยงามอย่างแปลกด้วยภาพวาด ซึ่งทำให้นึกถึงศิลปินที่ชอบวาดภาพอาคารสถาปัตยกรรมของฝรั่งเศส อย่าง โทมัส ปราดซินสกี แล้ว เทคนิคมหัศจรรย์พันลึกอื่นๆ นั้น ไม่ปรากฏให้เห็นเลย

เทคนิคการวาดฉากที่ผู้กำกับนำมาใช้ นับเป็นการย้อนกลับมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ และให้อารมณ์เหมือนกับการได้นั่งชมศิลปะเฟรสโก ที่มิใช่เป็นเพียงภาพนิ่งบนกำแพงเท่านั้น หากว่า มีชีวิตชีวาที่โลดแล่น ต่อเนื่องกันหลายๆ ภาพ เทคนิคที่เอริคเลือกใช้ ช่วยให้เรื่องราวหนักๆ อย่าง ประวัติศาสตร์ทางการเมืองอันตึงเครียดนั้น เพิ่มความโรแมนติกขึ้นมาได้อีกอักโข

ทว่า เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ “พูด” แสดงความคิดเห็นกันตลอดทั้งเรื่อง ถ้าใครไม่ชอบภาพยนตร์ที่มี บทสนทนามากๆ โดยเฉพาะภาษาที่ไม่คุ้นเคย อย่าง ฝรั่งเศส ก็อาจจะต้องเมิน ขณะที่คนที่ชอบเรื่องราว ในประวัติศาสตร์ อาจจะต้องการทราบเรื่องราวในอีกมุมมองหนึ่งของผู้หญิงชาวอังกฤษ

L'Anglaise et le Duc เสียตรงที่บางครั้งมีฉากตอนที่เยิ่นเย้ออยู่บ้าง และอาจจะทำให้คนดูเบื่อ เช่นเดียวกับบทสนทนามากมายในเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ฉากภาพวาด ของ ปลาส เดอ ลา กงกอร์กด์ ถนนแซงต์ออนอเร บูเลอวารด์ แซงต์ มาร์ติน และแมนชั่นที่เกรซอาศัยอยู่ ที่ เมอดง ก็สวยงามเสียจนไม่อาจจะแอบหลับ หรือเบื่อหน่าย L'Anglaise et le Duc ไปได้

นับเป็นผลงานที่น่าสนใจอีกเรื่องของ เอริค โรห์แมร์ ผู้กำกับจากยุคนิวเวฟ วัย 82 คนนี้

บันทึกชีวิตไม่ปะติดปะต่อ ของ เอดิต เพียฟ


La Mome หรือ La Vie En Rose ในเวอร์ชันนอกประเทศฝรั่งเศส เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ฝรั่งเศส อันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส หรือ ลา แฟต ครั้งที่ 4 เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่บทบาทของ มาริยง โกติลยารด์ ในฐานะนักร้องผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองน้ำหอม เอดิต เพียฟ ยังคงอยู่ในความทรงจำของใครอีกหลายๆ คน

เมื่อแรกชมตอนเปิดเรื่องด้วยภาพมาริยงในบท เอดิต เพียฟ ช่วงปลายของชีวิต ร้องเพลง Heaven Have A Mercy บนเวทีก่อนจะล้มพับไป แล้วภาพก็ตัดกลับไปเมื่อครั้งที่เอดิตอายุได้ 5 ขวบ (มานง เชอวาลลิเยร์) ในใจคิดว่า เอาแล้ว... จะเป็นหนังอัตชีวประวัติแบบสูตรสำเร็จ (ซึ่งอาจจะน่าเบื่อ) หรือเปล่านี่?

หลายคนที่พลาดไปชมในโรงหนัง ต้องมาอาศัยดูดีวีดีอย่าเพิ่งท้อใจเสียตั้งแต่เมื่อเริ่มเรื่อง เพราะในหนังชีวิตคนดังที่คล้ายๆ สูตรสำเร็จเรื่องนี้ ยังได้สอดแทรกสูตรพิเศษเฉพาะลงไป ระหว่างเส้นทางชีวิตซึ่งมากด้วยคุณค่าและความหมาย ของศิลปินนักร้องหญิงผู้เป็นขวัญใจ ทั้งกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งฝรั่งเศสในกาลต่อมาเอาไว้มากมาย จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนังประวัติบุคคลที่นำเสนอได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งทีเดียว

จากท้องถนนในย่านแบลล์วิลล์ในกรุงปารีส เมื่อแม่ที่เป็นนักร้องข้างถนนไม่สนใจเธอแต่อย่างใด พ่อก็ไม่มีปัญญาเลี้ยงจึงพาไปอยู่กับย่าที่ย่าน แบร์กเนย์ เมืองนอร์มังดี ย่าของเธอทำกิจการซ่องโสเภณี ชีวิตวัยเด็กของเธอจึงถูกรายรอบไว้ด้วยหญิงขายบริการ

อยู่ดีๆ เอดิทก็ตาบอด หนังเล่าตามอัตชีวประวัติของเธอว่า ตาบอดอยู่ราวๆ 3 ปี แต่พอได้ไปไหว้แซงต์เตแรส เดอ ลิลสิเยอซ์ (เซนต์เทเรซาแห่งลิสิเยอซ์) ในนอร์มังดี (Sainte-Therese de Lisieux) แล้วก็กลับมามองเห็นได้ราวปาฏิหาริย์

พ่อของเธอได้งานในคณะละครสัตว์ และมา รับเอดิตไปอยู่ด้วย แต่ละครสัตว์ไปได้ไม่สวยนัก ในที่สุดพ่อลูกก็มาเปิดหมวกแสดงกายกรรมอยู่ ข้างถนนในกรุงปารีส แต่รายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการแสดงท่าพิสดารต่างๆ ของพ่อแต่อย่างใด ทว่าเมื่อบิดาบอกให้เธอทำอะไรสักอย่าง เธอจึงเปล่งเสียงร้องเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseilles และเสียงร้องที่สะกดใจของเด็กหญิงเอดิตวัย 8 ขวบ (ปอลีน บูร์เลต์) ต่างหากที่เรียกเสียงปรบมือกึกก้อง และเพิ่มเศษเงินบริจาคในหมวกให้ทั้งคู่

หลังจากที่พ่อไม่อยู่แล้ว แต่เอดิทยังคงหาเงินด้วยการเป็นนักร้องข้างถนน กระทั่ง หลุยส์ เลอเปล (เจรารด์ เดอปาร์ดิเยอ) เจ้าของคลับแห่งหนึ่ง เดินเข้ามาเป็นโอกาสก้าวแรกของเอดิต เขาเปลี่ยนชื่อของเธอจาก เอดิต โจวานนา กัสสิยง เป็นเอดิต เพียฟ โดยให้ใช้ชื่อในการแสดงว่า ลา มอม เพียฟ (La Mome Piaf) ที่หมายถึง นกกระจิบที่ไร้บ้าน จากที่เธอเคยเป็นหญิงสาวตัวเล็กๆ ที่เคยร้องเพลงอยู่ข้างถนน

แต่ยังไม่ทันที่เธอจะดังเป็นพลุ หลุยส์กลับมาถูกลอบยิงเสียชีวิตเสียก่อน ปล่อยให้โปรดิวเซอร์สุดโหดอย่าง หลุยส์ บาร์ริเยร์ (ปาสกาล เกรกอรี) เป็นผู้เจียระไนเธอให้เป็นเพชรเม็ดงาม

หนังตัดสลับไปมาระหว่างเรื่องราวในอดีต กับชีวิตตอนปลายที่เต็มไปด้วยชื่อเสียงแต่ไร้สุขของ เอดิต ก่อนที่เรื่องราวจะมาบรรจบกันที่ฉากสุดท้ายของหนังและชีวิตนักร้องผู้ยิ่งใหญ่...

โอลิวิเยร์ ผู้กำกับ สอดแทรกบทเพลงดังๆ ของเอดิต เพียฟ สอดคล้องไปกับช่วงตอนของชีวิต และเพลงเหล่านั้นคือตัวกำหนดอารมณ์ของหนังอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น Milord, Rien De Rien, La Foule, La Vie En Rose, Mon Dieu, La Mort De Leplee ไปจนถึง Derniere Nuit เมื่อวาระ สุดท้ายของชีวิตมาถึง

จุดแตกหักในชีวิตของเอดิตมีครบถ้วนในหนังทั้ง 2 ครั้ง ได้แก่ การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของบุคคลที่สร้างบทเพลง La Vie En Rose ให้เป็นตำนานร่วมกับเธอ นั่นคือคนที่เธอรักที่สุด มาร์เซล แซร์ด็อง (ฌอง-ปิแอร์ มาร์แตงส์) นักมวยแชมป์โลกฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรียน ที่เสียชีวิตในเหตุเครื่องบินตก ระหว่างกำลังเดินทางจากการชกมวย เพื่อมาเป็นกำลังใจให้เธอในคอนเสิร์ตที่นิวยอร์ก หลังจากนั้นเอดิตกลายเป็นคนติดเหล้า

อีกครั้งหนึ่งคือ อุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่ทำให้เธอต้องใช้มอร์ฟีนเพื่อระงับอาการปวดหลังไปตลอดชีวิต

โอลิวิเยร์ นำเสนอความทรงจำของเอดิต เพียฟ แบบไม่ปะติดปะต่อ คล้ายเลือนรางคล้ายชัดเจน ประหนึ่งฝันที่ระคนกันทั้งร้ายดี เขายังคิดแทน นักร้องผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสผู้นี้ ออกมาเป็นภาพในความทรงจำแบบ "แฟลชแบ็ก" ที่คมชัดในเรื่องราวที่เธอต้องการจดจำ ขณะที่เรื่องราวร้ายๆ นั้นเป็นภาพที่ช่างพร่าเลือน หากก็แจ่มชัดในความรู้สึก (ภาพมัวแต่มีเสียงชัดเจน)

ขณะที่เพลงดังที่สุดของ เอดิต เพียฟ คือ Non, je ne regrette rien (No, I regret nothing) ทว่าการแสดงของมาริยง และมุมมองของโอลิวิเยร์ ทำให้ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตของนักร้องหญิงผู้ยิ่งยงเป็นไปในทางตรงกันข้าม -- น่าเสียดายที่เอดิต เพียฟ มีชีวิตที่แสนเศร้าอยู่บนโลกนี้เพียง 47 ปี เท่านั้น

สำหรับคนที่ได้ดู La Mome (La Vie En Rose) ต่างหากที่สามารถร้องเพลงนี้ได้เต็มปาก...

Non, Rien De Rien, Non, Je Ne Regrette Rien...

ไม่เสียใจที่ได้ชม

อ้อมกอด ของ 'คนแปลกหน้า'



ภาพยนตร์สารคดีที่ชนะรางวัลออสการ์ ประเภทภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมแห่งปี 2000 Into the Arms of Strangers: Stories of the Kindertransport (1999) เปิดเรื่องด้วยเสียงจากบันทึกที่มากไปด้วยความรู้สึกของ เอวา เฮย์มัน ชาวเชกโกสโลวะเกียเชื้อสายยิว เด็กน้อยคนหนึ่งที่เข้าร่วมกับโครงการอพยพเด็กชาวยิวออกจากประเทศที่ถูกครอบครองโดยจักรวรรดินาซี

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรื่องราวบันทึกโลกที่แม้ผู้คนไม่ต้องการจดจำ หากก็มิอาจจะเลือนลืมออกไปจากใจ บทเรียนราคาแพงที่ต้องสังเวยชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปนับล้าน โดยเฉพาะอย่างชาวยิวในเยอรมนี และประเทศยุโรปตะวันออก

สารคดีย้อนยุคเรื่องราวสงครามโลกครั้งนี้ ได้ แรงบันดาลใจจากบันทึกของมารดาโปรดิวเซอร์ของเรื่อง คือ เดบอราห์ ออปเปนไฮเมอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเด็กๆ ที่เข้าร่วมกับโครงการอพยพเด็ก Kindertransport และได้ร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์รำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เอาไว้ที่สหรัฐอเมริกา โดยโครงการนี้สามารถช่วยชีวิตเด็กชาวยิวอายุต่ำกว่า 17 ปีเอาไว้ได้นับหมื่นคน กระนั้นก็ยังมีเด็กจำนวน 1 ล้าน 5 แสนคน ที่ต้องจบชีวิตลงในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เปิดฉากที่สถานีรถไฟเมืองโคโลญที่มีตัวอักษรของเครื่องหอมเลื่องชื่อ 4711 เป็นสัญลักษณ์ รถไฟสีแดงฉานแห่งปัจจุบันค่อยๆ เลือนหายกลายเป็นภาพขาวดำ ซึ่งจะพาคุณย้อนกลับไปในอดีตเมื่อปี 1932 ปีที่นาซีเริ่มเข้ามามีบทบาทในเยอรมนี

เรื่องราวดำเนินไปอย่างเรียบง่าย โดยเนื้อหาที่เป็นไปในส่วนของบรรยากาศ บรรยายด้วยน้ำเสียงของ จูดี้ เดนช์ ตัดสลับกับภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวจากแฟ้มประวัติศาสตร์ รวมทั้งบทสัมภาษณ์ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งได้ร่วมโครงการ Kindertransport ออกจากประเทศเยอรมนีมายังฮอลแลนด์ และลงเรือสู่ประเทศอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น เคิร์ท ฟูเชล จากเวียนนา ที่หลังสงครามได้กลับไปอยู่กับทั้งพ่อและแม่ แต่ก็มีรอยร้าวและช่องว่างที่ขาดหายซึ่งไม่อาจจะประสานได้ง่ายๆ

ลอรี่ เซกัล นักเขียนนิยายสาว ซึ่งพยายามจะวิ่งเต้นขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานให้แม่ของเธอมาที่อังกฤษ (ในเรื่อง ฟรานซี กรอซมานน์ แม่ของเธอให้สัมภาษณ์ด้วย) นอกจากนี้ ยังมี เออร์ซูลา โรเซนเฟลด์ จากประเทศเยอรมนี ที่พ่อของเธอถูกนาซีตีเสียชีวิตต่อหน้ากลุ่มชาวยิวนับแสน เมื่อพยายามเรียกร้องความยุติธรรม ก่อนที่เธอจะเดินทางกับโครงการฯ มายังเมืองผู้ดี ปัจจุบันเธอกลายเป็นคนอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบ

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ นอร์แบร์กต์ วอลล์ไฮม์ หนุ่มยิววัย 25 ซึ่งเป็นคนช่วยจัดการประสานงาน โครงการ Kindertransport ทุกอย่างในเยอรมนี เพื่อให้เด็กแต่ละคนที่ได้รับการคัดเลือกออกจากประเทศในยุโรปตะวันออก ผ่านทางเยอรมนีไปสู่ฮอลแลนด์ได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่ตัวเขาเองต้องถูกจับไปอยู่ในค่ายกักกัน แต่ก็รอดชีวิตมาได้อย่างที่เขาบอกว่า "ไม่มีเหตุผลใดๆ"

เรื่องราวเริ่มเล่าตั้งแต่ช่วง 9 เดือนก่อนที่จะเกิดสงคราม แต่ละคนมาพูดถึงความสุขวัยเด็กที่ยังคงตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวยิวที่มีฐานะดี เติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมแบบยิวที่ครอบครัวค่อนข้างจะแน่นแฟ้น อบอุ่น เด็กคือศูนย์กลางของครอบครัว

กระทั่งเริ่มมีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นมากมายกับเด็กเชื้อสายยิว เช่น การให้ออกจากโรงเรียนปกติ การทำลายธุรกิจของครอบครัวยิว การถูกทำร้ายและด่าทอจากเด็กกลุ่มนิยมนาซี โบสถ์ของชาวยิวถูกเผา การกวาดล้างบ้านเรือน และให้ยิวไปรวมตัวกันอยู่ในที่จำกัด ฯลฯ

เหตุการณ์เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในออสเตรีย และเชกโกสโลวะเกีย รัฐสภาของอังกฤษจึงได้เห็นชอบให้มีการตั้งโครงการ Kindertransport เพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กชาวยิวที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ออกมาจากประเทศ เพื่อมาอยู่ในการดูแลของครอบครัวอังกฤษที่เข้าร่วมโครงการ

ผู้รอดชีวิตแต่ละคน ยังคงจดจำวันที่พวกเขาต้องจากอกพ่อแม่ที่สถานีรถไฟได้อย่างแม่นยำ แต่ละคนย้อนเล่าถึงคราบน้ำตาของพ่อแม่ที่ไม่ต้องการให้ลูกจากไปสักนิด ลอรี คาห์น เล่าถึงบิดาที่ใบหน้าค่อยๆ ซีดเผือดลงเรื่อยๆ เมื่อใกล้เวลาที่เธอจะต้องจากไป ในที่สุดเขาก็ดึงเธอลงมาจากรถไฟ และภายหลัง เธอและพ่อแม่ถูกส่งไปอยู่ในค่ายกักกันยิวที่เอาสชวิตซ์ และเธอก็ถูกย้ายไปอีก 6 แห่ง โดยปราศจากพ่อแม่ หลังจากรอดชีวิตจากค่ายกักกันมาได้ เธอเหลือน้ำหนักตัวเพียง 58 ปอนด์เท่านั้น

ขณะที่เด็กๆ ซึ่งได้เดินทางไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ของประเทศอังกฤษ ผลัดกันมาเล่าถึงประสบการณ์กับครอบครัวที่ไม่รู้จัก บ้างก็ต้องไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ชีวิตที่ต้องพลิกผันมาอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง พ่อแม่อุปถัมภ์ชาวอังกฤษที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งการกอด ต่างจากพื้นฐานของครอบครัวชาวยิวที่เต็มไปด้วยความแน่นแฟ้นและใกล้ชิด

จูดี้ เดนช์ เล่าตั้งแต่ก่อนเริ่มสงคราม ระหว่างสงคราม จดหมายที่เขียนถึงกันระหว่างเด็กและพ่อแม่ที่ยังคงอยู่ในประเทศเก่า บ้างก็เขียนข้อความบอกเล่าเป็นนัยๆ ว่า กำลังเดินทางไปยัง "ตะวันออก" อันแปลความหมายได้ว่า เป็นสถานที่ตั้งของค่ายกักกันชาวยิว เรื่องราวเล่าไปอย่างง่ายๆ จนกระทั่งถึงหลังสงคราม เด็กในโครงการหลายคนได้กลับมาพบพ่อแม่อีกครั้ง ทว่า โดยส่วนใหญ่ไม่ได้พบกับพ่อแม่ของพวกเขาอีกเลย

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกๆ คนล้วนมีบาดแผลที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง

โดยเฉพาะ เอวา เฮย์มัน ซึ่งเป็นเจ้าของประโยคตอนต้นเรื่องนั้น ดูเหมือนว่าบาดแผลในจิตใจที่ถูกกระทำจะยังคงตอกย้ำไปอีกตลอดชีวิต และตามหลอกหลอนเธอไปจนกระทั่งในความฝัน

ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด ล้วนบอกเรื่องราวความทรงจำอันขมขื่นราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ซึ่งเรื่องราวอัน โหดร้ายนี้ไม่น่าจะต้องเกิดขึ้นกับเด็กคนไหน หรือครอบครัวใดๆ เลย

เด็กหลายคนออกมาสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้น พวกเขาไม่ได้ต่อต้านน้ำใจของผู้ก่อตั้งโครงการ Kindertransport แต่อย่างใด ทว่า พวกเขาบอก... หากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก พวกเขาจะไม่ยอมส่งลูกไปอยู่กับคนแปลกหน้า แต่จะขอตายด้วยกัน

กระนั้น หลายคนก็ขอบคุณและซาบซึ้งกับคุณค่าของชีวิตที่ยังเหลืออยู่ และพยายามประคับประคองให้ดำเนินต่อได้อย่างดีที่สุด ด้วยเหตุผลที่ อเล็กซานเดอร์ กอร์ดอน เด็กหนุ่มจากโปแลนด์ว่า... พระเจ้าคงต้องการให้เขามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรสักอย่าง

"อย่างน้อยก็เพื่อให้มีคนรุ่นๆ ต่อๆ ไปจากผมเกิดขึ้นมา เชื้อสายยิวยังคงต้องมีอยู่ต่อไปในโลกนี้"

ฝันเหนือฝันของชาวเช็ก


กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก พวกเขามีนัดกันในวันที่ 31 พฤษภาคม 2004 ที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต (หรือซูเปอร์สโตร์) แห่งใหม่ "เชสกี เซ็น" (เช็ค ดรีม) ที่จะเปิดดำเนินการเป็นครั้งแรก คนจำนวน 3,000 กว่าคน ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดง วัยรุ่น คนหนุ่มสาว ไปจนถึงคนแก่ชราอายุเหยียบ 90 มาพร้อมกันในเช้าวันสดใสหลังสิ้นสุดการเกิดสุริยุปราคา เพื่อจะพบว่า ทุกๆ อย่างเป็นเพียงความฝันเช่นเดียวกับชื่อซูเปอร์สโตร์เท่านั้นเอง

ก่อนหน้านี้ พวกเขาได้รับข่าวสารจากโฆษณาเกี่ยวกับไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ โปสเตอร์ตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่บนท้องถนน ไปจนถึงโฆษณาบนรถราง แผ่นพับ ใบปลิว ฯลฯ ที่บอกเล่าคุณสมบัติความเป็นซูเปอร์สโตร์ในฝัน ที่มีนานาสารพัดสิ่งให้ทุกคนได้เลือกช็อปในราคาซึ่งถูกกว่าที่อื่นๆ ถึงครึ่งต่อครึ่ง นอกจากนี้ ยังมีมุมสันทนาการมากมาย และกิจกรรมหลากหลาย ให้ครอบครัวสามารถมาใช้เวลาร่วมกันได้ตลอดทั้งวัน

ก่อนหน้านี้ขึ้นไปอีก 2 หนุ่ม วิท คลูซ้าค และ ฟิลิป เรมุนดา กำลังจะจบการศึกษา พวกเขาคิดโปรเจ็กต์การโฆษณาสินค้าชิ้นหนึ่ง (ซึ่งไม่มีอยู่จริง) นั่นก็คือ เชสกี้ เซ็น ซูเปอร์สโตร์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า สำหรับภาพยนตร์เพื่อจบการศึกษา

พวกเขาได้ทุนรัฐบาล ทำให้สามารถทำตัวประหนึ่งเจ้าของสินค้า และเริ่มจ้างทีมที่ปรึกษามืออาชีพ ตั้งแต่คนออกแบบโลโก้ ออกแบบเสื้อผ้าให้ทั้ง 2 คนใส่ คิดภาพยนตร์ สปอตโฆษณา เพลงประกอบโฆษณาพร้อมนักร้อง และ วงออเคสตร้า ตลอดจนแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ที่จะประกอบในภาพยนตร์ดังกล่าว และบิลบอร์ด 400 แห่ง กับใบปลิวอีก 200,000 แผ่น รวมทั้งค่าลงโฆษณาในสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร

Cesky Sen นับเป็นภาพยนตร์สารคดี ที่ถ่ายทอดการล่อลวงผู้บริโภคด้วยการโฆษณา ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติการณ์ของสาธารณรัฐเช็ก พร้อมๆ กับทำให้อนาคตในการเป็นนักสร้างภาพยนตร์สารคดี ของ วิท คลูซ้าค และ ฟิลิป เรมุนดา เริ่มจะโดดเด่นและ รุ่งโรจน์ ด้วยความที่โครงการของเขาสามารถที่จะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น รวมทั้งสร้างภาพของสินค้าให้ผู้คนนับพันสนใจและเชื่อว่ามีอยู่จริง

คน 3,000 คน ที่ก่อนหน้านี้วิ่งแข่งกันเพื่อจะไปถึง เชสกี เซ็น ก่อนใคร เดินคอตก หลังจากค้นพบว่า ไฮเปอร์มาร์เก็ตในฝันของพวกเขา เป็นเพียงโครงเหล็ก ที่หุ้มผืนผ้าใบไว้เท่านั้น เสียงก่นด่า อย่างเช่น ...พวก นักการเมืองก็หลอกคน 10 ล้านคนทั้งประเทศไปแล้ว คนพวกนี้ยังมาซ้ำเติม ด้วยการหลอกคนเป็นพันๆ อีก... / ...เรื่องนี้มันก็บ้าพอๆ กับการเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปของเช็กนั่นแหละ... / ...เขาไม่ควรหลอกใครอย่างนี้ เพราะเขาต้องรู้ว่า คนเช็กน่ะชอบกระโจนใส่เรื่องแบบนี้อยู่แล้ว... / ...ถ้าเขาจะหลอกเราก็ไม่น่าจะเป็นวันที่ 30 พฤษภาคมเลย น่าจะเปิดไปตั้งแต่เอพริลฟูลนั่น...

แต่กระนั้น ก็ยังมีชาวเช็กที่มองโลกในแง่ดี อย่าง ...ผมบอกแล้วว่า นี่ต้องเป็นเรื่องหลอกกันแน่ๆ แล้วก็เป็นอย่างที่ผมพูดจริงๆ เห็นมั้ย ผมมีความสุขมากที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เราน่าจะได้ของขวัญอะไรสักอย่างที่อุตส่าห์มานะผมว่า... / ...ผมก็ว่า เป็นเรื่องดีที่สามารถจะทำให้คนมากมายขนาดน ี้ออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์เสียบ้าง ที่นี่อากาศดีนะ ผมว่า ถ้าเราเตรียมตัวมาปิกนิกเสียเลยก็จะดีกว่านี้...

หลังการแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองแบบ คอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต สาธารณรัฐเช็กก็เริ่มที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง ให้เปิดรับแนวคิดแบบทุนนิยมมากขึ้น ในช่วงตอนของการเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดอาการแปลกแยกทางวัฒนธรรม อย่างที่เรียกว่า คัลเจอร์ช็อก เกิดขึ้น ชาวเช็กคลั่งไคล้ในสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะ วัฒนธรรมจากโลกเสรีที่พวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน สารคดีเรื่องนี้ได้ตีแผ่สภาพสังคม รวมทั้งพฤติกรรมของชาวเช็กยุคใหม่ ออกมาอย่างดีเลิศ ถึงขนาดที่เหนือความ คาดหมายของเจ้าของภาพยนตร์ทั้งคู่เสียด้วยซ้ำ

Cesky Sen ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมมากมาย ทั้งรางวัลภาพยนตร์ในประเทศเอง และในหลายเทศกาลภาพยนตร์ ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงในเอเชียด้วย อย่างเช่น เทศกาลภาพยนตร์บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เทศกาลภาพยนตร์โซโลทอฟ วิตยาซ ประเทศรัสเซีย เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติจีออนจู ประเทศเกาหลี ฯลฯ

นับเป็นสารคดีที่ดูสนุกเรื่องหนึ่ง นอกจากอารมณ์ขันแบบ "ไฮเปอร์คอมมิก" ที่ตลกร้ายสำหรับผู้คนแล้ว ยังสนุกในแง่ของการติดตามขั้นตอนในแคมเปญโฆษณา และการถ่ายทำของพวกเขา ท้ายที่สุดแม้ วิท คลูซ้าค และ ฟิลิป เรมุนดา จะถูกยำเละจากกลุ่มคนที่ไม่พอใจ

แต่ทั้งคู่ก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในการล้อเล่นกับพฤติกรรมของประชาชนชาวเช็ก

แด่สันติภาพ และ ' เวนดี้ '


ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องที่ 2 ของ โทมัส วินเทอร์เบิร์ก ผู้กำกับชาวเดนิช และยังเป็นการร่วมงานกันอีกครั้งของคู่หู อย่าง ลารส์ ฟอน เทรียร์ ซึ่งมาเขียนบท Dear Wendy ทำให้ได้บรรยากาศแปลกๆ ของเมืองเล็กที่ไร้ชื่อแห่งหนึ่งในอเมริกา

เจมี เบลล์ หนุ่มน้อยมหัศจรรย์แห่ง Billy Elliot รับบทนำเป็น ดิ๊ก เด็กวัยรุ่นขี้เหงา ไร้เพื่อน เขาสร้างความผิดหวังให้กับบิดา เพราะไม่อาจทำงานเหมือง อันเป็นงานที่ “เหมาะสม” สำหรับชายชาตรีในสังคมเล็กๆ ที่เขาอยู่

บิดาเขาเสียชีวิตในไม่ช้าจากอุบัติเหตุในเหมือง ในความเดียวดาย ดิ๊ก สร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา และเขาเกิดความผูกพันอย่างประหลาด กับ “เวนดี้” ปืนกระบอกเล็กๆ ที่ซื้อมาจากร้านขายของเล่น

เขา รวบรวมกลุ่มเพื่อนวัยรุ่นตั้งคลับ “แดนดีส์” ประกอบด้วย เฟรดดี (ไมเคิล แอนการาโน) ฮูอี้ (คริส โอเวน) ซูซาน (อลิสัน พิลล์) และสตีวี (มาร์ก เวบเบอร์) พวกเขายึดพื้นที่ใต้ดินของเหมืองเก่าเป็นที่รวมตัวกันสร้างสรรค์ ทดลอง และศึกษาการยิงปืนในสไตล์ของตัวเอง พร้อมกับตั้งกฎของกลุ่มขึ้นมา โดยเฉพาะการไม่เที่ยวเพ่นพ่านออกไปยิงคนที่เดินอยู่บนท้องถนน

ดิ๊ก บอกว่า ...พวกเราไม่เคยกังขาในสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยแม้แต่น้อย ทำไมเราจึงสามารถยิงปืนได้เฉพาะในเงามืด ของส่วนลึกสุดของเหมืองเท่านั้น แถมยัง ไม่ควรเปิดไฟให้สว่างด้วย เพราะอะไรน่ะหรือ? ถ้าเรานึกอยากจะยิงที่ไหนก็ได้ สัญชาตญาณในการฆ่าของพวกเราอาจจะถูกปลุกให้ตื่นก็ได้

เพราะฉะนั้นเราควรเรียกสัญชาตญาณของเราว่า “ความรัก” จะดีกว่า หากเรามีแต่ “ความรัก” เรื่องร้ายๆ ย่อมไม่มีทาง ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน...

คลับแดนดีส์ ดำเนินไปอย่างราบรื่น กระทั่งนายอำเภอครักบี (บิล พูลแมน) มาขอให้ ดิ๊ก ช่วยดูแล เซบาสเตียน (แดนโซ กอร์ดอน) วัยรุ่นผิวสีที่มีปัญหายิงคนตาย ทำให้สารบบของคลับ “แดนดีส์” ต้องเสียไป จนถึงกับทำให้การชุมนุม อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาต้องล้มเลิก และต้องเผชิญกับตอนจบที่ไม่คาดคิด...

บรรยากาศของเรื่องราวที่คล้ายกับความฝัน ฝันของเด็กวัยรุ่นที่สร้างโลกเฉพาะของตัวเองขึ้นมา ด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อสิ่งอันตราย ซึ่งเรียกว่า “ปืน” จนกระทั่งต้องตั้งชื่อให้คล้ายเป็นเพื่อนคู่ใจ คล้ายๆ กับคนที่ชอบตั้งชื่อข้าวของเครื่องใช้ให้ราวกับมีชีวิต

ดิ๊ก ปฏิบัติกับ เวนดี้เช่นผู้หญิงสวยที่เขาหลงรัก ความผูกพันที่สวยงาม เป็นเครื่องสะท้อนลักษณะความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ที่ค่อนข้างจะแห้งแล้งในความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์

แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างจากมุมมองของผู้กำกับชาวเดนิช แต่ก็จำลองเมืองเล็กๆ แห่งนี้ให้เป็นเมืองหนึ่งในอเมริกา บรรยากาศแบบสังคมจำลองที่ดูคล้าย ไม่เป็นจริง แต่เหมือนจงใจวิพากษ์อีกด้านหนึ่งของสังคมอเมริกัน ซึ่งซุกซ่อนไปด้วยความรุนแรง

สังคมที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เด็กๆ สามารถหาซื้อปืนได้ง่ายๆ ในร้านขายของเล่น แถมยังจับอาวุธราวกับเป็นปากกาหนึ่งด้าม

ดนตรีมีส่วนมากสำหรับอารมณ์ของเรื่อง Dear Wendy เองก็มีป๊อปร็อกของวง เดอะ ซอมบีส์ เป็นเพลงประกอบหลัก

ภาพยนตร์เล่าเรื่องได้มีท่วงทำนองน่าสนใจ เริ่มด้วยจดหมายของดิ๊ก ที่เขียนรำพึงรำพันถึงเวนดี้ที่เขาเพิ่งสูญเสีย ราวกับเป็นหญิงคนรัก ดิ๊กยังเป็นคนเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยจดหมายที่เขาเขียนถึงเวนดี้ “จากชายหนุ่มผู้หวั่นไหวของคุณอีกแล้ว...”

ท่วงทำนองรำพึงรำพันจึงฟังราวกับเป็นลำนำกวี คล้ายๆ กับภาพยนตร์อีกหลายๆ เรื่องที่นำปัญหาหนักอก หรือความฟอนเฟะในสังคมมาเล่าเป็น ท่วงทำนองที่ดูราวกับเป็นเรื่องสวยงาม ไม่ว่าจะเป็น The Million Dollar Hotel (2000) ของ วิม เวนเดอร์ส หรือ Mysterious Skin (2004) ของ เกร็ก อารากิ

ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดกว่าการพูดถึงด้านมืดอันโหดร้ายในสังคมแบบตรงไปตรงมา... (นะ)

เคาะประตูสู่สวรรค์


ภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันทางเทคนิคว่า “มังงะ” ซึ่งเคยเป็นซีรีส์การ์ตูนทางโทรทัศน์ ชื่อดังที่สุดเรื่องหนึ่ง เล่าเรื่องของกลุ่มนักล่ารางวัลที่เรียกกันว่า “คาวบอย” อันประกอบด้วยสมาชิกหลักๆ 4 คน ได้แก่ สไปก์ เจ็ต เฟย์ และเอ็ด รวมตัวกันอยู่บนยาน “บีบอป” พวกเขาทำหน้าที่คล้ายๆ กับผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของโลก เพียงแต่ว่า ไม่ทำฟรี...เงินค่าหัวของฆาตกร หรือค่าจ้างในการดูแลความเรียบร้อยต่างๆ คือเป้าหมายของพวกเขา

ฉากของเรื่องจินตนาการไปถึงปลายศตวรรษที่ 21 ในปี 2071 อนาคตที่มนุษย์เราได้ทำลายล้างโลกไป เรียบร้อยแล้ว โดยได้ย้ายถิ่นฐานกันไปอยู่ที่ “ดาวอังคาร” และ “กานีมีด” ดวงจันทร์ดวงหนึ่งของดาวพฤหัสฯ บรรดาอาชญากรได้ขยายแวดวงไปสร้างความปั่นป่วน มาจากทั่วสารทิศของสุริยจักรวาล

สไปก์ สปีเกล และเจ็ต แบล็ก คู่หูนักล่ารางวัล ซึ่งน่าจะเป็นคู่ที่เพอร์เฟ็กต์คู่หนึ่ง เว้นแต่เพียงคนหนึ่งสูญสิ้นความกระตือรือร้นสนใจต่อชีวิต ในขณะที่อีกคนหนึ่งก็ช่างไม่มีโชคเอาเสียเลย พวกเขายังต้องพ่วงเพื่อนร่วมแก๊งซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ (เท่าไร) อย่าง เฟย์ วาเลนไทน์ สาวน้อยที่พยายามจะเป็น “คาวบอย” นักล่า แต่ท่าทางจะเป็นตัวถ่วงเสียมากกว่า เช่นเดียวกับแฮกเกอร์ตัวน้อย อย่าง เอ็ด ซึ่งดูจะเป็นเด็กน้อยที่เป็นเครื่องสะท้อน ผลกระทบจากความฟอนเฟะของสังคมในยุคหน้า

ขณะที่ สไปก์ และเจ็ต กำลังกำจัดโจรกระจอกที่เข้าปล้นร้านสะดวกซื้อ เฟย์ก็ได้ไปประสบเหตุก่อการร้ายด้วยสารชีวภาพเข้า รวมทั้งสามารถถ่ายภาพคนร้ายได้ในระยะไกลจากยานอวกาศของเธอ คนกว่า 500 เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ อีกจำนวนมากถูกส่งโรงพยาบาลในอาการโคม่า และแพทย์ไม่อาจหาสาเหตุได้ว่า พวกเขาถูกทำร้ายโดยไวรัสตัวไหนหรืออาวุธชีวภาพชนิดใด

สไปก์กับเจ็ตไม่ใส่ใจในข้อมูลที่เฟย์เก็บมาจากที่ เกิดเหตุ เพราะเห็นว่าใช้เป็นหลักฐานในการติดตาม อะไรไม่ได้เลย กระทั่งโทรทัศน์แจ้งข่าวที่เกิดขึ้น พร้อมประกาศรางวัลการล่าค่าหัวคนร้ายรายนี้ถึง 300 ล้าน จึงต่างคนต่างแยกย้ายกันกระโจนใส่งานรางวัลงาม

สไปก์ไปสืบข่าวคราวยังย่านชุมชนแออัด ขณะที่เจ็ตกลับไปหาเพื่อร่วมงานเก่าที่เป็นตำรวจ ส่วนเฟย์นั่งค้นข้อมูลจากบัตรเครดิต ที่ใช้เช่ารถน้ำมันที่ระเบิดพ่นสารชีวภาพ และเอ็ดพบข้อมูลจากรอยสัก ซึ่งตรงกับรอยบนข้อมือของคนร้าย วินเซนต์ อดีตทหารดาวอังคาร ที่ในข้อมูลของทหารบันทึกว่าเสียชีวิตไปแล้วในสมรภูมิบนดาวไททัน (ดาวบริวารของดาวเสาร์)

ข้อมูลที่ดูเหมือนไม่ได้เรื่องได้ราวของแต่ละคน กลับเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะหลักฐานที่สไปก์บังเอิญได้มาจากสายลึกลับบนถนนโมร็อคคัน อันเป็นแคปซูลเล็กๆ บรรจุสารชีวภาพ ซึ่งนับเป็นอาวุธอันร้ายกาจทางทหาร ในขณะที่ข้อมูลตรวจสอบบัตรเครดิตของเฟย์ นอกจากจะเชื่อมโยงไปถึงคนร้ายแล้ว ยังทำให้สไปก์พบกับสาวสวยอย่าง อีเล็กตรา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวินเซนต์อีกด้วย

ความตื่นเต้นที่แท้จริงเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น...

จินตนาการโลกอนาคตในสายตาของ ชินอิจิโร วาตานาเบะ สร้างสรรค์ออกมาอย่างมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ดูเหมือนผู้คนในเรื่อง จะไม่ค่อยเปลี่ยนพฤติกรรมจากมนุษย์ในโลกปัจจุบันสักเท่าไร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ และอีกหลายๆ สิ่งที่คิดค้นได้ในโลกใหม่ อย่างเช่น บะหมี่สำเร็จรูปที่มีปุ่มกดให้น้ำเดือดในตัวเอง หรือเกมกดเสมือนจริง ฯลฯ ไม่ได้ทำให้พฤติกรรมหรืออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป พวกเขายังคงชอบซดบะหมี่ถ้วย เล่นไพ่ ดื่มสุรา และทำสิ่งไร้สาระอย่างที่เคยทำ

ขณะที่การให้ฉากในโลกอนาคตเต็มไปด้วยวัฒนธรรมอันผสมผสาน คนจีน ญี่ปุ่น ชาวตะวันตก และอาหรับ ต่างก็อาศัยอยู่บนผืนดินเดียว มีป้ายบอกทางสารพัดภาษาบนท้องถนน อาจจะมีการแบ่งเป็นย่านไชน่าทาวน์ หรือย่านโมร็อคคันบ้าง ก็เป็นเพียงถนนสายหนึ่งเท่านั้นเอง

แม่เหล็กดึงดูดของ Cowboy Bebop: The Movie อย่างหนึ่ง ย่อมหนีไม่พ้นดนตรีประกอบที่มีกลิ่นอายแบบ “บีบอป” อันเป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีแจ๊ซและฟังก์ ที่ได้รับการบรรจุเอาไว้เป็นแนวทางหนึ่งของดนตรีสายแจ๊ซ ส่วนใหญ่แล้วบีบอปจะเน้น จังหวะจะโคน โดยมีเครื่องดนตรี เช่น เบส กลอง เปียโน และเครื่องเป่าอีก 2 ชิ้น ศิลปินเด่นๆ อย่าง ชาร์ลี พาร์เกอร์ ดิซซี จิลเลสพี แมกซ์ โรช ฯลฯ

ดนตรีบีบอปมีอิทธิพลมากต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่น ดังจะเห็นได้ในมังงะหลายๆ เรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องราวที่เล่าถึงฮีโร่ต่างๆ รวมทั้งแอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่มีฉากแอคชั่นทั้งหลาย ไม่ต่างจากการมีอิทธิพลของการสร้างสรรค์ดนตรีประกอบของ โยโกะ คันโนะ สำหรับเรื่องนี้

แม้ว่าเมื่อนำ Cowboy Bebop: The Movie ไปเปรียบเทียบกับผลงานของปรมาจารย์ทาง “มังงะ” ของญี่ปุ่นที่ชอบเล่าเรื่องในอนาคตเช่นเดียวกัน เช่น คัทซึฮิโร่ โอโทโม เจ้าของการ์ตูนเรื่อง Akira (1988) และ Metropolis (2001) ฯลฯ อาจจะยังเทียบกันไม่ได้ในแง่ความลึกซึ้ง และความซับซ้อนในวิธีคิดก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้คนทั่วโลกต่างนิยมชมชอบ Cowboy Bebop และยกเป็นเป็นหนึ่งในมังงะชั้นแนวหน้า ก็ด้วยเพราะคาแรคเตอร์หลักๆ ทั้ง 4 ซึ่งนำโดย สไปก์ สปีเกล

โดยเฉพาะใน Cowboy Bebop: The Movie ฉบับภาพยนตร์ ที่นำเสนอในเชิงเปรียบเทียบ ให้ตัวเอกอย่างสไปก์ และตัวร้ายอย่างวินเซนต์ มีบุคลิกลักษณะเป็นคนโดดเดี่ยว แปลกแยกจากสังคมเหมือนๆ กัน และกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดกันเอง เช่นเดียวกับการหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน

นอกจากจะเน้นย้ำความยอดนิยมของคาแรคเตอร์เอกในภาพยนตร์แล้ว ยังแสดงออกถึงวิธีคิดแบบตะวันออก เช่น “หยิน-หยาง” ออกมาอย่างโดดเด่น ท่ามกลางเรื่องราวที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกอย่างเต็มเปี่ยม

แล้วโลกที่แท้จริงของคุณอยู่ที่ตรงไหน?... ทั้งผู้กำกับและคาแรคเตอร์ต่างๆ ในเรื่องต่างกำลังตามหาคำตอบอยู่เช่นเดียวกัน

โลกลวงเฉพาะตัว


ระยะนี้ภาพยนตร์เกย์ยังคงอยู่ในกระแส และนี่ก็เป็นภาพยนตร์ อีกเรื่องที่น่าดู...

ตอนที่เลือกเรื่องนี้ขึ้นมาชมนั้น ไม่ทราบด้วยซ้ำว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย นีล จอร์แดน ผู้กำกับคนโปรดคนหนึ่ง ซึ่งในอดีตเคยมีผลงานที่เข้าตาผู้เขียนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Mona Lisa (1986) We're No Angels (1989) The Crying Game (1992) Michael Collins (1996) The Butcher Boy (1997) ฯลฯ ด้วยชื่อเรื่องที่น่าสนใจ ทำให้ Breakfast on Pluto (2005) กลายเป็นผลงานของ นีล จอร์แดน อีกเรื่องหนึ่งที่ได้ผ่านตา

เรื่องราวของเด็กน้อยชาวไอริช แพตทริก "คิตเท่น" เบรเดน (คีเลียน เมอร์ฟี) ที่เกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดของบิดาผู้เป็นบาทหลวง (เลียม นีสัน) กับแม่บ้านสาวแสนสวย ซึ่งทิ้งเด็กน้อยเอาไว้หน้าโบสถ์แล้วหนีไปลอนดอนตั้งแต่ยังแบเบาะ เด็กน้อยเฝ้าถามไถ่คนรอบข้างเกี่ยวกับมารดา จนกระทั่งเกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบผู้เป็นแม่ กระทั่งทำให้ เพศที่แท้จริงของ แพตทริก "คิตเท่น" เบรเดน บิดเบี้ยวเพี้ยนผิดไป

เขาเริ่มต้องการสวมกระโปรง และใส่รองเท้าส้นสูง หลังจากที่ทราบว่า มารดาแท้ๆ ของเขานั้นเป็นผู้หญิงสาวสวย ผมสีบลอนด์ราวกับนักแสดงชื่อดังคนหนึ่ง จนแม่ที่เลี้ยงดูเขามาต้องออกไม้เด็ดขาด เพื่อที่จะให้เขาคงเพศชายเพศเดิมของตัวเองเอาไว้

ความชัดเจนของเพศที่เพี้ยนผิด เกิดขึ้นเมื่อเขาไปคลุกคลีกับวงดนตรี และพบรักกับ บ๊อบบี้ นักร้องนำประจำวง ที่เปิดโอกาสให้เขาเป็นนักร้อง "ฉิง" ร่วมวงด้วย ยาเสพติดเชื่อมโยงโลกของทั้งสองให้สวยสดงดงาม ราวกับมีโลกเฉพาะส่วนตัวที่ตื่นขึ้นมารับประทานอาหารเช้าบนดาวพลูโต

แต่แล้ว คิตเท่น ก็ค้นพบว่า บ๊อบบี้ นั้นอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวไอริช หรือ ไออาร์เอ จึงนำปืนทุกกระบอก ที่ซ่อนเอาไว้ใต้ช่องเล็กๆ ในรถเคลื่อนที่ซึ่งเป็นรังรักของพวกเขาทิ้งน้ำ แล้วตำนานรักบนดาวพลูโตอันเป็นรักครั้งแรกของคิตเท่นก็ปิดฉากลง

อย่างไรก็ตาม คิตเท่นต้องกลับมาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ของการแบ่งแยกดินแดนที่น่าเกลียดชัง เหตุการณ์ที่ตอกย้ำและกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ก็คือ การที่เพื่อนรักที่เป็นดาวน์ผู้แสนบริสุทธิ์ของคิตเท่น ถูกระเบิดของกลุ่มไออาร์เอเสียชีวิต ทำให้เขาต้องการจะละทิ้งทุกอย่าง เพื่อออกตามหามารดาในกรุงลอนดอน

การผจญภัยของคิตเท่นในโลกกว้างเริ่มต้นขึ้น ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก ที่เป็น "ผู้หญิง" เต็มตัว ก่อนที่เธอจะสืบค้นจนพบว่า มารดาที่แท้นั้นมีครอบครัวอันแสนสุข เธอก็ต้องผ่านประสบการณ์การทำงานหลายหลาก ทั้งนักมายากล หรือแม้แต่โสเภณี และนางทางโทรศัพท์ ชีวิตในลอนดอนเกือบทำให้เธอเอาตัวไม่รอดหลายครั้ง ท้ายที่สุด คำเฉลยในการเดินทางมาเกือบครึ่งชีวิตของคิตเท่น กลับไม่ใช่เพียงการได้พบมารดาเท่านั้น...

นีล จอร์แดน ร่วมกับ แพตทริก แม็คเคบี ผู้เขียนหนังสือชื่อเดียวกัน เขียนบทสำหรับภาพยนตร์ ทำให้เทคนิคในการเล่าเรื่องราวกับนำนวนิยายมาโลดแล่นเป็นภาพได้ สอดประสานกันอย่างลงตัว คล้ายกับกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่จริงๆ โดยมีนีลเป็นผู้จินตนาการภาพในฉบับให้เคลื่อนไหว

นอกจากเทคนิคการเล่าเรื่องของ นีล จอร์แดนแล้ว อีกเรื่องที่น่าชมก็คือ การแสดงของ คีเลียน เมอร์ฟี ที่สามารถทำให้ทุกคนเชื่อว่า เขาเป็นเกย์! ที่อ้อนแอ้น อ่อนแอ ไร้ทางสู้ เป็นผู้ถูกกระทำจากสังคม

หลายคนที่ "ไม่เก็ต" ภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจคิดว่าเป็นเรื่องราว เลื่อนลอยไร้สาระ ด้วยท่วงจังหวะของภาพยนตร์ ที่เล่าชีวิตการเดินทางของคนผิดเพศคนหนึ่งที่ออกตามหาแม่ แต่ Breakfast on Pluto (2005) ก็มีหลายๆ สิ่งที่สอดแทรกอยู่ในนวนิยายบนแผ่นฟิล์ม

ไม่ว่าจะเป็น สังคมของชาวไอริชในสมัยทศวรรษ 70 ด้านมืดของสังคมที่ฟอนเฟะ บาทหลวงทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ ความขัดแย้งทางสังคมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ยาเสพติด

โลกที่ไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นเสมอไป

ถ้อยคำจากปาก ที.อี.ลอว์เรนซ์ กษัตริย์ไร้มงกุฎแห่งอาระเบีย


จากภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ กลายเป็นรูปแบบของวิดีโอ เรื่องราวของที.อี. ลอว์เรนซ์ หรือที่รู้จักกันดีในนามลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย จาก Lawrence of Arabia ของเดวิด ลีน นั่นเอง โดยในเวอร์ชั่นของโทรทัศน์ ประเทศอังกฤษนี้ เขียนบทขึ้นจากหนังสืออัตชีวประวัติ Seven Pillars of Wisdom: A Triumph ที่ ที.อี. ลอว์เรนซ์ประพันธ์ขึ้นเอง โดยทิม โรส ไพรซ์ ซึ่งขณะที่ฉายเป็นตอนๆ ทางโทรทัศน์นั้น ได้รับความนิยมมาก แม้เรล์ฟ ไฟน์ส ผู้รับบทนำขณะนั้น จะยังไม่ได้เข้าสู่ วงการฮอลลีวู้ดด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นการตีแผ่ให้เห็นถึงความจริง และภาพของลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย ที่แตกต่างออกไปจากภาพยนตร์คลาสสิกของเดวิด ลีน

เรื่องราวเล่าเหตุการณ์ที่คล้ายเป็นตอนต่อจากภาพยนตร์ของเดวิด ลีน เมื่อที.อี. ลอว์เรนซ์ (เรล์ฟ ไฟน์ส) กลับมาจากดินแดนแห่งทะเลทรายในตะวันออกกลาง อังกฤษ และฝรั่งเศส กำลังจะเซ็นสนธิสัญญา ไซเคส-ปีโกต์ ในปี 1919 ซึ่งมีสาระเกี่ยวกับการครอบครองดินแดนในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ซีเรีย จอร์แดน อิรัก ปาเลสไตน์ และเลบานอน หรืออาจเรียกว่าเป็นสัญญาสันติภาพแห่งตะวันออกกลาง โดยทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจต่างต้องการครอบครองดินแดนของประเทศซีเรีย ซึ่งเป็นดินแดนที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง (เอเชีย) และต่างก็อ้างว่า ทหารของตัวเองเข้าไปถึงดินแดนดามัสกัสของซีเรียก่อนใคร

ขณะที่ที.อี. ลอว์เรนซ์ ตอบรับภารกิจของอังกฤษ ในการเดินทางไปยังกรุงปารีสในฐานะตัวแทนและล่ามของเอมีร์ ไฟซาล เจ้าชายแห่งซีเรีย โดยบอกกับรัฐบาลว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษ ทว่า จริงๆ แล้ว ที.อี. ลอว์เรนซ์ เกลียดการล่าอาณานิคม และการไปอาศัยอยู่ในทะเลทรายของเขา ทำให้ได้เรียนรู้ความต้องการของชาวอาหรับเป็นอย่างดี โดยเป้าหมายของเขาและเจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ก็คือ การต้องการปกครองตัวเอง และเพื่อเรียกร้องอิสระและเสรีภาพของกลุ่มประเทศอาหรับ

ทว่า ผลประโยชน์อันมหาศาลบนดินแดนตะวันออกกลาง โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงมาถึงผลประโยชน์ใน อุตสาหกรรมน้ำมันที่ยิ่งใหญ่ของโลก รวมทั้งการเมือง อันซับซ้อน ทั้งการเมืองระดับบุคคล การเมืองภายในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้เรื่องราวทางมนุษยธรรม เช่น อิสรภาพของผู้คนในดินแดน ตะวันออกกลางกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคำนึงถึง

ในที่สุดฝรั่งเศส ก็ขับไล่เจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ออกจากซีเรีย โดยอังกฤษได้ตั้งสถาปนาอิรักเป็นประเทศ โดยให้เจ้าชายขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครอง

เราได้เห็นบทบาทที่โดดเด่นมากมายของเรล์ฟ ไฟน์ส อย่างเรื่อง Schindler's List หรือ The English Patient ซึ่งในเรื่องนี้ แม้ว่าจะย้อนไปในวัยหนุ่มของนักแสดงอังกฤษสุดหล่อ แต่เขาก็แสดงให้เราเห็นความลึกและความซับซ้อนทางความคิด รวมทั้งบุคลิกภาพหลากหลายของที.อี. ลอว์เรนซ์ ที่ถูกตีความในเรื่องว่าเป็น "บุคคลอันตราย" ออกมาทางสีหน้าท่าทางได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในเรื่องนี้จะเป็นการแสดงแบบนิ่งๆ ลึกๆ ก็ตาม

ขณะที่นักแสดงแนะนำของเรื่อง (ขณะนั้น) อย่าง อเล็กซานเดอร์ ซิดดิก เอล ฟาดิล ในบทเจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ก็นับว่า เทียบชั้นกับ เรล์ฟ ไฟน์ส ได้พอสูสี เขาแทบจะทำได้ดีพอๆ กับอเล็ก กินเนสส์ ใน Lawrence of Arabia ทีเดียว โดยอเล็กซานเดอร์ มีคะแนนเหนืออเล็ก กินเนสส์ ก้าวหนึ่ง ในแง่การแสดงออกถึงความทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจ ในสภาพที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของมหาอำนาจ ขณะที่อเล็ก กินเนสส์ จะแสดงออกถึงเกียรติภูมิแห่งความเป็นเจ้าทะเลทรายมากกว่า กระนั้น เจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ของอเล็กซานเดอร์ ซิดดิก เอล ฟาดิล ดูเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตชีวาจับต้องได้ และเป็นจริงมากกว่า

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ หลายฉากหลายตอนที่ ตัวเอกทั้ง 2 คนแสดงร่วมกัน นับว่าเข้ากันได้อย่างดีจนเกือบๆ จะดูเหมือนคนที่มี ปฏิกิริยาเคมีเข้ากันได้ อย่าง "คู่รัก" ทีเดียว

นอกจากนี้ ในภาพยนตร์ได้มีการหยิบยกข้อความจากหนังสืออัตชีวประวัติของที.อี. ลอว์เรนซ์ อย่าง Seven Pillars of Wisdom: A Triumph ผ่านทางความคิด รวมทั้งการอ่านของเจ้าชายเอมีร์ ไฟซาล ซึ่งถ่ายทอดอารมณ์และความคิดในอีกแบบ ที่แตกต่างจากหลายคนเคยรับรู้มา

ขณะที่ความยืดเยื้อของภาพยนตร์ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง อาจจะสร้างความเบื่อหน่ายให้หลายๆ คน แต่เมื่อย้อนนึกว่า เคยเป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายทางโทรทัศน์มาก่อน ก็พอจะให้อภัยได้ โดยคนที่สนใจเรื่องทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการเมือง และต้นกำเนิดแห่งการครอบครอง ผลประโยชน์ในน้ำมัน ณ ดินแดนตะวันออกกลาง อาจจะเพลิดเพลินจนลืมเบื่อ

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอที่ไม่ชัดเจน อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้นิดหน่อย ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือที.อี. ลอว์เรนซ์เองกันแน่ ที่ต้องการมีอำนาจเหนือกลุ่มอาหรับ

"After this one. all you'll see of me is a small cloud of dust vanishing over the horizon."

...หลังจากการกระทำครั้งนี้ สิ่งที่พวกคุณจะเห็นก็มีเพียงฝุ่นคลุ้งตลบอบอวลขอบฟ้าเท่านั้น...

ประโยคจากหนังสืออัตชีวประวัติ ที่ที.อี. ลอว์เรนซ์ กล่าวในตอนท้ายของเรื่อง คือสรุปภาพรวมของทั้ง เรื่องราวในภาพยนตร์ และชีวิตของเขาเอง ที่เต็มไปด้วย ม่านหมอกของความคลุมเครือ